วัดกันหมัดต่อหมัด เปิดคลังขีปนาวุธรัสเซีย vs ยูเครน

วัดกันหมัดต่อหมัด เปิดคลังขีปนาวุธรัสเซีย vs ยูเครน

สงครามของรัสเซียในยูเครนใช้การโจมตีทางอากาศนำการรุกคืบทางบก ทั้งสองฝ่ายพึ่งพาโดรนสู้รบ ขีปนาวุธร่อน และขีปนาวุธมากขึ้น

สงครามมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อรัสเซียใช้ทหารเกาหลีเหนือมาช่วยรบ เมื่อไม่กี่วันก่อนรัฐบาลสหรัฐจึงอนุญาตให้กองทัพยูเครนยิงขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐเข้าไปในดินแดนรัสเซียได้ ซึ่งรัฐบาลมอสโกได้ตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธทรงพลังชนิดใหม่พุ่งเป้าเมืองดนิโปรของยูเครน 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรวบรวมขีปนาวุธที่ทั้งสองฝ่ายใช้ถล่มกัน

  • คลังแสงยูเครน

ATACMS

ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพบกผลิตโดยสหรัฐ รู้จักกันในชื่อ ATACMS เป็นขีปนาวุธนำวิถีเหนือเสียงยิงจากพื้นดินสู่พื้นดิน พิสัยทำการราว 300 กิโลเมตร สามารถบรรทุกได้ทั้งหัวรบเดี่ยวหรือหัวรบแบบคลัสเตอร์ ผลิตโดยบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน ยิงได้จากฐานยิง HIMARS ที่สหรัฐจัดหาให้ยูเครน และฐานยิง  MLRS M270 ที่หลายๆ ประเทศรวมถึงสหราชอาณาจักรมอบให้ยูเครน

เมื่อหนึ่งปีเศษๆ ที่ผ่านมา สหรัฐอนุญาตให้ยูเครนใช้ ATACMS โจมตีดินแดนยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครอง รัฐบาลเคียฟกล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวส่งผลมหาศาลต่อสนามรบ

ด้านรัสเซียกล่าวหาว่ายูเครนใช้ขีปนาวุธ ATACMS โจมตีคาบสมุทรไครเมียในเดือน มิ.ย. ที่รัสเซียผนวกเป็นของตนเอง ต่อมาในเดือน ก.ย. กระทรวงกลาโหมสหรัฐ (เพนตากอน) กล่าวว่า รัสเซียย้ายเครื่องบิน 90% ที่ใช้สำหรับยิงระเบิดร่อนและขีปนาวุธโจมตียูเครน ออกไปไกลเกินพิสัยทำการของ ATACMS

ล่วงเข้าเดือน พ.ย. สหรัฐอนุญาตให้ยูเครนยิง ATACMS เล่นงานบางเป้าหมายในรัสเซีย เป้าหมายแรกคือฐานทัพในภูมิภาคไบรอันส์ก นับถึงขณะนี้ยูเครนมี ATACMS จำนวนจำกัด ลูกหนึ่งราคากว่า 1 ล้านดอลลาร์

  • สตอร์มแชโดว์

ขีปนาวุธร่อนพัฒนาโดยสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส รู้จักกันในชื่อ SCALP พิสัยทำการสูงสุดราว 250 กม. ปกติยิงจากเครื่องบินและบินในระดับต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ

สตอร์มแชโดว์ผลิตโดยเอ็มบีดีเอ บรรษัทข้ามชาติยุโรป มีความแม่นยำสูงจากระบบนำทางล้ำสมัย มีประสิทธิภาพในการทะลุทะลวงบังเกอร์และคลังกระสุนอันแข็งแกร่ง แต่ละลูกราคาเกือบ 1 ล้านดอลลาร์

ทางการรัสเซียกล่าวว่าสะพานสำคัญเชื่อมไครเมียกับภูมิภาคเคอร์ซอนของยูเครนที่รัสเซียยึดครอง ถูกโจมตีด้วยสตอร์มแชโดว์เมื่อเดือน มิ.ย.2023 แต่ยูเครนไม่ได้อ้างเรื่องนี้โดยตรง

บลูมเบิร์กรายงานว่า ยูเครนอาจใช้สตอร์มแชโดว์โจมตีฐานทัพเรือทะเลดำของรัสเซียในเขตยึดครองไครเมียด้วยเมื่อเดือน ก.ย.2023

เดือนนี้อังกฤษอนุญาตให้ยูเครนใช้สตอร์มแชโดว์ทำลายเป้าหมายในรัสเซียได้ ไม่กี่วันต่อมามีการพบเศษซากสตอร์มแชโดว์ในภูมิภาคคูร์สก์ของรัสเซียทางตะวันตกเฉียงเหนือของยูเครน

เนปจูน

อาร์-360 เนปจูน เป็นขีปนาวุธร่อนต่อต้านเรือผลิตโดยยูเครน ต่อมามีรุ่นใหม่ใช้โจมตีภาคพื้นดิน พิสัยทำการ 300 กม.ยิงได้จากเรือ เครื่องบิน และฐานยิงภาคพื้นดิน

รัฐบาลเคียฟเคยใช้เนปจูนโจมตีเรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธ Moskva ของรัสเซียจมลงในเดือน เม.ย.2022 กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การต่อต้านนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้รัฐบาลเคียฟยังใช้เนปจูนและโดรนทางทะเลผลิตโดยยูเครนชนิดอื่นๆ ทำลายเรือรัสเซียอีกหลายลำ บีบให้มอสโกต้องถอนกองเรือทะเลดำออกไปไกลพอให้ยูเครนกลับมาส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดได้อีกครั้ง

