สภาทองคำโลก เผย ดีมานด์ ทองคำโลก ทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในไตรมาส 3

สภาทองคำโลก เผย ดีมานด์ ทองคำโลก ทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในไตรมาส 3

สภาทองคำโลก (WGC) เผย แรงซื้อ ทองคำทั่วโลก (ทองคำโลก) ในไตรมาส 3 พุ่งทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรก นักลงทุนฝั่งตะวันตกหันมาซื้อทองเพิ่มขึ้นช่วยชดเชยแรงซื้อที่ลดลงฝั่งเอเชีย ข้อมูลบ่งชี้ FOMO เผยนักลงทุนกลัว 'ตกรถ' ยุคทองขาขึ้น

สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ความต้องการทองคำทั่วโลก (ทองคำโลก) ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ขึ้นไปทำสถิติใหม่ทะลุระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ ได้เป็นครั้งแรกแล้ว

ความต้องการทองคำในไตรมาสที่แล้วเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 1,313 ตัน โดยได้การลงทุนเพิ่มขึ้นจากฝั่งตะวันตก ซึ่งรวมถึงการลงทุนรายบุคคลของ "กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง" (HNW) เข้ามาช่วยชดเชยแทนแรงซื้อที่ลดลงจากฝั่งเอเชีย ในขณะที่แรงซื้อของบรรดา กองทุน ETF ทองคำ ก็พลิกกลับมาเป็นซื้อสุทธิในไตรมาสนี้ หลังจากที่มีกระแสเงินไหลออกเป็นเวลานาน

จอห์น รีด หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดของ WGC กล่าวว่า ราคาทองคำ พุ่งสูงขึ้นมากในปีนี้ โดยพุ่งขึ้นไปแล้วมากกว่า 1 ใน 3 และทำราคาทองคำสูงสุดทุบสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากแรงซื้อที่แข็งแกร่งของกลุ่มธนาคารกลาง และความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนความมั่งคั่งสูง รวมถึงการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไปสู่วัฏจักรการลดดอกเบี้ย ในขณะที่การซื้อขายนอกตลาด (OTC) ก็กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อราคาทองมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ราคาทองสปอต (ราคาทอง gold spot) ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดทุบสถิติใหม่เหนือ 2,782 ดอลลาร์/ออนซ์ ระหว่างการซื้อขายเมื่อวันที่ 30 ต.ค.67 โดยราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกเดือนในปีนี้ ยกเว้นเพียงแค่เดือนม.ค. และ มิ.ย. ที่ย่อตัวลงมาเล็กน้อยอยู่ในระดับคงที่ 

"การปรับฐานที่เกิดขึ้นแค่เล็กน้อย และเป็นแค่ช่วงสั้นนั้น บ่งชี้ชัดเจนถึงแรงซื้อแบบ FOMO" รีด กล่าวถึงการซื้อแบบกลัวตกรถ หรือกลัวที่จะพลาดโอกาสของนักลงทุน

ในขณะที่วัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยกำลังดำเนินไป WGC คาดการณ์ว่าจะได้เห็นการลงทุนในทองคำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ "การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ" ที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างสูสี และจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าวันที่ 5 พ.ย.67 จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ลงทุนต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้น

ทั้งนี้ กระแสการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ราคาทอง ปรับตัวขึ้น 13% ในไตรมาสที่ 3 โดยแรงซื้อกองทุน ETF ทองคำแท่ง และเหรียญทองทั้งหมดพุ่งแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ นับตั้งแต่รัสเซียทำสงครามบุกยูเครนในปี 2565 ขณะที่การซื้อของธนาคารกลางยังคงดำเนินต่อไป นำโดยโปแลนด์ ฮังการี และอินเดีย เป็น 3 ประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด แม้ว่าแรงซื้อในภาพรวมของกลุ่มธนาคารกลางจะชะลอตัวลงก็ตาม

ส่วนดีมานด์ทองรูปพรรณในแง่เครื่องประดับปรับตัวลดลงเนื่องจากราคาที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของรายย่อย

หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดของ WGC กล่าวด้วยว่าในอนาคตนั้น ความกังวลด้านการคลังโดยเฉพาะ หนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นในสหรัฐ (หนี้สาธารณะสหรัฐ) อาจกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนราคาทองที่ชัดเจนขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยสะท้อนความกังวลเรื่องปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่มากเกินไป และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เพิ่มแรงซื้อทองคำนอกตลาด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์