‘ทรัมป์’ คืนบัลลังก์สู่โลกเศรษฐกิจ ‘ยุโรป-เอเชีย’ กระทบอะไรบ้าง

‘ทรัมป์’ คืนบัลลังก์สู่โลกเศรษฐกิจ ‘ยุโรป-เอเชีย’ กระทบอะไรบ้าง

‘ทรัมป์’ คืนบัลลังก์ กระทบโลกเศรษฐกิจ ‘ยุโรป’ ผู้เสียหายรายใหญ่ที่สุด และเป็นข่าวร้ายของ ‘เอเชีย’ โดยเฉพาะจีน

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานความเคลื่อนไหวผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหลังจากที่ “โดนัล ทรัมป์” ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งสหรัฐ และให้คำมั่นว่าจะนำ “ยุคทอง” มาสู่สหรัฐ

นักวิเคราะห์มองว่า แม้จะคาดการณ์ได้ยากว่าทรัมป์จะดำเนินมาตรการต่างๆ มากน้อยเพียงใดหากได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 แต่ผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้จะส่งผลไปทั่วโลกอย่างแน่นอน

ลิซซี่ กัลเบรธ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองจาก Abrdn มองว่า ยังต้องติดตามดูว่านักลงทุนจะคาดหวังอะไรจากการกลับมาของทรัมป์ โดยเธอเน้นย้ำว่ารัฐสภาจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายต่างๆ และหากทรัมป์สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งจะมีอิสระมากขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งการลดหย่อนภาษี และการยกเลิกกฎระเบียบ รวมถึงการผลักดันนโยบายการค้าของเขา

สำหรับประเด็นภาษีศุลกากร กัลเบรธ มองว่ามีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ ทรัมป์อาจใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อขอสัมปทานจากฝ่ายตรงข้าม หรือไม่ก็นำไปปฏิบัติจริงตามที่เคยให้สัญญาไว้

‘ยุโรป’ ผู้เสียหายรายใหญ่ที่สุด

เบน เมย์ นักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของนโยบาย "ทรัมป์ 2.0" ต่อเศรษฐกิจโลก โดยระบุว่า แม้ในระยะสั้นผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจไม่รุนแรงนัก แต่จะมีผลกระทบสำคัญแฝงอยู่ในหลายด้าน

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งการปรับขึ้นภาษีศุลกากร และการเจรจาข้อตกลงทางการค้าใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อองค์ประกอบของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนในโครงสร้างเศรษฐกิจ ห่วงโซ่อุปทาน ภาคการผลิต และการลงทุน นอกจากนี้ ตลาดการเงินอาจเผชิญกับความผันผวน ทั้งในตลาดหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน และการลงทุนระหว่างประเทศ

ในระยะยาว นโยบายเหล่านี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ และการจัดการห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศในอนาคต

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจุดยืนของทรัมป์เกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครน และตะวันออกกลางยังเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงที่มากขึ้นในทั้งสองภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในภูมิภาคและแม้แต่ระดับโลก 

นักวิเคราะห์จาก Signum Global Advisors ได้เผยแพร่รายงานวิจัยเมื่อวันที่ 6 พ.ย.67 โดยระบุว่าหลายฝ่ายยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่าไรนัก โดยเฉพาะในกรณีของสหภาพยุโรป ซึ่งอาจเป็น "ผู้เสียหายรายใหญ่ที่สุด" ในยุคทรัมป์ 2.0 โดยความตึงเครียดทางการค้าที่อาจเพิ่มขึ้น และการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรปจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในด้านการดึงดูดการลงทุน และเงินทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายในระยะยาว

ข่าวร้ายของ ‘เอเชีย’

นักวิเคราะห์จาก Macquarie Group มองว่าชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์ถือเป็น ”ข่าวร้ายสำหรับเอเชีย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน แต่ภูมิภาคนี้ ”มีการเตรียมตัว” มากกว่าเมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง

การขึ้นภาษีนำเข้าซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อเอเชีย โดยเฉพาะจีน ทำให้เกิดความผันผวน และผลตอบแทนที่ลดลงท่ามกลางความไม่แน่นอน 

อย่างไรก็ตาม จีนได้เตรียมมาตรการรับมือด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าการเติบโตที่ 5% พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ

มิทเชล ไรส์ นักการทูตอเมริกัน และนักวิจัยจากสถาบัน RUSI ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า ทรัมป์มีแผนจะเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนจนกว่าจะเกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม หากเปรียบเทียบการบริหารงานครั้งก่อนของทรัมป์ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน โดยมองว่าจีนเป็นศัตรูที่ขยายอำนาจในทะเลจีนใต้ และขัดต่อค่านิยมของสหรัฐรวมถึงพันธมิตรทั่วโลก

แม้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศอาจช่วยลดความตึงเครียดลงได้บ้าง แต่ความสัมพันธ์โดยรวมในอนาคตจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐต่อจีนน่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้

อ้างอิง CNBC

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์