จีนคว้าพวงมาลัยการทูตโลก เล่นบทนำ ‘เจรจาพหุภาคี’ ปรับแกนอำนาจ

จีนคว้าพวงมาลัยการทูตโลก เล่นบทนำ ‘เจรจาพหุภาคี’ ปรับแกนอำนาจ

"สี จิ้นผิง" ฉวยโอกาสเล่นบทนำในการเจรจาแบบพหุภาคคี (Multilateralism) หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ให้ความสำคัญกับเอกภาคีนิยม (Unilateralism) มากขึ้น

ขณะที่นโยบาย "America First" ของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐให้ความสำคัญกับการลด “บทบาทนำ” ของสหรัฐกับทั้งโลก ดูเหมือนจีนภายใต้สี จิ้นผิงพร้อมที่จะฉวยโอกาสนี้

ย้อนกลับไปในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ประเทศบราซิล สีเผยแนวคิดที่ค่อนข้างทะเยอทะยานเกี่ยวกับการพัฒนารวมทั้งการกำกับดูระเบียบโลกที่มุ่งเน้นการสนับสนุนกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South)

ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงฝันอันยิ่งใหญ่มากของปักกิ่งในการเป็นผู้สนับสนุนการเจรจาทางการทูตแบบ “พหุภาคีนิยม” ในโลกที่กำลังเผชิญกับการแบ่งขั่วรุ่นแรงมากขึ้น

จีนคว้าพวงมาลัยการทูตโลก เล่นบทนำ ‘เจรจาพหุภาคี’ ปรับแกนอำนาจ

ปักกิ่งในฐานะผู้นำ ‘พหุภาคีนิยม’

แนวคิดของสีที่ประกาศออกมาในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ผ่านมาครอบคลุมตั้งแต่การเพิ่มการเงินเพื่อการพัฒนาไปจนถึงความร่วมมือในด้านพลังงานสีเขียว ทั้งสองเป็นเพียงตัวอย่างล่าสุดของการพยายามสร้าง “พันธมิตร” ของจีนกับกลุ่มประเทศอื่น ขณะที่สหรัฐมุ่งหน้าไปสู่ “ลัทธิแยกตัว” (Isolationism) ภายใต้อิทธิพลของวาทกรรมกีดกันทางการค้าของทรัมป์ ปัจจุบันจีนพยายามแสดงวิสัยทัศน์ทางเลือกสำหรับระเบียบโลกในปัจจุบันซึ่งมีรากฐานมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันและความเป็นปึกแผ่นของประเทศในกลุ่มโกลบอลเซาท์

เห็นได้ชัดเจนว่าปักกิ่งกำลังตรึงบทบาทการนำของตัวเองผ่านเวทีเจรจาแบบพหุภาคีที่จะจัดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยสีวางบทบาทของจีนไว้ว่าเป็นแรงขับที่สร้างเสถียรภาพท่ามกลางแนวโน้มการถอนตัวจากกลุ่มความร่วมมือต่างๆ ของสหรัฐ

ในปี 2025 ปักกิ่งจะเป็นประธานการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลาง (China-Central Asia Summit) ครั้งที่สองซึ่งจะจัดขึ้นในคาซัคสถาน

หัวใจสำคัญของความพยายามนี้คือ “ปฏิทินการทูต” ที่แน่นขนัดของจีน ในปี 2025 จีนจะเป็นประธานการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลางครั้งที่สองที่จัดขึ้นในคาซัคสถาน การประชุมทั้งสองเน้นย้ำถึงอิทธิพลของจีนในยูเรเชียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภูมิภาคสำคัญซึ่งมีผลต่อความสำเร็จของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และความมั่นคงชายแดนในประเทศ

ความสัมพันธ์จีน-อินเดีย จ่อฟื้น ?

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย อินเดีย อิหร่าน ปากีสถาน รัฐในเอเชียกลางหลายรัฐ และล่าสุดคือเบลารุส ให้โอกาสปักกิ่งในการถ่วงดุลอิทธิพลด้านความมั่นคงของสหรัฐ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
(NATO) โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่อิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียลดลงภายใต้แรงกดดันของความขัดแย้งในยูเครน และในอนาคตอันใกล้อาจเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-จีนฟื้นตัวขึ้นจากการประชุมในครั้งนี้

ในขณะเดียวกัน การประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลางที่เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2023 ที่ซีอาน แสดงให้เห็นถึง “ความไว้วางใจเชิงยุทธศาสตร์” ระหว่างรัสเซีย-จีนที่ลึกซึ้งขึ้น โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลของจีนสู่อดีตกลุ่มประเทศเอเชียกลางซึ่งเคยอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซีย และความสามารถของจีนในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำผ่านการส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับประเทศที่มีความสำคัญด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ

