ทำไม Oppo จากจีนถึงครองตลาด ‘อาเซียน’ ยืนที่ 1 ใน ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย
ทำไม Oppo สมาร์ทโฟนแบรนด์จีนถึงครองมาร์เก็ตแชร์ในตลาด ‘อาเซียน’ ? ยืนที่ 1 ใน ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไม่ได้มีดีแค่ 'ราคาถูก' แต่เอาตัวรอดใน ‘สงครามราคา’ ด้วยคุณภาพและเทคโนโลยี เป็นแบรนด์แรกที่ทำ AI Phone กระจายฐานการผลิตพร้อมบุกตลาดโลก
KEY
POINTS
- “ออปโป้" ครองมาร์เก็ตแชร์ใน “ไทย” 24% รักษาอันดับหนึ่ง เติบโต 35% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567
- ไม่ได้มีดีแค่ราคาถูก เพราะมีบริการอินเทอร์เน็ต ColorOS และเป็นเจ้าแรกที่ทำ AI Phone
- ได้เปรียบในตลาดใหญ่ "อินโดนีเซีย" ฐานการผลิตอันดับ 2 เมื่อ Apple ที่ถูกสั่งห้ามจำหน่าย iPhone 16
ปัจจุบัน “ออปโป้" (Oppo ) สมาร์ทโฟนแบรนด์จีนครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครองส่วนแบ่งการตลาด 21% ด้วยยอดจำหน่าย 5.1 ล้านเครื่องจากทั้งหมด 25 ล้านเครื่อง และครองมาร์เก็ตแชร์ใน “ไทย” รายงาน Canalys ไตรมาส 3 ครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนไทย 24% รักษาอันดับหนึ่ง เติบโต 35% นอกจากนี้ Oppo ยังครองส่วนแบ่งตลาดในอินโดนีเซีย 22% ในไตรมาสที่ 3 รวมทั้งจีนและอินเดีย
OPPO ได้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในตลาดโลก หลังบุกตลาดสมาร์ทโฟน AI อย่างเต็มรูปแบบด้วยการเปิดตัว AI Phone เครื่องแรกโดยมีสัดส่วนการจัดส่งสินค้าไปยังต่างประเทศคิดเป็น 60% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าตลาดภายในประเทศจีน
นอกจากนี้ Oppo ยังเดินหน้าขยายตลาดเข้าสู่ภูมิภาคเกิดใหม่ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในละตินอเมริกาและแอฟริกา โดย Oppo สามารถขึ้นแท่นเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับที่ 4 ในตลาดเม็กซิโกในไตรมาสที่ 2 ปี 2024 นอกจากนี้ ปี 2024 ยังเป็นปีที่ Oppo เข้าสู่ตลาดบราซิลและอาร์เจนตินาอีกด้วย
Oppo ผู้รอดใน ‘สงครามราคา’
ตลาดสมาร์ทโฟนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2024 เติบโตขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน ยอดส่งมอบเพิ่มขึ้นพร้อมกับ “สงครามราคา” ที่เข้มข้นขึ้นของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระดับกลางถึงล่าง (ราคา 100-300 ดอลลาร์) ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยเน้นการลดราคาและโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า
ราคาขายเฉลี่ยของสมาร์ทโฟนลดลงถึง 4% สาเหตุหลักมาจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่บ่อยครั้ง และการที่สมาร์ทโฟนหลายรุ่นมีสเปคที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องพึ่งพาการลดราคาเพื่อสร้างความแตกต่าง ซึ่งส่งผลให้เกิด "สงครามราคา" ที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและกำไรที่ลดลง
เพื่อแก้ปัญหานี้ ผู้ผลิตหลายรายจึงหันมาปรับกลยุทธ์ โดยการลดจำนวนรุ่นสินค้าและรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์ เพื่อลดต้นทุนและสร้างความชัดเจนในตลาดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น OPPO ที่รวมรุ่น A3x เข้ากับ A3 เพื่อเพิ่มยอดขาย ส่วน Samsung ที่เลือกที่จะไม่เปิดตัวรุ่น A0s เพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างรุ่นต่างๆ
Oppo ไม่ได้มีดีแค่ ‘ราคาถูก’
Oppo ไม่เพียงแต่เน้นการเติบโตด้านปริมาณเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับพรีเมียมควบคู่กันไป โดยล่าสุด Oppo สามารถคว้าตำแหน่งสามอันดับแรกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ราคาสูง (500 ดอลลาร์ขึ้นไป) ในหลายตลาดสำคัญทั่วโลก รวมถึงอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากสมาร์ทโฟนแล้ว Oppo ยังขยายธุรกิจไปสู่บริการอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจรและมอบประสบการณ์ผู้ใช้ที่เหนือกว่า ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน ColorOS คืออินเทอร์เฟซผู้ใช้ (User Interface) ที่ Oppo พัฒนาขึ้นมาเอง โดยอาศัยพื้นฐานจากระบบปฏิบัติการ Android ของ Google ซึ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 700 ล้านคน และมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ของ Oppo เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น App Store, เบราว์เซอร์ หรือ Theme Store สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการสร้างฐานผู้ใช้ที่แข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันในตลาดดิจิทัล
