เกาหลีใต้ จ่อถอนลงทุน 'โรงงานอีวี' ในสหรัฐ 5.4 พันล้านดอลล์ จากนโยบายทรัมป์ 2.0

เกาหลีใต้ จ่อถอนลงทุน 'โรงงานอีวี' ในสหรัฐ 5.4 พันล้านดอลล์ จากนโยบายทรัมป์ 2.0

นักลงทุนเกาหลีใต้ตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังมีแนวโน้มจะยกเลิกเครดิตภาษี 7,500 ดอลลาร์ต่อคัน ซึ่งอาจกระทบการลงทุนกว่า 5.4 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐ โดยกว่า 50% ของการจ้างงานในสหรัฐมาจากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อีวี

KEY

POINTS

  • ทรัมป์กำลังพิจารณายกเลิกเครดิตภาษียานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเคยประกาศใช้ในช่วงรัฐบาลไบเดนภายใต้ Inflation Reduction Act
  • บริษัทแบตเตอรี่ชั้นนำของเกาหลี เช่น Samsung SDI, LG Energy Solution และ SK On เริ่มชะลอแผนการสร้างโรงงาน 15 แห่ง เนื่องจากกังวลนโยบายของทรัมป์
  • สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดจากปัญหาความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่ลดลง ราคาลิเทียมตกต่ำ และความเป็นไปได้ที่จีนอาจได้รับอนุญาตเข้ามาลงทุนในสหรัฐ
  • บางฝ่ายยังหวังว่าทรัมป์จะไม่ตัดเครดิตภาษี เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐที่บริหารโดยพรรครีพับลิกัน และสหรัฐยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคสำคัญ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (9 ธ.ค.67) ว่า บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้อยู่ในช่วงพิจารณาแผนลงทุนเพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐ มูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.89 แสนล้านบาท) อีกครั้ง เนื่องจากกังวลว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจยกเลิกเครดิตภาษียานยนต์ไฟฟ้า

มากไปกว่านั้น แหล่งข่าววงในของบลูมเบิร์ก เผยว่า บริษัทเกาหลีบางแห่งได้ชะลอหรือหยุดการก่อสร้างโรงงานบางแห่งเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่ลดลงรวมทั้งท่าทีด้านภาษีของทรัมป์ โดย Posco Future M ผู้ผลิตแคโทดให้กับ General Motors Co. ระบุในเอกสารเมื่อเดือนก.ย.ว่าอยู่ในช่วงเลื่อนการก่อสร้างโรงงานในนครควิเบก ประเทศแคนาดาออกไปเนื่องจาก “เหตุผลภายในท้องถิ่น"

เคนนี คิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ SNE Research บริษัทวิจัยในกรุงโซลที่มุ่งเน้นไปที่บริษัทผลิตแบตเตอรี่เกาหลี กล่าวว่า แม้บริษัทจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ แต่ผู้ประกอบการจากเกาหลีใต้จำนวนมากเริ่มกังวล "อย่างมาก" ว่าทรัมป์จะปรับลดเงินอุดหนุนสำหรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าลง

เกาหลีใต้ จ่อถอนลงทุน \'โรงงานอีวี\' ในสหรัฐ 5.4 พันล้านดอลล์ จากนโยบายทรัมป์ 2.0 ขอบคุณภาพจาก AFP

ก่อนหน้านี้ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเรื่องการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าผ่านพระราชบัญญัติพลังงานที่ชื่อว่า “Inflation Reduction Act” มาโดยตลอด โดยรัฐบาลใหม่ของทรัมป์มีแผนลดข้อกำหนดในการประหยัดเชื้อเพลิง และตามรายงานของรอยเตอร์สเมื่อเดือนที่แล้ว คณะบริหารอาจจะยกเลิกเครดิตภาษีผู้บริโภครายละ 7,500 ดอลลาร์

