'อินโดนีเซีย' ติดบ่วง กับดักหนี้สินเชื่อออนไลน์ท่วม

'อินโดนีเซีย' ติดบ่วง กับดักหนี้สินเชื่อออนไลน์ท่วม

ชาวอินโดนีเซีย 137 ล้านคนกำลังติดบ่วง 'แพลตฟอร์มเงินกู้ออนไลน์' ที่กำลังขยายตัวอย่างอย่างรวดเร็วใน ท่ามกลางหนี้คงค้างกว่า 1.4 แสนล้าน และวังวนดอกเบี้ย 108% ต่อปี ที่

"เงินด่วนทันใจ กู้ไวไม่ต้องค้ำ" ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นป้ายฮิตตามเสาไฟฟ้า ปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปสู่แพลตฟอร์มเงินกู้ออนไลน์กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว และยิ่งเติบโตอย่างรวดเร็วใน "อินโดนีเซีย" ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 185 ล้านคน และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ฟาจาร์ ข้าราชการรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวนิกเกอิเอเชียว่า เขาเริ่มกู้เงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรกในปี 2562 หลังจากเห็นโฆษณาในโซเชียลมีเดีย และสามารถกู้เงิน 5 ล้านรูเปียห์ (ราว 1 หมื่นบาท) ได้ในเวลาแค่ 5 นาที 

ทว่าอัตราการผ่อนจ่ายเงินต้นรวมดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน และภายใน 6 เดือนเขาจ่ายเงินคืนรวมไปทั้งหมด 13 ล้านรูเปียห์ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากเงินด่วนทันใจใน 5 นาที หลังจากนั้นเขาก็พบว่าตัวเองติดอยู่ในวังวนของหนี้แพลตฟอร์มออนไลน์หลายแห่ง รวมแล้วมีหนี้ทั้งหมด 102 ล้านรูเปียห์ในปี 2565

ข้าราชการรายนี้เป็นหนึ่งในชาวอินโดนีเซีย 137 ล้านคน หรือประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ที่มีหนี้ค้างชำระผ่านแพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัลรวมกัน 66 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 1.42 แสนล้านบาท) ณ สิ้นเดือนกันยายน ตามข้อมูลของสำนักงานบริการทางการเงินของอินโดนีเซีย (OJK) ยอดรวมดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้กู้เพียง 18.6 ล้านคน ที่มีหนี้ค้างชำระ 13.16 ล้านล้านรูเปียห์ในปี 2562

เฉพาะช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ OJK กล่าวว่ามูลค่าของเงินกู้ที่เบิกจ่ายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมีมูลค่ารวม 218 ล้านล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้นจาก 72 ล้านล้านรูเปียห์ของทั้งปี 2563

\'อินโดนีเซีย\' ติดบ่วง กับดักหนี้สินเชื่อออนไลน์ท่วม

"การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เป็นเพราะมีผู้ขอกู้จำนวนมาก โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ต้องดิ้นรนกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังการระบาดใหญ่ของโควิด แต่ยังคงระดับการใช้จ่ายที่จำเป็นไว้เหมือนในช่วงก่อนการระบาด" อิซซูดิน อัล ฟาร์รัส นักวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐศาสตร์และการเงิน (INDEF) กล่าว

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ การที่ชนชั้นกลางจำนวนมากถูกเลิกจ้างในหลายอุตสาหกรรม ทำให้ต้องเปลี่ยนจากการทำงานประจำที่ได้เงินแน่นอนไปเป็นงานฟรีแลนซ์ รับจ้าง หรืองานไม่ประจำทั้งหลาย ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องมองหาความช่วยเหลือทางการเงินด่วน

ธุรกิจการให้กู้ยืมแบบ peer-to-peer ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลออนไลน์ ได้เริ่มต้นขึ้นในอินโดนีเซียในปี 2559 ในช่วงแรกภาคธุรกิจนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กซึ่งมักเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคารและมักตกเป็นเป้าหมายเงินกู้นอกระบบ ให้ได้มีแหล่งเงินทุนทางเลือก

ทว่าต่อมากลไกดังกล่าวถูกขยายออกไปรองรับผู้กู้รายบุคคลมากขึ้นด้วย ซึ่งรวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อ "ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" (buy now, pay later) หรือ BNPL ที่มีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ 

ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา สัดส่วนสินเชื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้กู้รายบุคคลก็พุ่งแซงการกู้ยืมของสินเชื่อภาคธุรกิจไปแล้ว โดยคิดเป็น 71.43% ของสินเชื่อที่เบิกจ่ายทั้งหมดในปีนี้ตามข้อมูลของ OJK

การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้เองที่ทำให้บริษัทใหญ่บางแห่งในแวดวงการเงินของเอเชียเข้ามาลงทุนในแพลตฟอร์มเงินกู้ออนไลน์ โดยสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ลงทุนกับ SPayLater ในเครือของอีคอมเมิร์ซชอปปี้ ส่วนบริษัทแอนท์ ไฟแนนเชียล และเซควอญา แคปิทัล ลงทุนใน AkuLaku ด้านธนาคารมิซูโฮลงทุนใน Kredivo และบริษัทเครดิตเซย์ซอนลงทุนใน Julo

จากข้อมูลพบว่าสินเชื่อออนไลน์กระจุกตัวมากอยู่ในเกาะชวา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 56% ของประชากรในอินโดนีเซียทั้งหมด แต่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของบัญชีผู้กู้ยืมแพลตฟอร์มออนไลน์

