‘กฎอัยการศึก’ เกาหลีใต้ ฟางเส้นสุดท้าย พรากเก้าอี้ ‘ปธน.ยุน ซอกยอล’
เผยเหตุผลการประกาศ "กฎอัยการศึก" ของประธานาธิบดียุน ซอกยอล คาด อาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ปธน.ยุนพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งแต่เดิมก็สั่นคลอนอยู่แล้วเพราะเรื่องอื้อฉาวและปมทุจริตของตนเองและภรรยา
ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึกช็อกโลกเมื่อคืนวันอังคาร (3 ธ.ค.) ราว 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ถือเป็นการประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกในรอบ 45 ปี นับตั้งแต่ปี 1979 หลังการลอบสังหารประธานาธิบดีพัค จุงฮี
ปธน.เกาหลีใต้ให้เหตุผลในการประกาศกฎอัยการศึกว่า “เพื่อปกป้องสาธารณรัฐเกาหลีอันเสรีจากภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ และเพื่อขจัดกองกำลังต่อต้านรัฐสนับสนุนเกาหลีเหนือที่กำลังขโมยเสรีภาพและความสุขของประชาชน และเพื่อปกป้องความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญเสรี” แต่ปธน.ไม่ระบุอย่างชัดเจนว่าใครเป็นกองกำลังต่อต้านรัฐที่สนับสนุนเกาหลีเหนือ
กฎอัยการศึกมีข้อกำหนด 6 ประการ ได้แก่
1) ห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท รวมถึงกิจกรรมของรัฐสภา สภาท้องถิ่น พรรคการเมือง สมาคมการเมือง การชุมนุม และการเดินขบวน
2) ห้ามกระทำการใด ๆ ที่ปฏิเสธหรือพยายามโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม และห้ามเผยแพร่ข่าวปลอม บิดเบือนความคิดเห็นของประชาชน และโฆษณาชวนเชื่ออันเป็นเท็จ
3) สื่อและสิ่งพิมพ์ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎอัยการศึก
4) ห้ามการนัดหยุดงาน การก่อวินาศกรรม และการชุมนุมที่ส่งเสริมความวุ่นวายทางสังคม
5) บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน รวมถึงประชาชนที่นัดหยุดงานหรือออกจากวงการการแพทย์แล้ว จะต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติภายใน 48 ชั่วโมง และทำงานด้วยความซื่อสัตย์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎอัยการศึก
6) สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มบ่อนทำลายรัฐ จะมีมาตรการเพื่อบรรเทาความไม่สะดวกในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด
‘สส.’ ปิดฉากกฎอัยการศึก
หลังมีการประกาศกฎอัยการศึก กองทัพเกาหลีใต้ออกมาประกาศระงับกิจกรรมของรัฐสภาทั้งหมด และห้ามไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เข้าอาคาร ด้าน “อี แจ-มยอง” ผู้นำพรรคประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในสภา ไลฟ์สดเรียกประชาชนมารวมตัวกัน และขอให้สส.เข้ารัฐสภาเพื่อลงมติเกี่ยวกับกฎอัยการศึก
จากนั้นทหารและตำรวจออกมาควบคุมพื้นที่นอกอาคารรัฐสภา และเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ด้านนอก ผู้คนตะโกนเรียกร้อง "ยกเลิกกฎอัยการศึก ปกป้องประชาธิปไตย และถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง" ขณะที่สส.บางรายเข้าไปในอาคารได้ยากลำบากจนต้องปีนรั้ว
ด้านโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐเผยว่า ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนทำการติดต่อรัฐบาลเกาหลีใต้ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ปธน.ไบเดน ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใด ๆ
ในที่สุดราว 01.00 น. ซึ่งตรงกับวันพุธ (4 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น รัฐสภาเกาหลีใต้มีมติยกเลิกกฎอัยการศึกด้วยคะแนน 190 เสียง จากทั้งหมด 300 ที่นั่ง และไม่มีผู้ใดคัดค้าน จากนั้นวอน ชิกอู ประธานรัฐสภาประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกจากพื้นที่ ประชาชนเฉลิมฉลองชัยชนะที่สามารถยกเลิกกฎอัยการศึกของปธน.ยุนได้
ด้านกองทัพออกมาประกาศในภายหลังว่า กฎอัยการศึกจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าประธานาธิบดีจะประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายและโกลาหลหลังปธน.ยุนประกาศกฎอัยการศึก สิ้นสุดลงภายในเวลาเพียง 2-3 ช่วงโมง จากนั้นเวลาราว 04.20 น. ประธานาธิบดีออกมาประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการ
ทำไมปธน.ยุนต้องประกาศกฎอัยการศึก
สาเหตุที่ส่งผลให้ประธานาธิบดียุน ซอกยอลประกาศกฎอัยการศึกยังไม่แน่ชัด แต่สื่อต่างๆ ออกมาวิเคราะห์ว่า อาจมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างปธน.และพรรคฝ่ายค้าน
สำนักข่าวอนาโดลู เอเจนซี (AA) เผยว่า หลังประกาศกฎอัยการศึก ปธน.แต่งตั้งพัค อันซู เสนาธิการกองทัพบกเป็นผู้บัญชาการกฎอัยการศึก แม้ปธน.ยุนไม่ได้เปิดรายละเอียดภัยคุกคามเกาหลีเหนือ แต่ยุนได้กล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านทำให้การปกครองหยุดชะงัก จากการดำเนินการฟ้องร้อง การสอบสวนพิเศษ และป้องกันไม่ให้ผู้นำเข้าถึงความยุติธรรม และว่าสมัชชาแห่งชาติ (รัฐสภา) กลายเป็นที่หลบภัยของอาชญากร เป็นแหล่งรวมเผด็จการนิติบัญญัติที่พยายามทำให้ระบบตุลาการและการบริหารหยุดชะงัก และล้มล้างระเบียบประชาธิปไตยเสรี
การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเมื่อเดือนเม.ย. พรรคฝ่ายค้านหลักได้รับชัยชนะ โดยสามารถคว้าที่นั่งได้มากถึง 170 ที่นั่ง จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการอนุมัติร่างกฎหมายต่าง ๆ ของรัฐบาล ขณะที่คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยล่าสุดมีคะแนนความนิยมเพียง 17% เท่านั้น ซึ่งถือว่าตกต่ำสุดนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือน พ.ค. 2565
ปธน.ยุนยังเผชิญกับแรงกดดันจากเรื่องอื้อฉาวและปัญหาคอร์รัปชันหลายรายการ อาทิ รัฐสภาลงมติให้มีการสอบสวน “คิม กอนฮี” สุภาพสตรีหมายเลข 1 ถึง 3 ครั้ง เนื่องจากภรรยาของเขาถูกกล่าวหาว่ามีอิทธิพลต่อการเสนอแคนดิเดตผู้สมัครพรรคพลังประชาชน (PPP) ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป นอกจากนี้นางคิมยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้น และติดสินบนจากการรับของขวัญเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมดิออร์ (Dior) จนทำให้ประธานาธิบดีต้องออกมาแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ ทั้งยังถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล และเมื่อสัปดาห์ก่อนพรรคฝ่ายค้านได้ลงมติถอดถอนอัยการสูงสุดบางคนออกจากตำแหน่ง และปฏิเสธข้อเสนองบประมาณของรัฐบาล
นอกจากปธน.มีความขัดแย้งกับพรรคฝ่ายค้านแล้ว เขายังมีความขัดแย้งกับ “ฮัน ดงฮุน” หัวหน้าพรรค PPP ด้วย ซึ่งเป็นผู้ที่มองว่าการสอบสวนภรรยาของเขาเป็นการฟื้นความเชื่อมั่นจากประชาชน และเมื่อเดือนพ.ย. ยุน ซอกยอล ละเลยหน้าที่เสนองบประมาณด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีที่ปธน.ไม่เข้าร่วมแถลงงบประมาณในรัฐสภา
รัฐบาลของยุนยังถูกมองด้วยว่า พยายามกดดัน “อี แจ-มยอง” ผู้นำฝ่ายค้านในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งกำลังเผชิญกับคดีมากมาย รวมถึงคดีฟอกเงินในเกาหลีเหนือ
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เมื่อปธน.ยุนเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในหลายด้าน เขาจึงเลือกใช้วิธีที่สุดโต่งที่หลายคนไม่ได้คาดคิด
เซเลสเต อาร์ริงตัน ผู้อำนวยการสถาบันเกาหลีศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน เผยว่า มีนักสังเกตการณ์หลายคนกังวลเกี่ยวกับวิกฤติทางการเมืองจากความขัดแย้งระหว่างปธน.และสมัชชาแห่งชาติในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่คาดว่าวิธีสุดโต่งอาจถูกนำมาใช้ เช่น กฎอัยการศึกที่ปธน.ประกาศเมื่อวันอังคาร
เลฟ-อีริก อีสลีย์ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาในกรุงโซล บอกว่า ปธน.ควรทราบว่าการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันอังคารอาจสร้างความยากลำบากในขณะที่ตนได้รับความนิยมตกต่ำ และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากพรรคและรัฐบาลของเขา
เก้าอี้ปธน.สั่นคลอน
หลังจากประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศยกเลิกกฏอัยการศึก ส.ส.จากแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นร่างกฎหมายถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอกยอล ในวันพุธ (4 ธ.ค.) ขณะที่สหพันธ์สหภาพการค้าเกาหลี ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่สุดของประเทศ เผยว่าสมาชิกจำนวนหลายหมื่นคนจะนัดหยุดงานจนกว่าปธน.ยุนลาออก และอาจมีชุมนุมประท้วงอีกหลายที่
ดร.อีสลีย์เตือนด้วยว่า เกาหลีเหนือที่มีความตึงเครียดกับเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา อาจใช้โอกาสนี้แสวงหาประโยชน์จากความแตกแยกในกรุงโซล
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่าประธานาธิบดียุนมีแผนจะทำอย่างไรต่อไป และยังไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะหลังเกิดความวุ่นวาย
คัง คยองฮวา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ เผยกับรายการบีบีซีนิวส์เดย์ว่า ยุนไม่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะวิธีรับมือปัญหาต่าง ๆ ที่เขาใช้ ซึ่งเป็นปัญหาจากพฤติกรรมของภรรยาและตัวเขาเอง
“ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีว่าจะหาทางออกให้กับปัญหาที่เขาก่อได้อย่างไร” คัง กล่าว
แต่ไม่ว่าปธน.ยุนจะเลือกวิธีใด การประกาศกฎอัยการศึกที่ประสบความล้มเหลวอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่พรากตำแหน่งประธานาธิบดีที่สั่นคลอนไปจากเขา
อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ1, กรุงเทพธุรกิจ2, BBC, AA