ย้ายฐานการผลิต ‘อเมริกาต้องมาก่อน’...

ย้ายฐานการผลิต ‘อเมริกาต้องมาก่อน’...

หลัง“โดนัลด์ ทรัมป์”เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ทั่วโลกต่างจับตามองว่า อเมริกาจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม (Make America Great Again)จากนโยบายทรัมป์  2.0 ที่ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% และภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 10%

และจะใช้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ

รวมถึงในภาคเทคโนโลยี เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้นักลงทุนสัญชาติอเมริกันที่เคยใช้ฐานการผลิตในจีนอาจย้ายกลับถิ่นฐานเดิม (Reshoring)หรือไม่ รวมทั้ง คลาวด์ ดาต้าเซนเตอร์ ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยแต่ยังไม่ได้ตั้งโรงงาน จะปรับแผนใหม่หากได้รับสิทธิประโยชน์

คำถามคือขณะที่เศรษฐกิจประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าในสัดส่วนที่สูงถึง 60%ต่อจีดีพีจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แล้วภาคอุตสาหกรรมไหนจะต้องรีบปรับตัว แต่ที่จะได้เห็นแน่ๆ ก็คือสินค้าจากจีนที่โดนภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% ที่ไม่สามารถส่งเข้าไปขายยังสหรัฐอาจจะทะลักเข้าประเทศไทยมากขึ้น จากเดิมก็ทะลักมาอยู่แล้วจนส่งผลกระทบผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายจนถึงขั้นปิดตัวไปเลยก็มี เราอาจจะเห็นภาพเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นรัฐบาลจะมีมาตรการรับมือเรื่องนี้กันอย่างไรควรจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่บัดนี้
   

รวมทั้งบริษัทจีนอาจจะย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทย เวียดนาม และอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ไบโอเทคโนโลยี เกษตรและอาหาร และดาต้าเซนเตอร์ เพื่อแปลงสัญชาติหาทางส่งออกไปยังสหรัฐทางอ้อม ขณะที่เชื้อชาติยังคงเป็นของจีนอยู่ จะทำให้สามารถส่งออกไปโดยไม่ต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกับสินค้าส่งออกจากจีน แต่จะทำให้สินค้าจากประเทศที่บริษัทจีนเข้าไปตั้งฐานการผลิต รวมทั้งประเทศไทยถูกจับตารวมไปกับแบรนด์จีนที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตด้วยหรือไม่ จึงจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้สหรัฐมองว่าเป็นโรงงานหรือฐานการผลิตสำรองของจีน
   

ขณะเดียวกันประเทศไทยควรจะใช้จังหวะเวลานี้ดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมได้อย่างไร เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ และพลังงานสะอาด โดยเฉพาะ เซมิคอนดักเตอร์ที่ปี 2566 ไทยส่งออกมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ทั้ง แผงวงจรไฟฟ้า (Integrated Circuit - IC) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ
   

ซึ่งการจะดึงการลงทุนได้จำเป็นต้องมี Ecosystem ที่สนับสนุนการเข้ามาลงทุน และพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว รวมถึงการสร้าง Value added และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content) ให้มากขึ้น ที่สำคัญต้องมีแรงงานที่มีทักษะรองรับการอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนด้วย อยากเห็นการตั้งทีมทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์รับมือ “ทรัมป์2.0” ที่เป็นทั้งนักธุรกิจและนักเจรจาต่อรองอย่างระมัดระวังและเตรียมตัวให้พร้อมตลอดระยะเวลา 4 ปีนับจากนี้