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า การยกเลิกเงินอุดหนุน เครดิตภาษี และแรงจูงใจอื่นๆ จำนวนหลายร้อยพันล้านดอลลาร์มีผลเชิงลบต่อการจ้างงานในสหรัฐหลายหมื่นตำแหน่ง และทำลายความพยายามในการเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าให้ห่างออกจากจีน นอกจากนี้ยังอาจกระทบรายได้ของบริษัทเกาหลีซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ จากความพยายามลดการพึ่งพาผู้ผลิตจากจีนท่ามกลางช่วงเวลาที่พวกเขากำลังประสบกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่อ่อนตัว และราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง

"เราติดตามทุกคำพูดจากทรัมป์เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า" บยองฮุน คิม ซีอีโอของ Ecopro Materials Co. ผู้จัดหาวัตถุดิบสำหรับแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าของ Ford Motor Co. และ General Motors Co. กล่าว

"เราถือว่า Inflation Reduction Act เป็นประเด็นสำคัญมาตลอด" คิม กล่าว พร้อมเสริมว่า "หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เราอาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของเราด้วย"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลไบเดนเสนอเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยในการร่วมทุนระหว่าง Samsung SDI Co. และ Stellantis NV ในการสร้างโรงงานผลิตเซลล์ในรัฐอินเดียนา อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านของทรัมป์รีบตั้งคำถามกับข้อเสนอนี้ วิเวค รามาสวามี หนึ่งในสองรายนามที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานร่วมของกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล (D.O.G.E) กล่าวในโพสต์บน X ว่าคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบการช่วยเหลือของคณะทำงานของไบเดนอย่างละเอียด

เกาหลีใต้ จ่อถอนลงทุน \'โรงงานอีวี\' ในสหรัฐ 5.4 พันล้านดอลล์ จากนโยบายทรัมป์ 2.0 ขอบคุณภาพจาก AFP

 

ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่สามอันดับแรกของเกาหลีใต้ ได้แก่ Samsung SDI, LG Energy Solution และ SK On Co. ได้ประกาศแผนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ 15 แห่งในสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ “กล้าหาญ” ที่สุดในบรรดาศูนย์กลางแบตเตอรี่สามแห่งของโลกไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า หลังจาก Inflation Reduction Act มีผลบังคับใช้ในปี 2022 ทางการสหรัฐต่างประกาศอย่างโจ่งแจ้งต่อโรงงานในเกาหลีกว่า 50% ว่าจะมีการสร้างงานมากกว่า 20,000 ตำแหน่งบริเวณ “Battery Belt” ของสหรัฐซึ่งครอบคลุมพื้นที่จากมลรัฐมิชิแกน โอไฮโอ เคนทักกี ไปจนถึงจอร์เจีย

 

เกาหลีใต้ จ่อถอนลงทุน \'โรงงานอีวี\' ในสหรัฐ 5.4 พันล้านดอลล์ จากนโยบายทรัมป์ 2.0

อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่สร้างงานให้ชาวอเมริกัน 52%

"เกาหลีใต้ได้มีส่วนในการสร้างงาน และการลงทุนในพื้นที่ Rust Belt" พัคแท ซอง รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เกาหลี กล่าว พร้อมกล่าวเสริมว่าการมีผู้ผลิตแบตเตอรี่จากเกาหลีจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐในการแข่งขันกับห่วงโซ่อุปทานที่จีนครองตลาดยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มของเขาอยู่ในช่วงเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐเพื่อเจรจาล็อบบี้เพื่อรักษานโยบายจูงใจด้านยานยนต์ไฟฟ้าไว้

ศูนย์วิจัย Reshoring Initiative เปิดเผยว่า แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการย้ายฐานการผลิตกลับมาในสหรัฐ ระหว่างปี 2021 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 นอกจากนี้ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรง และการย้ายฐานการผลิตของเกาหลีในสหรัฐสร้างงานในอเมริกาเหนือ ได้ 20,360 ตำแหน่งในปี 2023 มากกว่าประเทศอื่นใดๆ

