รู้จักว่าที่ รมว.คลังสหรัฐ 'ทำเฮดจ์ฟันด์ สนิทจอร์จ โซรอส เปิดตัวเป็นเกย์'

รู้จักว่าที่ รมว.คลังสหรัฐ 'ทำเฮดจ์ฟันด์ สนิทจอร์จ โซรอส เปิดตัวเป็นเกย์'

ทรัมป์เสนอแต่งตั้งผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ 'สก็อตต์ เบสเซนต์' คุมกระทรวงการคลัง พบประวัติไม่ธรรมดาเคยบริหารเงินให้พ่อมดการเงิน 'จอร์จ โซรอส' คาดอาจเป็นรัฐมนตรีที่รวยที่สุดของสหรัฐ และจะเป็น รมว.คลังคนแรกที่เปิดเผยว่าเป็นเกย์

หลังจากพิจารณาแคนดิเดตที่เข้าตาหลายคน ในที่สุดว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้เสนอชื่อแต่งตั้ง "สก็อตต์ เบสเซนต์" (Scott Bessent) วัย 62 ปี ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐคนใหม่แล้ว โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่าเบสเซนต์มีประวัติที่น่าสนใจในหลายมุม ทั้งมาจากสายเฮดจ์ฟันด์จนร่ำรวย เคยบริหารเงินให้ "จอร์จ โซรอส" และยังเป็นคนที่เปิดเผยว่า "เป็นเกย์" ซึ่งเป็นประเด็นที่เคยทำให้ชวดงานราชการมาแล้วหลายครั้ง 

"สก็อตต์เป็นผู้สนับสนุนวาระ 'อเมริกาต้องมาก่อน' อย่างแข็งขันมาอย่างยาวนาน" "ในวันก่อนถึงวันครบรอบ 250 ปีของประเทศอันยิ่งใหญ่ของเรา เขาจะช่วยผมนำพาสหรัฐเข้าสู่ยุคทองใหม่ ในขณะที่เราเสริมความแข็งแกร่งให้ในฐานะประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก" ทรัมป์กล่าวหลังการเสนอชื่อ

ทรัมป์ได้พิจารณาเฟ้นหาขุนคลังมาพักใหญ่และพิจารณาแคนดิเดตที่เข้าตาหลายคน เช่น "มาร์ก โรวัน" ผู้จัดการกองทุน Apollo Global Management, "เควิน วาร์ช" อดีตกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ "โฮเวิร์ด ลุตนิก" หัวหน้า(ร่วม)คณะเปลี่ยนผ่านของทรัมป์ ซึ่งรายหลังนี้ได้รับการเสนอชื่อเป็น รมว.พาณิชย์ไปแล้ว

บรรดาพันธมิตรเชื่อว่าทรัมป์เลือกแคนดิเดตที่ได้รับการยอมรับทั้งจากวอลล์สตรีทและจากฐานเสียงเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่การผลักดันใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ การยอมรับสกุลเงินดิจิทัล และการปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย

หากได้รับการรับรองจากวุฒิสภา เบสเซนต์จะเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีคลังที่รวยที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสหรัฐ และจะเป็น รมว.คลังคนแรกของสหรัฐที่เป็นเกย์อย่างเปิดเผย โดยเบสเซนต์เคยพูดเอาไว้ว่าเขาต้องการรับใช้ชาติมาตลอด แต่ในช่วงทศวรรษ 1980 ประเด็นเรื่องรสนิยมทางเพศเป็นอุปสรรคทำให้เบสเซนต์ไม่ได้เข้าโรงเรียนนายเรือสหรัฐ (US Naval Academy) และพลาดการเข้ากระทรวงการต่างประเทศหลังหลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเยล

เบสเซนต์เคยบริหารเงินให้กับพ่อมดการเงิน "จอร์จ โซรอส" เขาอาศัยอยู่ในลอนดอนและเป็นส่วนหนึ่งของทีมภายใต้การนำของสแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์ (Stanley Druckenmiller) ซึ่งทำเงินได้ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 1992 โดยการชอร์ตค่าเงินปอนด์ ซึ่งเป็นการเดิมพันที่มีส่วนบีบให้สกุลเงินนี้ต้องถอนตัวออกจากกลไกอัตราแลกเปลี่ยนของยุโรป และทำให้โซรอสโด่งดังในฐานะพ่อมดการเงินผู้ทำลายธนาคารกลางอังกฤษ