อิทธิพลที่เติบโตขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

นอกเหนือจากยูเรเชีย จีนกำลังขยายอิทธิพลของตัวเองไปยังภูมิภาคสำคัญอื่นๆ ปักกิ่งประกาศในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งล่าสุดว่าจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2026 ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมเพิ่มเติมได้แก่เกาหลีใต้ (2025) และเวียดนาม (2027) ภายใต้ฉันทามติร่วมของ APEC ในการสู่การเปิดเสรีทางการค้าและริเริ่มเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วชายขอบแปซิฟิก (Pacific Rim)

ในปีเดียวกัน จีนมีกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดจีน-รัฐอาหรับครั้งที่สอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในตะวันออกกลาง และอาจค่อยๆ นำไปสู่กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งหรือการบูรณะหลังความขัดแย้งในภูมิภาค

น่าสังเกตว่า รัฐบาลของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางและโลกอาหรับกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในเป็นหุ้นส่วนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพลังงานของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมในโครงการ BRI และการค้าขายในสกุลเงินหยวนที่ขยายตัว

มากไปกว่านั้น หลังจากการประชุมสุดยอดจีน-แอฟริกาที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในปีนี้ ณ กรุงปักกิ่ง การประชุมสุดยอดจีน-แอฟริกาจะจัดขึ้นในปี 2027 ที่สาธารณรัฐคองโก โดยจีนจะเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของตัวเองต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับแอฟริกา ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความพยายามในการส่งเสริมโกลบอลเซาท์เพื่อถ่วงดุลสถาบันที่นำโดยตะวันตก

แม้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยขนบธรรมเนียมทางการทูตก็อาจคาดการณ์ได้ว่า จีนอาจเป็นเจ้าภาพฟอรั่ม BRI ครั้งที่สามในปี 2025 และการประชุมสุดยอด BRICS ในปี 2027 โดยเฉพาะอย่างยิ่งBRICS+ หลังจากความพยายามอย่างแรงกล้าของรัสเซียในการผลักดันระบบการเงินระหว่างประเทศทางเลือกในการประชุมสุดยอด BRICS ปีนี้ที่คาซาน

ท่าทีดังกล่าวอาจทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการผลักดันริเริ่มการลดการใช้ดอลลาร์ (De-dollarization) เนื่องจากกลุ่มประเทศ BRICS รวมถึงสมาชิกและหุ้นส่วนใหม่อยู่ในช่วงสำรวจทางเลือกการชำระเงินที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การครอบงำของดอลลาร์สหรัฐ

ประกอบกับ การประชุมเหล่านี้มอบโอกาส “แบบไร้คู่แข่ง” ให้แก่จีนในการรักษาตำแหน่งของตัวเองในฐานะจุดศูนย์กลางของโกลบอลเซาท์และผู้นำการเจรจาทางการทูตแบบพหุภาคีนิยม

การติดต่อกับลาตินอเมริกา

การเยือนประเทศของสี จินผิง ในบราซิลและเปรูระหว่างการประชุมสุดยอด G20 และ APEC ยังแสดงให้เห็น “ปริมาณของความเต็มใจ” ที่ปักกิ่งต้องการจะไปเยือนประเทศดังกล่าวเพื่อรักษาอิทธิพลของตัวเองในละตินอเมริกา

นอกจากนี้ การเปิดท่าเรือ Chancay Port ของสี จินผิงในเปรู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคที่สำคัญ พร้อมกับการประชุมกับผู้นำชาวลาตินอเมริกาหลายคนนอกรอบ อาจเปิดทางสำหรับการยกระดับฟอรั่ม China-CELAC (ประชาคมรัฐลาตินอเมริกาและแคริบเบียน) ไปสู่การเจรจาระดับสุดยอด การเคลื่อนไหวเช่นนี้จะทำให้จีนมีส่วนร่วมแบบแนบแน่นมากขึ้นในภูมิภาคที่เคยถือว่าอยู่ในอิทธิพลของสหรัฐอย่างชัดเจน

จีนคว้าพวงมาลัยการทูตโลก เล่นบทนำ ‘เจรจาพหุภาคี’ ปรับแกนอำนาจ

ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่เติบโตขึ้นของจีนในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งสำหรับหลายประเทศในลาตินอเมริกา โดยการมีส่วนร่วมที่ขยายตัวมากขึ้นเช่นนี้จะเสริมอำนาจให้จีน โดยให้อำนาจการต่อรองที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับท่าทีของทรัมป์ที่กดดันกลุ่มประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งท้าทายอิทธิพลของสหรัฐในซีกโลกตะวันตก

