มหาวิทยาลัยอังกฤษอยู่ยาก นศ.ต่างชาติหนีเรียนที่อื่น
มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรได้ชื่อว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ข้อกำหนดวีซาทำให้ตอนนี้นักศึกษาต่างชาติสนใจมาเรียนน้อยลง ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการเงินของมหาวิทยาลัย
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ข้อกำหนดเรื่องวีซาได้กระหน่ำซ้ำเติมปัญหาที่มีมาก่อนแล้ว นับตั้งแต่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อสี่ปีก่อน
ในปี 2022 นักศึกษาต่างชาติลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยอังกฤษเกือบ 760,000 คน ถือเป็นปลายทางยอดนิยมอันดับสองรองจากสหรัฐ ในตลาดอุดมศึกษาที่มีการแข่งขันสูง นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากอินเดีย จีน และไนจีเรีย
แต่ในปีที่ผ่านมาจำนวนวีซ่านักศึกษาลดลง 5% ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. การยื่นขอวีซ่านักศึกษา ดิ่งลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023 สร้างความกังวลให้กับสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากนักศึกษาต่างชาติจ่ายค่าเล่าเรียนมากกว่านักศึกษาอังกฤษ
เหลี่ยว ซุย วัย 20 ปี จากจีนเริ่มศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพและประชากรที่ University College London เขาให้เหตุผลถึงการไปเรียนในต่างแดน
“มันดีกับอาชีพของผม เมื่อกลับไปเมืองจีนผมสามารถสมัครงานกับบริษัทต่างชาติได้”
ค่าเล่าเรียนของเขาตกปีการศึกษาละ 31,000 ปอนด์ ซึ่งตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมานักศึกษาอังกฤษเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจ่ายไม่เกิน 9,250 ปอนด์ แต่รัฐบาลพรรคแรงงานที่ได้รับเลือกตั้งมาเมื่อฤดูร้อน ประกาศในสัปดาห์ก่อนว่า จะเพิ่มเพดานเป็น 9,535 ปอนด์ ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
มหาวิทยาลัยตอบรับความเคลื่อนไหวของรัฐบาล หลังจากเรียกร้องขึ้นค่าเทอมมาหลายปีแล้ว
UUK องค์กรตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาอังกฤษ 141 แห่ง กล่าวเตือนในการประชุมเดือน ก.ย.ว่า เงินอุดหนุนตัวหัวนักศึกษาอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2004 โดยประเมินว่า ค่าเล่าเรียน 9,250 ปอนด์มีค่าไม่ถึง 6,000 ปอนด์ เพราะเงินเฟ้อทำให้เกิดข้อบกพร่องด้านการสอนและทำวิจัย
เหมือนถูกบดขยี้
“เรารู้สึกเหมือนกำลังถูกบดขยี้” แซลลี แมปสโตน ประธาน UUK กล่าวในที่ประชุม
จะว่าไปแล้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้อนรับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้นเพื่ออุดช่องว่างด้านงบประมาณ จนหลายมหาวิทยาลัยต้องพึ่งพานักศึกษาต่างชาติเป็นหลักในทางการเงิน
ตามรายงานของรัฐสภา นักศึกษาต่างชาติคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งลอนดอนและมหาวิทยาลัยครานฟิลด์ ซึ่งเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ทางเหนือของเมืองหลวงอังกฤษ
ก่อนหน้านี้ไฟแนนเชียลไทม์สเคยรายงานว่า มหาวิทยาลัยบางแห่งรวมถึงมหาวิทยาลัยยอร์ก ลดเกณฑ์การสมัครเข้าเรียนลงเพื่อดึงนักศึกษาจากต่างชาติมากขึ้น
แต่รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมชุดก่อนหน้าที่พ้นจากอำนาจในเดือน ก.ค. ทำให้งานของมหาวิทยาลัยยุ่งยากด้วยการออกข้อกำหนดวีซ่านักศึกษา เนื่องจากต้องการลดการย้ายถิ่นเข้าประเทศ รัฐบาลห้ามไม่ให้นักศึกษาต่างชาตินำครอบครัวมาด้วยโดยมีข้อยกเว้นให้บางประการ และระหว่างเรียนห้ามเปลี่ยนไปใช้วีซ่าทำงาน
ช่วงสี่เดือนแรกของปี 2024 นักศึกษาต่างชาติยื่นใบสมัครเข้ามหาวิทยาลัยลดลง 30,000 คนจากช่วงเดียวกันของปี 2023
“ตัวเลขขนาดนี้ยืนยันความหวาดวิตกของเราที่ว่า การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลชุดก่อนทำให้สหราชอาณาจักรไม่ใช่ที่ที่น่ามาเรียนต่อ” นิก ฮิลล์แมน ผู้อำนวยการผู้อำนวยการกลุ่มคลังสมอง “สถาบันนโยบายอุดมศึกษา” กล่าว
เปิดวิทยาเขตต่างประเทศ
อธิการบดีเอียน ดันน์ จากมหาวิทยาลัยโคเวนทรี ที่นักศึกษากว่าหนึ่งในสามของทั้งหมด 30,000 คน มาจากต่างประเทศ ระบุ
“เรื่องเล่าของพรรคอนุรักษนิยมนั้นสร้างความเสียหายอย่างมาก”
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากเบร็กซิทไปเรียบร้อยแล้ว
“เรามีนักศึกษา 4,400 คนจากสหภาพยุโรป ตอนนี้เผลอๆ เหลือแค่ 10%” อธิการบดีกล่าวและว่าสถานการณ์ของมหาวิทยาลัย “ยากลำบาก”
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอังกฤษอีกแห่งหนึ่งเผยกับเอเอฟพีว่า ตำแหน่งอาจารย์และหลักสูตรถูกตัด
“การที่นักศึกษาต่างชาติลดลงยิ่งทำให้วิกฤติของเราเลวร้ายลงอย่างหนัก บางคนก็ไปแคนาดา ออสเตรเลีย หรือเนเธอร์แลนด์ ที่มีหลักสูตรภาษาอังกฤษ” อาจารย์หญิงรายนี้กล่าวต่อแบบไม่เปิดเผยตัวตน
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยโคเวนทรีอาจค้นพบคำตอบด้วยการเป็นพันธมิตรกับสถาบันในต่างแดน เปิดวิทยาเขตในหลายๆ ประเทศ เช่น อียิปต์ โมร็อกโก อินเดีย และจีน เมื่อจบการศึกษา นักศึกษาอาจไม่ได้อยู่ในสหราชอาณาจักร แต่ยัง “ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยโคเวนทรี” ดันน์สรุป