อนาคต ‘บริษัทน้ำมัน’ ยุคทรัมป์ 2.0 อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
การที่โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวทางสนับสนุนกลุ่มพลังงานเก่าอย่างน้ำมันและก๊าซ อาจทำให้ชวนเข้าใจได้ว่าชัยชนะยุคทรัมป์ 2.0 จะนำมาซึ่งความรุ่งโรจน์ของขั้วพลังงานเก่าอย่างฟอสซิลอีกครั้ง
การที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสมัยที่สองของสหรัฐ มีแนวทางสนับสนุนกลุ่มพลังงานเก่าอย่างน้ำมันและก๊าซ และไม่ค่อยสนับสนุนแนวทางการลดโลกร้อนทั้งในระดับชาติและเวทีระหว่างประเทศ อาจทำให้ชวนเข้าใจได้ว่าชัยชนะของยุคทรัมป์ 2.0 จะนำมาซึ่งความรุ่งโรจน์ของขั้วพลังงานเก่าอย่างฟอสซิลอีกครั้ง
ความหวังของบริษัทน้ำมันถูกกระตุ้นมาตลอดช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา เมื่อทรัมป์ปลุกผีวลีเด็ด “Drill, baby, drill!” ที่แปลได้ว่า ขุดลูกขุด! หรือขุดมันเข้าไป! ขึ้นมาอีกครั้ง คำนี้เคยถูกสมาชิกพรรครีพับลิกันใช้หาเสียงในปี 2008 เพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่ม ก่อนจะถูกทรัมป์นำมาใช้อีกครั้งในการหาเสียงเลือกตั้งปีนี้
ทิศทางนี้ยิ่งเริ่มเห็นชัดเจนเป็นตัวเลขมากกว่าขึ้นเมื่อ “สก็อตต์ เบสเซนต์” ว่าที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐพูดถึงในนโยบาย 3-3-3 คือ จะลดการขาดดุลการคลัง 3% จะเพิ่มจีดีพีสหรัฐให้ขยายตัว 3% และ“จะเพิ่มการผลิตน้ำมันของสหรัฐอีก 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน”ในยุครัฐบาลทรัมป์ 2.0
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายสำนักและแม้แต่ “บริษัทน้ำมันเอง” เริ่มออกมาส่งสัญญาณกันแล้วว่าเรื่องนี้อาจทำจริงได้ยาก และไม่น่าจะใช่ข่าวดีของอุตสาหกรรมน้ำมันแต่อย่างใด
หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัล (WSJ) ระบุถึงความท้าทายประการแรกว่า การจะโน้มน้าวให้บริษัทน้ำมันและก๊าซผลิตน้ำมันเพิ่ม ซึ่งเทียบเท่าระดับมากกว่า 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั้งหมดของสหรัฐในปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
อุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบจากการผลิตน้ำมันส่วนเกินมานานหลายปีในช่วงที่น้ำมันจากชั้นหินดินดาน (เชลล์ออยล์) เฟื่องฟู ซึ่งในขณะนั้นมีการแข่งขันกันอย่างหนักจนเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ทำให้ราคาตกต่ำ และนักลงทุนก็ดูจะไม่ยอมทนกับเรื่องแบบนี้อีก นักลงทุนต้องการผลตอบแทนเป็นเงินมากกว่าการผลิตเพิ่ม ซึ่งบรรดาผู้บริจาครายใหญ่ให้ทรัมป์ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซต่างก็ส่งสัญญาณกดดันแล้วว่า ไม่สนับสนุนแนวทางนี้ของทรัมป์
จากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแคนซัสซิตี้พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทพลังงานในสหรัฐต้องการให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ซื้อขายอยู่ที่ระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถได้กำไรจากการขุดเจาะน้ำมัน และหากราคาขึ้นไปถึง 89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ก็จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตและขุดเจาะขึ้นได้อย่างมาก
ทว่าด้วยราคาน้ำมันในปัจจุบันที่อยู่ต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้บริษัทขุดเจาะแทบไม่มีแรงจูงใจที่จะผลิตน้ำมันเพิ่ม
แกรี รอสส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทแบล็ก โกลด์ อินเวสเตอร์ มองว่าทรัมป์สามารถช่วยบริษัทน้ำมันลดต้นทุนและอุปสรรคต่างๆ ได้ เช่น การยกเลิกกฎระเบียบการปล่อยก๊าซมีเทน และทำให้การขอใบอนุญาตขุดเจาะบนที่ดินของรัฐบาลกลางง่ายขึ้น การเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจช่วยลดจุดคุ้มทุนลงมาได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความแตกต่างขนานใหญ่เพื่อจูงใจการผลิตน้ำมันเพิ่ม