ดังนั้นการตัดเครดิตภาษีของทรัมป์จะกระทบกับบริษัทแบตเตอรี่ของเกาหลีอย่างหนัก ในช่วงที่บริษัทเหล่านี้กำลังประสบกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่อ่อนตัวลง ราคาลิเทียม ซึ่งเป็นแร่สำคัญที่เชื่อมโยงกับราคาขายของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ดิ่งลงเกือบ 90% จากจุดสูงสุดในปี 2022 เนื่องจากปริมาณการนำไปใช้ในรถไฟฟ้าน้อย และช้ากว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

LG Energy Solution พันธมิตรสำคัญของ GM ได้บันทึกเครดิต Inflation Reduction Act ประมาณ 1 ล้านล้านวอน (773 ล้านดอลลาร์) ในบัญชีของตัวเองในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขาดทุนสุทธิในปีงบประมาณ 2023 ด้าน SK On พันธมิตรของ Ford ได้รับเครดิตภาษีจากสหรัฐประมาณ 2.11 แสนล้านวอนในสามไตรมาสแรก แต่ยังคงเผชิญกับสภาวะขาดทุน

เกาหลีใต้ จ่อถอนลงทุน \'โรงงานอีวี\' ในสหรัฐ 5.4 พันล้านดอลล์ จากนโยบายทรัมป์ 2.0

พื้นที่ตั้งโรงงานเเบตเตอรี่ในสหรัฐ บริเวณเขตอุตสาหกรรม Rust Belt

'หายนะ' สำหรับเกาหลี

บริษัทสัญชาติเกาหลียังกังวลว่าทรัมป์อาจอนุญาตให้บริษัทแบตเตอรี่ของจีนเข้าสู่สหรัฐโดยรอยเตอร์สรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า Contemporary Amperex Technology Co. Ltd หรือ CATL ของจีนจะพิจารณาสร้างโรงงานในสหรัฐหากทรัมป์เปิดประตู

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Inflation Reduction Act ของไบเดนปิดกั้นการลงทุนจากจีนมาจนถึงปัจจุบัน โดยขอให้ผู้ผลิตรถยนต์ค่อยๆ ลดการจัดหาแร่ธาตุสำคัญสำหรับแบตเตอรี่จาก "Foreign Entities of Concern" หรือ FEOC ซึ่งหมายความถึงบริษัทต่างชาติที่ดำเนินกิจการแล้วอาจกระทบความมั่นคงของสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วย จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ

ด้าน ปาร์ค ชุลวาน ศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยซอจอง กล่าวว่า "การเข้ามาของจีนในสหรัฐจะเป็นหายนะสำหรับเกาหลี" และ "บริษัทแบตเตอรี่ของจีนจะเสนอราคาที่ต่ำกว่ามาก"

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมีความหวังว่าทรัมป์จะไม่ตัดเครดิตสำหรับผู้ผลิตแบตเตอรี่ เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐที่บริหารโดยพรรครีพับลิกัน

คิตาเอะ คิม ซีอีโอของ SungEel Recycling Park Indiana โรงรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในเมือง ไวท์สทาวน์ รัฐอินเดียน่า กล่าวว่า  "ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่ [ทรัมป์] จะลดสิทธิประโยชน์จาก Inflation Refuction Act"

ทั้งนี้ หุ้นของ LG Energy ปรับตัวขึ้น 0.3% ในวันจันทร์ ขณะที่หุ้นของ Samsung SDI ร่วงลง 2.8%

ด้าน แพท วิลสัน คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน SK On สามแห่ง กล่าวในอีเมลถึงบลูมเบิร์ก นิวส์ ว่าจอร์เจียจะช่วยให้บริษัทเกาหลี "สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด"

"ตลาดสหรัฐยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดในโลก" เขากล่าว พร้อมเสริมว่า "บริษัทเกาหลีรู้เรื่องนี้มาก่อนยุคของรัฐบาลไบเดน และข้อเท็จจริงนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงแม้มีรัฐบาลใหม่"

 

 

อ้างอิง: Bloomberg 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์