'สี จิ้นผิง' ฟื้น BRI หวังสร้าง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ หวั่น สหรัฐ-พันธมิตร คว่ำบาตร

'สี จิ้นผิง' ฟื้น BRI หวังสร้าง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ หวั่น สหรัฐ-พันธมิตร คว่ำบาตร

จีนพลิกวิกฤตเส้นทางสายไหมใหม่ ด้วยรถไฟเชื่อมยูเรเชีย แม้เผชิญแรงต้านและกังวลเรื่องกับดักหนี้ แต่ปักกิ่งยังคงใช้โครงข่ายคมนาคมสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาตะวันตก เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานวันนี้ (26 พ.ย.) ว่า โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (BRI) ล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ? ดูเหมือนว่าช่วงที่ผ่านมานักวิชาการจำนวนหนึ่งจะมองไปในทาง “ล้มเหลว” เสียมากกว่า

หลายเสียงมองว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นี้เป็น “กับดักหนี้” ก้อนใหญ่ ซึ่งเสริมมุมมองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม ประกอบกับสถานะทางการเงินก็อยู่ในช่วงวิกฤตเช่นเดียวกัน รวมทั้งการถอนตัวออกจากโครงการ BRI ของอิตาลีสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินโครงการดังกล่าวในลักษณะนั้น เพราะการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมสู่ยุโรปยังคงเป็นวัตถุประสงค์หลักของปักกิ่ง และสี จิ้นผิงก็ทุ่มเงินมหาศาลให้โครงการดังกล่าวเป็นจริง

หนึ่งตัวอย่างคือเมืองโขรกอส (Khorgos) บริเวณชายแดนห่างไกลที่อยู่ระหว่างเขตปกครองพิเศษอุยกูร์ของจีนและคาซัคสถาน รวมทั้งยังเป็นจุดผ่านแดนศุลกากรที่สำคัญสำหรับรถไฟไช่น่าเอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟขนส่งเชื่อมจีนกับยุโรป

 

"รถไฟไชน่าเอ็กซ์เพรสนำผู้คนและงานมาสู่เมืองที่เคยว่างเปล่า" ชายขับแท็กซี่ท้องถิ่นกล่าว โดยที่ผ่านมามีผู้คนมาเยือนเขตการค้าเสรีชายแดนกว่า 6 ล้านคนระหว่างเดือนม.ค.ถึงต.ค.

พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของร้านค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดและอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งกลุ่มผู้อำนวยความสะดวกสำหรับการซื้อขายสินค้าจำนวนมาก โดยที่สตูดิโอสำหรับไลฟ์สดขายสินค้าออนไลน์ พนักงานขายพูดหลากหลายภาษาเพื่อขายผลิตภัณฑ์ของพวกเขา

เมื่อสั่งซื้อแล้ว สินค้าจะถูกส่งออกจากศูนย์กลางแห่งนี้ไปยังจุดหมายปลายทางในเอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป

'ไชน่าเอ็กซ์เพรส' เครื่องมือดัน BRI

ทั้งนี้ รถไฟไชน่าเอ็กซ์เพรสเปิดดำเนินการในเดือน มี.ค. 2554 โดยการบริหารงานในสเกลที่ไม่ใหญ่มาก ทว่าเมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เสนอโครงการ BRI ครั้งแรกในปี 2556 ทางการยกระดับรถไฟสายนี้เป็นโครงการระดับชาติและเปิดเส้นทางใหม่จำนวนมากทั่วประเทศจีน

ปัจจุบัน รถไฟสายดังกล่าวเมื่อเครือข่ายเชื่อมโยง 125 เมืองในจีนกับ 227 เมืองใน 25 ประเทศยุโรป มีรถไฟ 17,000 ขบวนวิ่งบนเส้นทางเหล่านี้ในปีที่แล้ว ซึ่งขยายตัวเป็น 20 เท่าตั้งแต่ปี 2558 ที่สำคัญการขนส่งสินค้าทางรถไฟใช้เวลาน้อยกว่าเส้นทางทะเลประมาณ 50% และคุ้มค่ากว่าการขนส่งทางอากาศ

เครือข่ายเส้นทางรถไฟดังกล่าวเข้ามาช่วยขยายการดำเนินงานของบริษัทจีนในยุโรป ยกตัวอย่างเช่น

  1. บริษัทจีนอย่าง BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และ Contemporary Amperex Technology (CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรีชั้นนำกำลังขยายกิจการในฮังการี
  2. ส่วนในเซอร์เบีย ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Hisense อยู่ในช่วงขยายโรงงานผลิตตู้เย็น
  3. TCL Technology Group ผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่กำลังผลิตสินค้าในโปแลนด์

