จีนขยายความร่วมมือประเทศด้อยพัฒนา ทำการค้า 'ปลอดภาษีศุลกากร' 0%

จีนขยายความร่วมมือประเทศด้อยพัฒนา ทำการค้า 'ปลอดภาษีศุลกากร' 0%

'จีน' ขยายความร่วมมือกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา เตรียมให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ สวนทางกระแสการขึ้นภาษีศุลกากรในซีกโลกตะวันตก

เว็บไซต์โกลบอลไทม์สรายงานว่า รัฐบาลจีน จะให้ 'สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นศูนย์' แก่ประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด (least developed countries) ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน โดยจะยกเว้นภาษีศุลกากรให้ทั้งหมดแบบ 100% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป

สำหรับสินค้าที่อยู่ภายใต้โควตาภาษี สินค้าภายในโควตาจะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นศูนย์ ในขณะที่อัตราภาษีสำหรับสินค้าที่อยู่นอกโควตาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยคณะกรรมการภาษีศุลกากรของคณะรัฐมนตรีจีนแถลงก่อนหน้านี้ว่า แนวทางดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายการเปิดประเทศแบบฝ่ายเดียวให้กับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดและบรรลุการพัฒนาร่วมกัน

สื่อของทางการจีนรายนี้ระบุว่า จีนนับเป็นประเทศกำลังพัฒนาและเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งแรกในโลกที่ประกาศนโยบายดังกล่าว ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นของปักกิ่งที่จะร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกันแบบวิน-วิน และมอบโอกาสใหม่ๆ ให้กับโลกผ่านการพัฒนาของตนเอง

นโยบายดังกล่าวได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากบริษัทในประเทศด้อยพัฒนาในงาน China International Supply China Expo ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งตั้งแต่วันที่ 26-30 พ.ย. เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านี้ในตลาดจีนได้มากขึ้น

เอ็มมา มูติจิมะ ซีอีโอของบริษัทฟีนิกซ์ เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทด้านการเกษตรจากรวันดา กล่าวว่า บริษัทของเขาจะพิจารณาขยายขนาดการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรไปยังจีนจากนโยบายใหม่นี้ “เรามีทั้งน้ำผึ้ง กาแฟ และพริก และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนเป็นที่ต้องการในจีน เราพยายามส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของรวันดาสู่ตลาดจีน” 

ซ่ง เหว่ย ศาสตราจารย์จากคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต มหาวิทยาลัยการศึกษานานาชาติปักกิ่ง กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสการปกป้องทางการค้าและนโยบายฝ่ายเดียวที่เพิ่มมากขึ้นในโลกตะวันตก การเคลื่อนไหวของจีนในการแบ่งปันโอกาสอย่างแข็งขันกับประเทศอื่นๆ บนพื้นฐานของตลาดขนาดใหญ่ ยังส่งผลดีต่อการส่งเสริมการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและการแบ่งงานกันทำทั่วโลก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ขยายกระบวนการเปิดประเทศ โดยได้ยกเลิกข้อจำกัดการเข้าถึงตลาดทั้งหมดสำหรับนักลงทุนต่างชาติในภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเปิดประเทศ โดยมอบความแน่นอนและโอกาสที่จำเป็นอย่างยิ่งให้กับเศรษฐกิจโลกที่จมอยู่กับการเติบโตที่ซบเซามาหลายปี