Oppo เป็นแบรนด์แรกที่นำเสนอ AI เชิงสร้างสรรค์ในทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งภายในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าที่จะนำฟีเจอร์ AI ที่น่าสนใจไปให้ผู้ใช้งานทั่วโลกถึง 50 ล้านคน ทำให้ Oppo กลายเป็นผู้นำในการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย
‘ฐานการผลิต’ ทั่วโลก
การเพิ่มยอดขายที่แข็งแกร่ง ต้องมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งด้วย Oppo สร้างฐานการผลิตที่แข็งแกร่งทั่วโลก โดยมีโรงงานผลิตกระจายอยู่ใน 7 ประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในแต่ละภูมิภาคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ Oppo ยังร่วมมือกับพันธมิตรในท้องถิ่น เช่น ในอินโดนีเซีย เพื่อดึงดูดบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ ช่วยเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า Oppo ได้สร้างเครือข่ายการขายและบริการที่ครอบคลุมทั่วโลก ด้วยจุดขายมากกว่า 300,000 แห่ง พนักงานขายที่เชี่ยวชาญ และศูนย์บริการหลังการขายที่พร้อมให้บริการ ทำให้ลูกค้าของ Oppo มั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างดี ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด
Oppo มีฐานการผลิตใน “อินโดนีเซีย” ใหญ่เป็นอันดับ 2 หลังจากที่เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2556 และก่อตั้งโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนแห่งแรกของประเทศในปี 2558 ล่าสุด Oppo เพิ่งขยายและอัปเกรดโรงงานการผลิตในเมืองตังเกอรัง ทางตะวันตกของจาการ์ตา เพื่อผลิตโทรศัพท์ของบริษัทครบทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นประหยัดไปจนถึงรุ่นระดับไฮเอนด์ที่สุด ซึ่งหากเต็มศักยภาพแล้ว โรงงานแห่งนี้จะจ้างพนักงานในท้องถิ่นกว่า 1,000 คน และสามารถผลิตโทรศัพท์ได้ 2 ล้านเครื่องต่อเดือน
ธุรกิจ Oppo เติบโตไปพร้อมกับความพยายามของอินโดนีเซียในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและเสริมสร้างการผลิตในประเทศ โดยอินโดนีเซียออกนโยบายให้บริษัทที่มาลงทุนในประเทศต้องสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่นที่ 35% ของการผลิตทั้งหมด
หนึ่งในนั้นคือ Oppo โดยเจฟรี ฟิร์แมน เดอ ฮาน ผู้อำนวยการศูนย์การผลิตอินโดนีเซียของ OPPO เปิดเผยว่า OPPO มีแผนที่จะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซียมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำคัญสำหรับบริษัทต่างชาติที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศ
ปัจจุบัน Oppo จัดหาแบตเตอรี่ อะแดปเตอร์ สาย USB วัสดุบรรจุภัณฑ์ ซอฟต์แวร์จากในประเทศ โดยมีอัตราส่วนส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศสูงถึง 36-37% สำหรับสมาร์ทโฟน ทะลุเป้าหมายที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดไว้ และมีห้องทดสอบที่ทันสมัยเพื่อควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด ครอบคลุมการทดสอบในด้านต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ สัญญาณ อุณหภูมิ การตก และฝุ่น
เมื่อ Apple หยุดนิ่ง
ตลาดสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซียเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือด โดยผู้เล่นรายใหญ่ เช่น Samsung, Vivo, Xiaomi และ Transsion ต่างก็มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศของรัฐบาลอินโดนีเซีย
แต่ในกรณีของ Apple ที่ถูกสั่งห้ามจำหน่าย iPhone 16 เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการลงทุน สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มงวดของนโยบายนี้ และเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับบริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียยืนยันจุดยืนที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยปฏิเสธข้อเสนอการลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ของ Apple อย่างเด็ดขาด และยังคงยืนยันคำสั่งห้ามจำหน่าย iPhone 16 ต่อไป รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการให้ Apple เพิ่มการลงทุนอีก 10 ล้านดอลลาร์ และต้องการให้ Apple มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในสายการผลิตภายในประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในการผลิตภายในประเทศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกการแบน
ขณะที่ OPPO ได้แสดงความมุ่งมั่นในการลงทุนและผลิตในประเทศแล้ว Apple ยังคงถูกมองว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้กล่าวว่า หาก Apple ยังคงใช้แนวทางเดิมในการลงทุนแบบครั้งเดียวแล้วจบไป ทุกๆ 3 ปี บริษัทจะต้องยื่นข้อเสนอการลงทุนใหม่เสมอ
อ้างอิง canalys gizmochina