AI ในวงการ ‘อนิเมะ’ งานสร้างสรรค์ที่ท้าทายลิขสิทธิ์
Generative AI กำลังปฏิวัติวิธีการสร้างสรรค์เนื้อหาด้วยความสามารถที่ก้าวล้ำ AI ไม่เพียงแต่สามารถสร้างข้อความ วิดีโอ และเสียงที่ซับซ้อน แต่ยังรวมถึง ภาพประกอบ ที่มีความเหมือนจริงจนยากจะแยกจากต้นฉบับ
มีบทความชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจใน Nikkei รายงานว่า ภาพอนิเมะที่สร้างด้วย AI กำลังแพร่หลายบนอินเทอร์เน็ต โดยพบภาพกว่า 90,000 ภาพ จากอนิเมะยอดนิยม 13 เรื่องในเว็บไซต์ต่าง ๆ บางภาพมีความคล้ายคลึงกับภาพต้นฉบับอย่างมากจนก่อเกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์
ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ “ปิกาจู” จาก Pokemon ซึ่งเป็นหนึ่งในอนิเมะที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ด้วยรายได้สะสมจากทรัพย์สินทางปัญญากว่า 9.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นิกเกอิพบว่ามีภาพเลียนแบบปิกาจูที่สร้างด้วย AI กว่า 1,200 ภาพในหลายเว็บไซต์ บางภาพถูกปรับเปลี่ยนให้ถืออาวุธหรือมีลำตัวที่เป็นของตัวละครอื่น ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของตัวละครเบี่ยงเบนจากต้นฉบับ
ส่วน “มาริโอ้” จาก Super Mario และ “ลูฟี่” จาก One Piece ก็ถูกสร้างเลียนแบบเช่นกัน โดยเฉพาะภาพลูฟี่ที่ถูกผสมผสานกับตัวละครอื่น ๆ เช่น แบทแมน และ สไปเดอร์แมน ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ชมได้
เบื้องหลังการสร้างภาพด้วย AI และความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรม
การสร้างภาพด้วย AI ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมากในการ “เรียนรู้” ซึ่งมักดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ทำให้เกิดความกังวลทางกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์
ศาสตราจารย์เอริโกะ วาตานาเบะ จากมหาวิทยาลัยอิเล็กโตร-คอมมูนิเคชั่น ชี้ว่า AI ที่ใช้ข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตมีลักษณะเป็น กล่องดำ (Black Box) ที่ตรวจสอบได้ยากและซับซ้อน
รายงาน “Anime Industry Report 2023” ระบุว่ามูลค่าตลาดอนิเมะทั่วโลกสูงถึง 3 ล้านล้านเยน และการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI ก็อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว
ในขณะเดียวกัน OpenAI และ Google ได้ประกาศเปิดตัวเครื่องมือสร้างวิดีโอด้วย AI ในปี 2024 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการเนื้อหาดิจิทัล
ศาสตราจารย์ไดยะ ฮาชิโมโตะ จากมหาวิทยาลัยดิจิทัลฮอลลีวูด ย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อปกป้อง อุตสาหกรรมอนิเมะญี่ปุ่น และรักษาเอกลักษณ์ของผลงานศิลปะในยุคที่ Generative AI กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้
ความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์
ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในยุค Generative AI เป็นความท้าทายใหม่ในวงการสร้างสรรค์ เมื่อ AI สามารถสร้างภาพที่ใกล้เคียงต้นฉบับได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้สร้างอาจไม่ตระหนักถึงการละเมิดสิทธิ์
โคทาโร ทานาเบะ ทนายความจากสำนักงานกฎหมายมิมูระ โคมัตสึ อธิบายว่า การใช้ชื่อหรือลักษณะเฉพาะของตัวละครในคำสั่งสร้างภาพอาจถูกมองว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่น การจะพิจารณาว่ามีการละเมิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับความคล้ายคลึงระหว่างผลงานต้นฉบับและผลงานที่สร้างขึ้น รวมถึงการอ้างอิงต้นฉบับอย่างเหมาะสม
กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น ศาลอินเทอร์เน็ตกว่างโจวของจีน ได้ตัดสินว่าภาพที่สร้างโดย AI ซึ่งคล้ายคลึงกับ “อุลตร้าแมน” ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญในการควบคุมการใช้งาน AI และอาจกลายเป็นแนวทางสำหรับการพิจารณาคดีในอนาคต
กฎระเบียบและการกำกับดูแลในยุค GenAI
ความท้าทายในการกำกับดูแล Generative AI ทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อการสร้างภาพด้วย AI แพร่หลายและเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ “สหภาพยุโรป” ได้ประกาศกฎระเบียบแรกของโลกที่เน้นความโปร่งใสของผลิตภัณฑ์ที่สร้างด้วย AI โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเปิดเผยว่าเนื้อหานั้นถูกสร้างขึ้นด้วย AI
ขณะที่ใน “สหรัฐอเมริกา” หลักการ “การใช้งานโดยชอบ” หรือ Fair Use ช่วยให้การใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม ศาลจะพิจารณาเป็นกรณีไปว่าการใช้งานนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในส่วนของ “ญี่ปุ่น” สำนักงานกิจการวัฒนธรรมได้เผยแพร่รายงานในเดือนมีนาคมเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์จากการใช้ AI สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีการตอบรับจากกลุ่มอุตสาหกรรมและบุคคลทั่วไปกว่า 20,000 ราย ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลในการใช้ข้อมูลฝึก AI โดยไม่ได้รับอนุญาต
Generative AI ได้เปลี่ยนแปลงการสร้างสรรค์เนื้อหาในอุตสาหกรรมสื่อ แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายด้านการละเมิดลิขสิทธิ์และการกำกับดูแล การร่วมมือระหว่างผู้พัฒนา AI และหน่วยงานกำกับดูแลจึงมีความสำคัญ เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