เขาจะเป็นรัฐมนตรีคลังคนที่สองของสหรัฐ ต่อจาก "สตีเวน มนูชิน" ซึ่งเคยทำงานให้กับกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโซรอส

สำนักงานครอบครัวของโซรอสทำกำไรได้ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายใต้การนำของเบสเซนท์ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการลงทุน หรือประมาณ 13% ต่อปี ตั้งแต่นั้นมาเบสเซนต์ก็บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ "คีย์สแควร์" (Key Square)  ซึ่งเริ่มต้นด้วยเงินลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์จากโซรอส และได้คืนทุนในภายหลังเมื่อนักลงทุนรายอื่นๆ เริ่มเข้ามามากขึ้น

"ผมคิดว่าเขาจะโดดเด่นมาก" ดรักเคนมิลเลอร์กล่าว "จากการทำงานให้กับผมและจอร์จมาหลายปี ทำให้เขาได้เรียนรู้ทุกสิ่งที่รัฐมนตรีคลังต้องเผชิญ เขามีความรู้ด้านตลาดอย่างลึกซึ้ง และยังเป็นนักวิชาการที่มีความสามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายในแวดวงวิชาการได้ นับเป็นการผสมผสานที่หาได้ยาก"

มุมมองเศรษฐกิจว่าที่รมว.คลัง

ทั้งนี้ในฐานะผู้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจสูงสุดของประเทศ เบสเซนต์จะต้องลุยฝ่าดงการเมืองในวอชิงตัน เป็นผู้นำการทูตเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนำความรู้จากวอลล์สตรีทมาใช้ในสถานการณ์วิกฤต นอกจากนี้ เขายังจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากนักลงทุนและสถาบันการเงินที่คาดหวังเรื่องเสถียรภาพและการคาดเดาทิศทางได้

ในมุมมองต่อ "ค่าเงินดอลลาร์" นั้น เบสเซนต์เป็นผู้สนับสนุนการปรับนโยบายสกุลเงินของสหรัฐ แต่ไม่ได้สนับสนุนแนวทางการทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยในช่วงวาระแรกของการเป็นประธานาธิบดี ทรัมป์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากเกรงว่าการแข็งค่ามากเกินไปอาจสร้างความเสียหายต่อผู้ผลิตของสหรัฐ และยังพิจารณาให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงจัดการมูลค่าของเงินดอลลาร์อีกด้วย

เบสเซนท์ยอมรับว่าแม้ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจบางส่วน แต่ข้อเสนอบางอย่างของทรัมป์จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

เขาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในเรื่องการก่อหนี้ของรัฐบาลกลาง และพูดถึงการขยายนโยบาย "Friendshoring" เพื่อสร้างระบบแบบแบ่งชั้นระหว่างพันธมิตรทางการค้า

เป็นที่คาดว่าเบสเซนต์ในฐานะรัฐมนตรีคลังจะให้คำแนะนำแก่ทรัมป์เกี่ยวกับผู้สมัครที่จะดำรงตำแหน่ง "ประธานธนาคารกลางสหรัฐ" (เฟด) เมื่อตำแหน่งดังกล่าวเปิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2026 โดยก่อนหน้านี้เบสเซนต์เคยพูดถึงแนวคิดในการเสนอชื่อประธานเฟดคนใหม่ล่วงหน้าถึง 2 ปี ก่อนที่เจอโรม พาวเวล ประธานคนปัจจุบันจะหมดวาระ เบสเซนท์กล่าวว่าตลาดการเงินจะหันความสนใจไปที่ "ประธานเงาเฟด" แทนที่จะเป็นพาวเวล

เบสเซนต์เคยกล่าวเฟดตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นช้าเกินไปในปี 2021 และวิพากษ์วิจารณ์เฟดสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
 

ที่มา: Bloomberg