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมองทั้งฮังการี เซอร์เบีย และโปแลนด์เป็นประตูสู่ยุโรป โดยที่ผ่านมาบริษัทจีนขนส่งชิ้นส่วนและวัสดุต่างๆ ไปยังยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก แล้วแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายเพื่อส่งเข้าทวีปยุโรปผ่านประเทศดังกล่าว

แม้ทั้งจีนและยุโรปจะอยู่ห่างกันในเชิงภูมิศาสตร์ในอดีตด้วยระยะทางบนบกราว 10,000 กิโลเมตรคั่นกลาง แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายกำลังหลอมรวมเข้าด้วยกันผ่านโครงการ BRI

ความมั่นคงทางอาหารของจีนถูกท้าทาย

บทวิเคราะห์ของนิกเคอิ เอเชีย ให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นในยูเรเชียยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระดับชาติของสหรัฐและญี่ปุ่นด้วย โดยสามารถสังเกตเห็นได้ในเขตหยางหลิง ในเมืองเสียนหยาง มณฑลส่านซี

หยางหลิงเป็นที่รู้จักในฐานะเขตเกษตรกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ที่ดินเกษตรกรรมในเขตนี้มีป้ายและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เชื่อมโยงกับองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ซึ่งเป็นกลุ่มความมั่นคงและการเมืองของยูเรเชีย

พัฒนาการข้างต้นเป็นผลมาจากคำประกาศของ สี จิ้นผิง ในการประชุมสุดยอด SCO ที่จัดขึ้นในคีร์กีซสถานเมื่อเดือนมิ.ย. 2562

"จีนยินดีที่จะจัดตั้งสำนักงานของ SCO ในมณฑลส่านซีเพื่อแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค" สี จิ้นผิงกล่าวในขณะนั้น

ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นเมืองหยางหลิงได้ทำการวิจัยในการแปลงดินแห้งของที่ราบหลงเหยาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ โดยใช้ความรู้ที่สะสมมา โดยปัจจุบันจีนกำลังร่วมมือกับประเทศในเอเชียกลางเพื่อเปลี่ยนภูมิภาคเหล่านี้ให้กลายเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่มีระดับการพัฒนาสูง

ทั้งสองฝ่ายอยู่ในช่วงร่วมพัฒนาเทคนิคการเพาะปลูกข้าวสาลี ผัก และผลไม้ แม้ในช่วงแรกจะดูเหมือนเป็นความช่วยเหลือต่างประเทศแบบทั่วไปของจีน แต่เบื้องหลังความพยายามเหล่านี้มีแผนการที่เป็นรูปธรรมเพื่อประกันความมั่นคงด้านอาหารในอนาคตอันไกล

หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ การวิจัยการเพาะปลูกข้าวสาลีกำลังดำเนินการในคาซัคสถาน จีนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีอันดับหนึ่งของโลก แต่ไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการ เห็นได้จากยอดการนำเข้าข้าวสาลีของจีนอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตันในปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อประมาณทศวรรษที่แล้ว

น่าสนใจว่าแหล่งที่มาสำหรับนำเข้าข้าวสาลีมีความเชื่อมโยงกับ “ความมั่นคงด้านอาหาร” ของจีน โดยหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากออสเตรเลีย สหรัฐ และแคนาดาครอบคลุมมากกว่า 80% ของยอดการนำเข้าทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปี 2566 เมื่อส่วนแบ่งของสหรัฐลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกัน การนำเข้าจากคาซัคสถานเพิ่มขึ้น 14 เท่าในปีนั้นเป็นปริมาณกว่า 500,000 ตัน

สำหรับปักกิ่ง การพึ่งพาสหรัฐและประเทศแถบแปซิฟิกโดยเฉพาะในด้านอาหารถือเป็นประเด็นด้านความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จีนจะตกอยู่ภายใต้การปิดกั้นทางทะเลและการคว่ำบาตรในกรณีวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับช่องแคบไต้หวันหรือทะเลจีนใต้

แต่หากปักกิ่งสามารถสร้างเครือข่ายที่ลดการพึ่งพากลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐได้ นั่นจะลดความน่าเกรงขามของสหรัฐและญี่ปุ่น โดยรถไฟไชน่เอ็กซ์เพรส ที่เชื่อจีนและยุโรปคือ “เส้นเลือดใหญ่ใหม่” ที่สำคัญต่อความมั่นคงของจีน

อ้างอิง: Nikkei Asia