นอกจากนี้ แนวคิดในการลดราคาและส่งเสริมให้ผลิตเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน ยังเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันเองด้วย
ส่วนแนวคิดอื่นๆ ก็ดูจะไร้ประโยชน์หรือไม่เป็นที่นิยมทางการเมือง แดน พิคเคอริง หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของบริษัทพิคเคอริง เอ็นเนอร์จี พาร์ทเนอร์ส ยกตัวอย่างว่า รัฐบาลอาจเสนอรับซื้อน้ำมันในราคาที่น่าดึงดูดเพื่อสำรองเพิ่มเติมในคลังน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ แต่วิธีนี้จะทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นมากในช่วงแรก
ความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือ การใช้มาตรการทางภาษีลงโทษบริษัทผู้ผลิตที่ไม่นำกำไรส่วนหนึ่งกลับไปลงทุนในธุรกิจ แต่วิธีนี้อาจไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากในอุตสาหกรรมน้ำมัน ส่วนแนวทางการลดอุปทานน้ำมันออกจากตลาด เช่น การใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลาให้เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม อาจช่วยกระตุ้นการผลิตของสหรัฐได้ แต่ก็จะไม่ช่วยเรื่องการลดต้นทุนราคา
ขณะเดียวกันยังต้องไม่ลืมคิดด้วยว่า แผนการผลิตน้ำมันและก๊าซเพิ่มขึ้นของเบสเซนต์ จะสอดคล้องไปด้วยกันกับแผนที่ต้องการลดการขาดดุลของรัฐบาลกลางสหรัฐหรือไม่
ข้อจำกัดประการหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐก็คือ สหรัฐมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แม้ว่ารัฐบาลจะช่วยสนับสนุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานท่อส่งน้ำมัน แต่บริษัทน้ำมันก็จะไม่ลงทุนขยายกำลังท่อส่งน้ำมันหรือผลิตเพิ่ม หากไม่มีสัญญาลูกค้าในระยะยาวที่น่าดึงดูดใจมากพอ
และหากจะใช้วิธีลดการนำเข้าน้ำมันดิบให้น้อยลงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ทรัมป์เพิ่งประกาศเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ในวันแรกที่เข้าทำงาน เขาจะขึ้นภาษีศุลกากรกับแคนาดาและเม็กซิโก 25% ซึ่งรวมถึงสินค้าในกลุ่มน้ำมันและก๊าซด้วย ทว่าโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐส่วนใหญ่เหมาะสำหรับน้ำมันดิบมวลหนักซึ่งต้องนำเข้า ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐ ไม่ใช่น้ำมันดิบเบาที่ผลิตในประเทศ และปัจจุบันสหรัฐนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากสองประเทศนี้มากถึง 63% จากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้ทั้งหมด
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ หากการผลิตพลังงานเพิ่มขึ้นมาก มีแนวโน้มสูงที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกลดลง หากเป็นเช่นนั้น รายรับด้านภาษีจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซก็จะลดลงตามไปด้วย
พิคเคอริงกล่าวเสริมว่า ราคาน้ำมันอาจลดลงเหลือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากสหรัฐเพิ่มการผลิต 3 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 5 ปีข้างหน้า แม้จะมีการชดเชยได้จากอุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นตาม และอาจช่วยให้รัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันได้มากขึ้น แต่แนวทางนี้ดูจะไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาการขาดดุลของรัฐบาล
แนวทาง 3-3-3 อาจเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่หวือหวา ทว่าเข้าใจง่ายและขายได้คล่อง แต่การทำได้จริงนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย และแม้แต่กลุ่มพันธมิตรของทรัมป์ในอุตสาหกรรมน้ำมันก็อาจไม่ซื้อเช่นกัน