จีนเสนอระเบียบโลกทางเลือกแทนสหรัฐ

การเข้ามาของทรัมป์ในสมัยแรกเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นปรปักษ์ต่อการเจรจาแบบพหุภาคี  ตั้งแต่การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงการลดความสำคัญขององค์การการค้าโลก ดังนั้นการกลับมาของทรัมป์ในครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายคล้ายเดิม รวมถึงความตึงเครียดทางการค้าและเทคโนโลยีกับจีนที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเน้นความสำคัญของการการดำเนินนโยบายแบบเอกภาคีนิยม (Unilateralism) มากขึ้น

แต่ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าและการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีของทรัมป์สร้างความเสี่ยงที่ชัดเจนต่อปักกิ่ง ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสเช่นกัน กล่าวคือมาตรการดังกล่าวเสริมความแข็งแกร่งของความสอดคล้องทางเศรษฐกิจและการเมืองกับกลุ่มประเทศโกลบอลเซาท์ จีนสามารถนำเสนอตัวเองเป็นหุ้นส่วนที่น่าเชื่อถือสำหรับประเทศต่างๆ ที่ผิดหวังกับพฤติกรรมที่ไม่คงเส้นคงวาของสหรัฐภายใต้ทรัมป์

ทั้งนี้ นักวิชาการส่วนหนึ่งวิจารณ์ว่า การเป็นพหุภาคีของจีนยังห่างไกลจากการเสียสละอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยชี้ให้เห็นว่าปักกิ่งมักผูกมัดความช่วยเหลือและการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนากับความจงรักภักดีทางการเมือง โดยเฉพาะในบริบทของประเด็นที่ถกเถียง เช่น ไต้หวัน

นอกจากนี้ บางประเทศในกลุ่มโกลบอลเซาท์กำลังระมัดระวังกับประเด็น“กับดักหนี้” เนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และระยะยาวภายใต้ BRI ซึ่งปรากฏว่าทำให้ประเทศเช่นศรีลังกาและแซมเบียตกอยู่ในวิกฤตทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จาก ThinkChina แม็กกาซีนออนไลน์สัญชาติสิงคโปร์ แสดงความคิดเห็นว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง เสน่ห์ของการสนับสนุนทางการเงินและความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีนนั้นมีมากกว่าความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีทางเลือกที่เทียบเคียงจากประเทศตะวันตก

จีนคว้าพวงมาลัยการทูตโลก เล่นบทนำ ‘เจรจาพหุภาคี’ ปรับแกนอำนาจ

ท้ายที่สุด แรงขับเคลื่อนของจีนสู่การเป็นผู้นำด้านการเจรจาพหุภาคีสะท้อนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือจีนเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่สหรัฐทิ้งไว้ ในขณะเดียวกันก็เสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายในท่ามกลางความสงสัยทั่วโลก และสำหรับปักกิ่งแล้วประโยชน์ของกลยุทธ์นี้มีสองประการ

ประเด็นแรก คือการเจรจาลักษณะนี้ทำให้จีนเป็นผู้นำในการกำหนดอนาคตของระเบียบโลก โดยเฉพาะในประเด็นการค้าเสรี โครงสร้างพื้นฐาน ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้าในยุคทรัมป์โดยการเสริมความสัมพันธ์กับตลาดในเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง

ขณะที่โลกเตรียมพร้อมสำหรับนโยบายแบบแยกตัวของทรัมป์ที่อาจกลับมา การผลักดันของจีนเพื่อความร่วมมือพหุภาคีเป็นการเตือนถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขความท้าทายร่วมกัน แม้ว่าแนวทางดังกล่าวอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ความพยายามของปักกิ่งในการระดมทัพกลุ่มประเทศโกลบอลเซาท์กลับสะท้อนพลวัตของอำนาจที่กำลังวิวัฒไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปที่สหรัฐจะครอบงำบทบาทผู้นำโลกอยู่เพียงผู้เดียว

ไม่ว่า “ทำเนียบขาว” จะเลือกกลับเข้ามามีส่วนร่วมหรือถอยห่างออกไปสู่การแยกตัวมากขึ้นในช่วงปีข้างหน้า สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ โมเมนตัมพหุภาคีของจีนไม่มีทีท่าว่าจะชะลอลง