พาเลียนิตเซีย (Palianytsia)

อาวุธยิงจากพื้นดินใหม่สุดของยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีเพิ่งเปิดตัวเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา เป็นอาวุธพิสัยไกลผสมระหว่างโดรนกับขีปนาวุธออกแบบมาให้โจมตีสนามบินลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย รายละเอียดเชิงเทคนิคส่วนใหญ่ยังเป็นความลับ

ขีปนาวุธป้องกันทางอากาศ

ยูเครนพึ่งพาระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศของตะวันตกอย่างหนัก เช่น ขีปนาวุธแพตทริออตและฮอว์กของสหรัฐ, NASAMS ของนอร์เวย์, Iris-T พัฒนาโดยกลุ่มบริษัทยุโรปนำโดยเยอรมนี และSAMP/T พัฒนาโดย MBDA ที่มีฐานปฏิบัติการในฝรั่งเศส

แพตทริออตของสหรัฐนั้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประสิทธิภาพสูง เปิดให้ยูเครนยิงขีปนาวุธ Kinzhal และ Zirkon ที่รัสเซียอ้างว่าไม่มีทางตรวจจับได้

ตอนนี้ยูเครนต้องการระบบป้องกันขีปนาวุธเพิ่มมากขึ้น เช่น THAAD และ

Aegis เพื่อช่วยป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกลของรัสเซีย เช่น โอเรชนิกที่โจมตีเมืองดินิโปรของยูเครนเมื่อวันที่ 21 พ.ย.

  •  คลังแสงรัสเซีย

โอเรชนิก (Oreshnik)

ขีปนาวุธพิสัยปานกลางออกแบบมาด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ในขีปนาวุธข้ามทวีปของรัสเซีย สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นการโจมตีเมืองดินิโปรจึงถูกตีความว่า เป็นการเตือนชาติตะวันตกให้ตระหนักว่ารัสเซียพร้อมใช้อาวุธทรงพลังมากมายที่มีในคลังแสง

โอเรชนิกอาจมีพิสัยถึง 5,000 กม. ครอบคลุมยุโรปเกือบทั้งหมดและชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐเมื่อยิงจากดินแดนรัสเซีย

Kh-101

รัสเซียมีขีปนาวุธร่อนจำนวนมาก ขึ้นต้นด้วย“Kh” แตกต่างกันไปตามความเร็ว ยิงได้จากเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ลอยไปได้หลายร้อยกิโลเมตรในดินแดนรัสเซีย

ยูเครนรายงานเป็นประจำว่า ยิงขีปนาวุธ Kh-59/69 และKh-101 ได้เป็นโหลช่วงถูกระดมโจมตีครั้งใหญ่

Iskander-M

ขีปนาวุธพิสัยสั้นขนส่งทางถนนพิสัยทำการ 500 กิโลเมตร รัสเซียมักใช้โจมตียูเครนอย่างถึงแก่ชีวิต โดยยิงจากดินแดนรัสเซียบริเวณใกล้ชายแดน เครื่องปล่อยยิงอิสกันเดอร์หนึ่งเครื่องบรรทุกขีปนาวุธได้สองลูก

Kinzhal

คินชาล แปลว่า กริช เป็นขีปนาวุธยิงจากอากาศรุ่นใหม่ เดินทางเร็วกว่าเสียง 10 เท่า ตรวจจับได้ยาก รัสเซียใช้อาวุธชนิดนี้ครั้งแรกในเดือน มี.ค.2022 ไม่กี่สัปดาห์หลังรุกรานยูเครนและใช้มาอย่างต่อเนื่อง

คินชาลผลิตโดยรอสเทค บริษัทโฮลดิงของรัฐ เริ่มผลิตจำนวนมากในปี 2023

Tochka-U

ขีปนาวุธทอชการุ่นปรับปรุงใหม่ พิสัยทำการสูงสุด 120 กม. อาวุธยุคสหภาพโซเวียตชนิดนี้ถูกออกแบบมาให้โจมตีเป้าหมายเชิงยุทธวิธี เช่น ศูนย์บัญชาการ, สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็มีทอชกาซึ่งเลิกผลิตแล้วสำรองไว้ในคลังแสงและนำมาใช้บ่อยครั้งในความขัดแย้ง

ระเบิดร่อน

เป็นอาวุธยิงจากอากาศราคาค่อนข้างถูก รัสเซียจึงใช้บ่อยเพื่อโจมตีทหารแนวหน้าและพื้นที่เขตเมือง เช่น เมืองคาร์คีฟ สร้างความเสียหายมหาศาลผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนประกอบระเบิดมีมาตั้งแต่ยุคโซเวียต จากนั้นติดตั้งระบบปีกและจีพีเอสเพื่อยกระดับพิสัยทำการและความแม่นยำ

ขีปนาวุธป้องกันทางอากาศ

ระบบป้องกันภัยทางอากาศเคลื่อนที่ระยะไกล S-400 ถือเป็นเสาหลักของรัสเซียระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีขีปนาวุธและเครื่องบิน เริ่มใช้งานในปี 2007 แต่ยังคงถือเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของรัสเซีย

รุ่นทันสมัยกว่าคือ S-500 รัสเซียมีในคลังแสงมาสามปีแล้ว พิสัยทำการไกลขึ้น และทำงานร่วมกับขีปนาวุธเหนือเสียงได้ รัสเซียใช้ระบบเหล่านี้เพื่อมั่นใจได้ว่าสามารถตรวจพบภัยคุกคามที่กำลังเข้ามาได้เมื่อหน่วยหนึ่งของระบบถูกโจมตี