จะเกิดอะไรขึ้น? หาก 'รัสเซีย' เลิกส่งก๊าซให้ยุโรปผ่านยูเครน หลังสัญญาหมด 1 ม.ค. 68
จะเกิดอะไรขึ้น? หากรัสเซียเลิกขนส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปผ่านเส้นทางในยูเครน หลังสัญญาขนส่งก๊าซผ่านยูเครนสิ้นสุด 1 ม.ค. 68 รอยเตอร์สคาดมีหลายประเทศได้รับผลกระทบจากการไม่ต่อสัญญาของยูเครน
OMV บริษัทพลังงานออสเตรีย ได้รับแจ้งจาก ก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทรัฐวิสาหกิจก๊าซรายใหญ่สุดของรัสเซียว่า บริษัทเตรียมระงับส่งก๊าซธรรมชาติผ่านยูเครน ไปยัง OMV ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 พ.ย.
รอยเตอร์สรายงานว่า การขนส่งก๊าซรัสเซียไปยังยุโรปโดยผ่านยูเครนอาจสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป หลังจากสัญญา 5 ปีใกล้หมดอายุ เนื่องจากรัฐบาลเคียฟปฏิเสธการเจรจาข้อตกลงขนส่งก๊าซใหม่กับรัสเซียในช่วงที่เกิดสงคราม
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากการขนส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านยูเครนยุติลง และใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รอยเตอร์สอธิบายไว้ดังนี้
รัสเซียส่งก๊าซผ่านยูเครนมากแค่ไหน
ปริมาณก๊าซจากรัสเซียที่ส่งไปยุโรปผ่านยูเครนนั้นค่อนข้างน้อย โดยรัสเซียขนส่งก๊าซผ่านยูเครนราว 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2566 หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของปริมาณก๊าซในปี 2561-2562 ที่รัสเซียส่งไปยังยุโรปผ่านหลายช่องทาง
นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานในปี 2565 รัฐบาลมอสโกสูญเสียส่วนแบ่งตลาดก๊าซให้กับนอร์เวย์ สหรัฐ และกาตาร์ และหนุนให้สหภาพยุโรป (อียู) พยายามลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียมากขึ้น
ด้านเจ้าหน้าที่อียูและบริษัทผู้ค้า ระบุว่า ราคาก๊าซในอียูเมื่อปี 2565 พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หลังจากสูญเสียซัพพลายจากรัสเซีย แต่ราคาก๊าซที่พุ่งสูงจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก เนื่องจากปริมาณก๊าซที่ขนส่งไปมีน้อย ขณะที่ลูกค้าก็เหลือน้อยเช่นกัน
ทั้งนี้ รัสเซียใช้เวลาครึ่งศตวรรษสร้างส่วนแบ่งตลาดก๊าซในยุโรป ซึ่งเคยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ระดับ 35%
ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง
ท่อส่งก๊าซ Urengoy-Pomary-Uzhgorod ในสมัยโซเวียตที่ส่งก๊าซจากภูมิภาคไซบีเรียในรัสเซียผ่านเมืองซุดจา ตอนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพยูเครนในภูมิภาคคูร์สกของรัสเซีย และท่อดังกล่าวจะส่งก๊าซผ่านยูเครนไปยังสโลวาเกีย และในสโลวาเกียท่อขนส่งก๊าซจะแบ่งออกเป็นสาขาเพื่อขนส่งไปยังสาธารณรัฐเช็กและออสเตรียต่อไป
ออสเตรียยังคงได้รับก๊าซส่วนใหญ่ผ่านยูเครน ขณะที่ก๊าซจากรัสเซียครองสัดส่วน 2 ใน 3 ของการนำเข้าก๊าซของฮังการี ส่วนสโลวาเกียรับก๊าซมาจาก Gazprom ราว 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือราว 2 ใน 3 ของความต้องการก๊าซในประเทศ
ด้านสาธารณรัฐเช็กยกเลิกนำเข้าก๊าซจากตะวันออกเกือบทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว และหันไปนำเข้าจากรัสเซียในปีนี้
ขณะที่เส้นทางอื่น ๆ ที่ขนส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรป ส่วนใหญ่ปิดลงแล้ว รวมถึงเส้นทางขนส่ง Yamal-Europe ผ่านเบลารุส และนอร์ดสตรีม (Nord Stream) ผ่านใต้ทะเลบอลติก
ช่องทางอื่น ๆ ที่ขนส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรปที่ยังใช้งานอยู่ คือ บลูสตรีม (Blue Stream) และเติร์กสตรีม (TurkStream) ซึ่งส่งไปยังตุรกีผ่านทะเลดำ ซึ่งตุรกีเองก็ส่งก๊าซบางส่วนไปยังประเทศอื่นในยุโรปต่อ เช่น ฮังการี
ทำไมเส้นทางขนส่งก๊าซผ่านยูเครนยังคงดำเนินงานอยู่
สมาชิกอียูหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี เผยว่า พวกเขาจะไม่ซื้อก๊าซจากรัสเซียอีกต่อไป แต่จุดยืนของสโลวาเกีย ฮังการี และออสเตรีย ประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลมอสโก ได้สร้างความท้าทายต่อแนวทางร่วมของอียู
หลายประเทศที่ยังคงรับก๊าซมาจากรัสเซีย โต้ว่า เชื้อเพลิงจากรัสเซียเป็นเชื้อเพลิงราคาประหยัดที่สุด และโทษเพื่อนบ้านในอียูว่ากำหนดค่าธรรมเนียมขนส่งสูงเพื่อให้หาทางเลือกอื่น
จากการคำนวณของรอยเตอร์ส พบว่า ยูเครนยังคงมีรายได้จากค่าขนส่งก๊าซจากการขนส่งก๊าซรัสเซีย 800-1,000 ล้านดอลลาร์ และรัสเซียมีรายได้จากการจำหน่ายก๊าซผ่านยูเครนมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ จากราคาเฉลี่ย 200 ดอลลาร์ต่อ 1,000 ลูกบาสก์เมตร
Gazprom ขาดทุน
Gazprom บริษัทผูกขาดการส่งออกก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซของรัสเซีย ขาดทุนสุทธิ 7,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งเป็นการขาดทุนรายปีครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2542 เนื่องจากขาดทุนในตลาดก๊าซอียู
ด้านรัสเซียเผยว่า ประเทศพร้อมขยายข้อตกลงขนส่งก๊าซ แต่รัฐบาลเคียฟย้ำแล้วย้ำอีกว่าจะไม่ขยายข้อตกลงดังกล่าว
ดังนั้น เหลืออีกทางเลือกคือให้ Gazprom ขนส่งก๊าซผ่านเส้นทางอื่น เช่น ผ่านเติร์กสตรีม บัลแกเรีย เซอร์เบีย และฮังการี แต่กำลังการขนส่งผ่านเส้นทางดังกล่าวมีจำกัด
ขณะที่ที่ปรึกษาปธน.อาเซอร์ไบจาน เผยกับรอยเตอร์สว่า อียูและยูเครนได้ขอให้อาเซอร์ไบจานอำนวยความสะดวกในการเจรจาข้อตกลงขนส่งก๊าซกับรัสเซีย แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติม
อ้างอิง: Reuters