เศรษฐกิจสหรัฐโตไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง

เศรษฐกิจสหรัฐโตไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง

สหรัฐรายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสล่าสุดในวันพุธ (30 ต.ค.) หรือไม่ถึงสัปดาห์ก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ต่อให้ข้อมูลออกมาดีก็ไม่แน่ใจว่าจะเปลี่ยนใจโหวตเตอร์ผู้กังวลเรื่องเงินเฟ้อได้หรือไม่

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน แม้ใช้จ่ายมากขึ้น ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงกังวลเรื่องโอกาสการจ้างงานและการเงิน นั่นหมายความว่าคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครตยังคงตกเป็นรองโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ในการสำรวจความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจ

“เวลาคุณดูตัวเลข อย่างการเติบโตของจีดีพีหรือรายได้หรือการบริโภค หรือแม้แต่การจ้างงาน คุณร้อง ‘โอ้ว เศรษฐกิจไปได้สวย สิ่งเดียวที่ทำลายเรื่องเล่าที่ว่ามานี้อย่างสิ้นเชิงคือเงินเฟ้อ ที่ผู้บริโภคต้องรับมือ’” แดน นอร์ธ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษาอัลลิอันซ์ เทรด นอร์ธ อเมริกา กล่าว

ก่อนประกาศตัวเลขจริง บริษัทวิจัยตลาดBriefing.com ประเมินว่า ในไตรมาสสาม เศรษฐกิจสหรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกน่าจะขยายตัว 3.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี เท่ากับไตรมาสสอง เหนือกว่าประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าหลายแห่ง อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

ปัจจัยหนุนการเติบโตมาจากการบริโภคแข็งแกร่ง และได้การลงทุนภาคธุรกิจมาเป็นตัวเสริม แต่ชาวอเมริกันยังวิตกกังวลกับสถานการณ์การเงินของตนเอง

ผลสำรวจความคิดเห็นในเดือน ต.ค.โดยนิวยอร์กไทม์ส/ซีนาคอลเลจ ชี้ว่า สองสัปดาห์ก่อนหย่อนบัตร ปัญหาเศรษฐกิจยังคงเป็นความกังวลใหญ่สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ให้ข้อมูลมองว่าทรัมป์จัดการเศรษฐกิจได้ดีกว่าแฮร์ริส ที่ 52% ต่อ 45%

  • เงินเฟ้อ ‘จัดการยาก’

นอร์ธอธิบายว่า เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2021 ตอนที่ราคาสินค้าเริ่มสูง ค่าจ้างเติบโต18% แต่ค่าใช้จ่ายครัวเรือน เช่น อาหาร บ้าน น้ำมัน เพิ่มขึ้นระหว่าง 22%-29%

นี่น่าจะเป็นเหตุผลทำให้โหวตเตอร์รู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี แม้การจ้างงานและค่าจ้างเติบโตอีกทั้งระดับการว่างงานต่ำ

“ผู้คนตามท้องถนนสนใจเหรอว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 2.8 หรือ 3.1 ไม่เลย พวกเขาอยากรู้แค่ว่าเงินเฟ้อจะกระทบกับพวกเขายังไง มันหนักเอาการอยู่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” นอร์ธกล่าว ด้วยจูเลีย พอลแลค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากซิปรีครูเตอร์ (ZipRecruiter) กล่าวว่า คนทำงานอาจมีค่าจ้างเติบโตขึ้น 17 เดือน แต่ก่อนหน้านั้นค่าจ้างเติบโตติดลบมา 25 เดือน ในเมื่อคนทำงานคุ้นเคยกับค่าจ้างเติบโตก่อนโควิดระบาด หลายคนจึงรู้สึกว่าเงินเดือนของตนยังโตไม่มาก

นอกจากนี้ผู้บริโภคยังหันไปพึ่งบัตรเครดิตและนำเงินออมมาใช้จ่ายมากขึ้น ยิ่งเพิ่มแรงกดดันโดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยและคนหนุ่มสาว

นักเศรษฐศาสตร์ชี้อัตราการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากธนาคารกลางสหรัฐสาขาฟิลาเดลเฟียชี้ว่า ไตรมาสแรกของปีนี้เกือบทะลุระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี

ไมเคิล เพียซ ผู้ช่วยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ กล่าวในวันพุธ (30 ต.ค.) ว่า ปัจจัยใหญ่สุดที่ขับเคลื่อนการเติบโตของจีดีพีมาจากการการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยได้การลงทุนทำธุรกิจมาช่วย

“ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งอาจส่งผลต่อการลงทุนทำธุรกิจในไตรมาสสี่ แต่ปกติแล้วส่งผลไม่มาก” เพียซกล่าวและว่า ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีไม่น่าส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของเฟดในสัปดาห์หน้า