‘ญี่ปุ่น’ จ่อยกเลิกเพดาน Tax Free ชอปปิงปลอดภาษีเกิน 500,000 เยนต่อวัน

‘ญี่ปุ่น’ จ่อยกเลิกเพดาน Tax Free ชอปปิงปลอดภาษีเกิน 500,000 เยนต่อวัน

‘ญี่ปุ่น’ ยกเลิกเพดาน Tax Free ชอปปิงปลอดภาษีเกิน 500,000 เยนต่อวันได้แล้ว หวังกระตุ้น ‘เศรษฐกิจ’ หลัง นักท่องเที่ยวช้อปฉ่ำ

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่นได้เสนอให้ยกเลิกเพดานการช้อปปิ้งปลอดภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างภาษีในปีงบประมาณ 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น

ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถขอคืนภาษีการบริโภคเมื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษี แต่มีข้อจำกัดที่ยอดซื้อต่อคนต่อร้านต่อวันจะต้องไม่เกิน 500,000 เยน หรือประมาณ 112,378 บาท สำหรับสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยา การยกเลิกเพดานนี้คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ขณะนี้ จำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการร้านค้าปลอดภาษีทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 5.1% ในรอบ 6 เดือน และล่าสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคม มีจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 59,485 แห่ง

นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความต้องการสินค้าหลายชนิดโดยเฉพาะสาเก ผลิตภัณฑ์เสริมความงามมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมาก สอดคล้องกับค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่นมองว่า เพดานการช้อปปิ้งปลอดภาษีที่กำหนดไว้ อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้ยอดขายของสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นได้อีก

ช้อปช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่น

การช้อปปิ้งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวญี่ปุ่น โดยในปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายไปกับการช้อปปิ้งถึง 26.5% ของรายจ่ายทั้งหมด  สูงกว่าสหรัฐที่อยู่ที่ 18% และในไตรมาส 3 สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 28.9% สะท้อนให้เห็นว่าการช้อปปิ้งเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนญี่ปุ่น และมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ

โครงการปลอดภาษีในญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากปี 2557 เมื่อรัฐบาลขยายขอบเขตของสินค้าปลอดภาษีให้ครอบคลุมสินค้าอุปโภคบริโภคและลดเกณฑ์ขั้นต่ำในการซื้อ ส่งผลให้เกิดกระแส "การซื้อแบบพุ่งสูง" ขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่มักซื้อสินค้าจำนวนมากเพื่อนำกลับไปขายต่อในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นในหลายด้าน

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงปรับเปลี่ยนนโยบายการขอคืนภาษี โดยกำหนดให้ผู้ซื้อต้องชำระภาษีการบริโภคล่วงหน้าก่อน และสามารถขอคืนภาษีได้เมื่อนำสินค้าออกนอกประเทศพร้อมกับใบเสร็จรับเงิน นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการซื้อสินค้าเพื่อขายต่อ และทำให้ระบบการขอคืนภาษีมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง Nikkei