Meeting with Pol Pot ตำนานเขมรแดงไม่รู้จบ l หนังเล่าโลก

Meeting with Pol Pot ตำนานเขมรแดงไม่รู้จบ l หนังเล่าโลก

หากกล่าวถึงประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดงถือเป็นความโหดร้ายใกล้บ้านที่หลายคนยังจำกันได้ ภาพยนตร์เกี่ยวกับเขมรแดงจึงชวนให้ติดตามเสมอ รวมถึง Meeting with Pol Pot ที่นำมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 16

Meeting with Pol Pot เป็นภาพยนตร์ใหม่ในปีนี้ ผลงานการกำกับของริธี ปานห์ (Rithy Panh) บอกเล่าเรื่องราวของนักข่าวฝรั่งเศสสามคน อาแล็ง คาริอู ที่ดูเหมือนเป็นหัวหน้าทีม, พอล โธมัส ช่างภาพ และลิซ เดลโบ นักข่าวสาว ทั้งสามได้รับเชิญจากรัฐบาลเขมรแดงเข้าไปทำข่าวชีวิตของผู้คนในประเทศกัมพูชาประชาธิปไตยในปี 1978 หรือสามปีหลังจากกรุงพนมเปญแตก กัมพูชาปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์  

ลองนึกภาพตัวเองเป็นนักข่าวในปีนั้น ใครบ้างจะไม่อยากไปประเทศกัมพูชา แต่จะไปทั้งทีก็ต้องกล้าๆ หน่อย นักข่าวทีมนี้มีความกล้าเพราะอาแล็งเคยเป็นเพื่อนกับพลพต ผู้นำเขมรแดงสมัยเรียนที่ฝรั่งเศส และทีมข่าวจะได้สัมภาษณ์พลพตด้วย เรียกได้ว่ามาทำข่าวทริปนี้เอ็กซ์คลูสีฟทีเดียว แต่กว่าจะได้เข้าถึงผู้นำเขมรแดงทีมข่าวจากฝรั่งเศสก็ต้องรอแล้วรอเล่า แน่นอนว่าการเข้าถึงผู้นำระดับนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และระหว่างนั้นกองทัพเวียดนามเริ่มบุกเข้ามา พลพตและเขมรแดงต้องระวังตัวอย่างหนัก 

ช่วงที่รอการสัมภาษณ์พลพต เขมรแดงจึงจัดให้ทีมข่าวไปเยี่ยมชมสภาพการบริหารบ้านเมืองและสัมภาษณ์ชาวบ้านไปพลางๆ  ซึ่งก็เป็นธรรมดาเวลาเจ้าภาพพานักข่าวไปดูอะไรเขาย่อมพาไปดูในสิ่งดีๆ ที่อยากให้โลกเห็น เป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัยทุกองค์กร จึงเป็นหน้าที่ของนักข่าวที่ต้องสอดส่ายสายตามองให้ลึกในสิ่งที่เขาไม่ให้ดู ต่อมเอ๊ะ! ของนักข่าวต้องทำงานทุกขณะ 

และแล้วก็เป็นเรื่องเมื่อพอล ช่างภาพ แอบไปเห็นภาพชีวิตจริงที่เขมรแดงไม่ต้องการให้คนนอกรู้ เช่นเดียวกับอาแล็งและลิซ ที่มีโอกาสไปสัมภาษณ์พลพต แต่ด้วยคำถามจี้ใจดำทำให้ผู้นำเขมรแดงไม่พอใจอย่างมาก คงไม่ต้องบอกถึงจุดจบของนักข่าวหัวเห็ด 

หนังเล่าโลกไปดู Meeting with Pol Pot เพราะชื่อเรื่องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้อ่านข้อมูลใดๆ ไปก่อน ดูจบยังสงสัยเล็กน้อยว่านี่เรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง มาหาข้อมูลภายหลังทราบมาว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากจากหนังสือบันทึกของนักข่าวหญิง เอลิซาเบท เบคเกอร์ ชื่อ When the War Was Over ซึ่งเป็นหนังสือเบสท์เซลเลอร์ นักข่าววอชิงตันโพสต์รายนี้ไปทำข่าวในกัมพูชามาตั้งแต่ปี 1973 

“หนังอวยฮุนเซน!” ดูหนังจบต่อมเอ๊ะ! ของเพื่อนซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีระดับมือรางวัลก็ทำงานทันที ขณะที่หนังเล่าโลกยังไหวไม่ทันกับข้อสังเกตของเธอ แต่ก็นึกขึ้นได้ว่า รัฐบาลเขมรแดงพบจุดจบเมื่อเฮง สัมรินและฮุนเซน อดีตเขมรแดงผู้แปรพักตร์แล้วหนีไปตั้งหลักที่เวียดนาม ได้นำทหารเวียดนามหนึ่งแสนนายเข้ามาโค่นเขมรแดงสำเร็จในวันที่ 7 ม.ค.1979 

ด้วยเหตุนี้กระมัง เมื่อพูดถึงภาพความโหดร้ายของเขมรแดงอีกภาพหนึ่งที่ติดตามมาคือความเป็นฮีโรของฮุนเซนที่แม้คนต่างชาติดูไม่ออกแต่คนกัมพูชาจำได้  ซึ่งเจ้าตัวก็ใช้มุกนี้หาเสียงมานานหลายปี จนกระทั่งคนรุ่นหลังๆ เริ่มไม่อินเพราะไม่รู้จักเขมรแดงแล้ว

นอกจากข้อสังเกตจากเพื่อน หนังเล่าโลกยังเจอคำถามจากสาวน้อยเจนวายเมื่อดูหนังจบ “หนูไม่เข้าใจเลยว่า พลพตก็เรียนเมืองนอก ทำไมเขาปกครองแบบนี้”

 คำถามคลาสสิกที่หลายคนผู้เคยเห็นภาพการปกครองอันเหี้ยมโหดของเขมรแดงก็สงสัยอย่างนี้เหมือนกัน สำหรับหนังเล่าโลกเชื่อว่า ทุกคนที่ต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจปกครองล้วนมีความปรารถนาต้องการให้บ้านเมืองดีแบบที่ตนเองคิดฝัน แต่เมื่อทำไปแล้วไม่สัมฤทธิผล การรักษาอำนาจไว้ให้ได้ต่างหากเล่าที่ทำให้พวกเขาต้องโหดร้ายกลายเป็นเรื่องราวให้โลกเล่าขานไม่รู้จบ