อิทธิพลของ ‘Sex and the City’ กับการสร้างนิยามใหม่ของคนโสด

ซีรีส์ตราตรึงใจคนยุค 90 “Sex and the City” ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องราวความรักในมหานครนิวยอร์ก แต่ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางวัฒนธรรมในยุคนั้น และสร้างนิยามใหม่ของคนโสดตั้งแต่นั้นมา

เมื่อ“ Sex and the City” เปิดตัวในปี 1998 ซีรีส์นี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องราวความรักในมหานครนิวยอร์ก แต่ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางวัฒนธรรมในยุคนั้น ด้วยการนำเสนอภาพตัวละครหญิงที่มีอิสระทางความคิดและการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบแบบดั้งเดิม

ตัวละครหลักทั้ง 4 ได้แก่ แคร์รี, มิแรนดา, ชาร์ล็อตต์, และซาแมนธา ได้ถ่ายทอดภาพของผู้หญิงวัย 30+ ที่มีความมั่นใจในตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างอิสระ มีความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด และยังคงสถานะโสด

Sex and the City ไม่ได้เป็นแค่ซีรีส์ แต่กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ผลักดันให้ผู้หญิงตั้งคำถามเกี่ยวกับนิยามความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการแต่งงาน ซีรีส์นี้ช่วยปลดล็อกแนวคิดที่ว่า ความโสดไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง แต่เป็นโอกาสในการค้นหาตัวเองและสร้างชีวิตในแบบที่ต้องการ

ในช่วงยุค 1990-2000 ผู้หญิงอเมริกันเริ่มบุกเบิกวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ไม่ได้ยึดโยงกับการแต่งงาน แต่กลับให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองในด้านอาชีพ การศึกษา และการค้นหาความสุขส่วนตัว ซีรีส์นี้ทำให้แนวคิดเรื่องการโสดในฐานะทางเลือกชีวิต เริ่มได้รับการยอมรับในสังคม และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงในหลายประเทศมองเห็นความเป็นไปได้ของการสร้างเส้นทางชีวิตในแบบของตัวเอง

แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงโสดในสังคม

ปัจจุบันความโสดไม่ใช่สถานะที่ถูกตีตราอีกต่อไป แต่กลายเป็นทางเลือกที่ผู้หญิงหลายคนยอมรับและภาคภูมิใจ โดยในปี 2021 มีผู้หญิงอเมริกันที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือแยกกันอยู่มีถึง 52% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังมีจำนวนมากกว่าผู้ชายโสดอีกด้วยจากการสำรวจของ Pew Research Center ในปี 2019 พบว่า มีเพียง 38% ของผู้หญิงโสดที่กำลังมองหาความสัมพันธ์ เทียบกับผู้ชายที่มีถึง 61%

การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงความก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจ ผู้หญิงยุคใหม่มีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น อัตราการมีส่วนร่วมในแรงงานของผู้หญิงในวัยทำงาน (25–54 ปี) พุ่งสูงถึง 78.4% ในปี 2024 นอกจากนี้ อายุเฉลี่ยของการแต่งงานครั้งแรกของผู้หญิงอเมริกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 20.8 ปี ตั้งแต่ปี 1970 เปลี่ยนไปเป็น 28.3 ปี ในปี 2023

อิทธิพลของ ‘Sex and the City’ กับการสร้างนิยามใหม่ของคนโสด

การเปลี่ยนแปลงบทบาททางเศรษฐกิจ

ในอดีต โมเดลเศรษฐกิจครอบครัวที่ผู้ชายเป็นผู้นำในการหาเงิน ออกไปทำงานนอกบ้าน และผู้หญิงรับบทเป็นแม่บ้าน เคยถูกมองว่าเป็นบรรทัดฐานสังคมที่พึงปฏิบัติ แต่ในปัจจุบัน ผู้ชายจำนวนมากสูญเสียบทบาทผู้นำตามขนบดังกล่าว พิจารณาได้จากอัตราการมีส่วนร่วมในแรงงานของผู้ชายลดลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ในทางกลับกัน ผู้หญิงมีความก้าวหน้ามากขึ้นในด้านการศึกษาและอาชีพ

อย่างไรก็ตาม "ช่องว่างรายได้ยังคงมีอยู่" โดยผู้หญิงในสหรัฐมีรายได้เฉลี่ยเพียง 0.84 ดอลลาร์ ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ ที่ผู้ชายได้รับ แม้ว่าผู้หญิงเริ่มเป็นกลุ่มที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่าผู้ชายตั้งแต่ปี 2019 ตามข้อมูลของ Pew Research Center

ความโสด: ทางเลือกใหม่ที่สร้างสุข

สำหรับผู้หญิงจำนวนมาก "ความโสดไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงอีกต่อไป แต่เป็นทางเลือกที่สร้างความสุขในชีวิตได้" ผลการวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ผู้หญิงโสดมักมีความสุข สุขภาพดีกว่า และมีอายุยืนยาวกว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ในขณะที่ผู้ชายโสดกลับเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและความเหงา

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบถึงแนวทางการใช้ชีวิตแบบใหม่ เช่น การเป็นพ่อแม่ร่วมกันแบบเพื่อน การอยู่ร่วมกันระหว่างเพื่อน และการสร้างครอบครัวที่มีหลายรุ่นในบ้านเดียวกัน สะท้อนถึงการพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น

จากมุมมองของ “Sex and the City” ซีรีส์ที่ไม่ได้แค่สะท้อนวิถีชีวิตของผู้หญิงในยุคนั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยผลักเพดานให้ผู้หญิงกล้าทำลายกรอบเดิม ๆ และสร้างนิยามใหม่ของความสำเร็จในชีวิต ความโสดจึงไม่ได้เป็นเพียงสถานะชั่วคราว แต่กลายเป็นระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ยั่งยืนตามโลกที่ก้าวไปข้างหน้า