เฟีย อาริสตา เป็นหนึ่งในตัวอย่างของลูกหนี้เงินกู้แพลตฟอร์มออนไลน์ในจังหวัดชวาตะวันตกที่เล่าว่า เธอเริ่มจากการกู้เงินก้อนแรก 5 แสนรูเปียห์ (ราว 1 พันบาท) ในปี 2562 ปีเดียวกับที่เธอเริ่มทำงานเป็นเสมียนที่ร้านใกล้บ้านหลังเรียนจบมัธยมปลาย โดยได้เงินเดือน 1.2 ล้านรูเปียห์ (ราว 2,580 บาท) แต่หลังจากนั้นเธอก็ไม่สามารถหยุดกู้เงินด่วนแบบนี้ได้และมีหนี้เพิ่มเป็นสิบเท่าของเงินเดือน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยืมหนี้ใหม่มาหมุนหนี้เก่า

อาริสตาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่นักวิจัยจาก INDEF อธิบายว่าเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่มีความรู้ทางการเงินและไม่เข้าใจว่าสินเชื่อและดอกเบี้ยทำงานอย่างไร

“ผู้กู้ที่ไม่มีความรู้ทางการเงินเหล่านี้สนใจแต่จำนวนเงินที่คิดว่าจะได้รับ โดยไม่เข้าใจความรับผิดชอบและความเสี่ยงของเงินกู้” ฟาร์รัสกล่าว 

จากการสำรวจข้อมูลของรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมระบุว่า ความรู้ทางการเงินของชาวอินโดนีเซียทั่วประเทศอยู่ที่ 65% ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ซึ่งสมาคมฟินเทคแห่งอินโดนีเซีย (Aftech) ยอมรับว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน

เพื่อรับมือกับวิกฤติหนี้ที่เพิ่มขึ้น OJK ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับการกู้ยืมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลไว้ที่ 0.3% ต่อวัน หรือ 108% ต่อปี โดยตัวเลขนี้จะลดลงเหลือ 0.2% ต่อวัน (72% ต่อปี) ในปี 2025 และ 0.1% ต่อวัน (36% ต่อปี) ในปี 2026 ขณะเดียวกัน ได้กำหนดให้แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องรักษาอัตราการชำระคืนเงินกู้ให้ได้อย่างน้อย 95% ซึ่งหมายความว่าบริษัทจะมีระดับเอ็นพีแอลได้สูงสุดเพียง 5% เท่านั้น

\'อินโดนีเซีย\' ติดบ่วง กับดักหนี้สินเชื่อออนไลน์ท่วม

ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต่อปีสำหรับบัตรเครดิตไว้ที่ 21%

ทางด้านฝั่งผู้ประกอบการแพลตฟอร์มสินเชื่อออนไลน์ เช่น KTA Kilat มองทิศทางในอนาคตว่า บริษัทได้ใช้แนวทางที่ระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและเพื่อรักษากำไรของบริษัท โดยปัจจุบัน การปล่อยสินเชื่อรายเดือนลดลงเหลือเพียง 6 หมื่นล้านรูเปียห์ เมื่อเทียบกับ 3 แสนล้านรูเปียห์ต่อเดือนในช่วงก่อนเกิดโควิด 

ขณะที่ผู้บริหารของแพลตฟอร์ม Easycash พยายามเรียกร้องขอให้คงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต่อวันในปีหน้าที่ 0.3% เท่าเดิม โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ และช่วยสภาพคล่องให้กลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารหรือมีบัญชีธนาคารไม่เพียงพอ และชี้ว่ารัฐควรไปโฟกัสที่การปราบปรามหนี้นอกระบบออนไลน์มากกว่า

สอดคล้องกับสมาคมฟินเทคฯ ที่มองว่าการเติบโตของสินเชื่อดิจิทัลเป็นตัวบ่งชี้เชิงบวกของการเข้าถึงบริการทางการเงินในอินโดนีเซีย 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าแพลตฟอร์มเงินกู้ออนไลน์ในอินโดนีเซียยังมี "เงินกู้นอกระบบ" ปะปนเข้ามาด้วย โดยในปี 2565 มีนักลงทุนและผู้กู้ยืมผ่านเงินกู้นอกระบบออนไลน์ถึง 10 ล้านล้านรูเปียห์ และนับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงเดือนก.ย. 2567 รัฐได้กวาดล้างปิดไปแล้วมากกว่า 11,000 แห่ง หรือปิดไปวันละเกือบ 4 แห่ง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังทำได้เพียงแค่ปิดเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์ม แต่แทบจะไม่สามารถจับกุมเครือข่ายเหล่านี้ได้

ในปี 2566 รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับสินเชื่อดิจิทัล โดยมุ่งเป้าไปยังบริษัทที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรม รวมถึงวิธีการเรียกเก็บหนี้ที่ไม่เหมาะสม

นักวิจัยจาก INDEF ยังเตือนว่าอำนาจซื้อที่ลดลงเนื่องจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) จาก 11% เป็น 12% ในเดือนม.ค. 2568 จะทำให้ผู้คนเผชิญแรงกดดันมากขึ้นและอาจมองหาเงินกู้ด่วนเหล่านี้มากขึ้น 

มีข้อมูลบ่งชี้ว่ากองทุนบุคคลที่สามในธนาคารลดลงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้น้อยกำลังใช้เงินออมจนหมด และผู้ที่ใช้เงินออมจนหมดกำลังหันมาใช้การกู้ยืมแบบดิจิทัลแทน รัฐจึงควรเข้มงวดเรื่องการกำกับดูแล โดยเฉพาะการควบคุมเอ็นพีแอลให้เป็นไปตามกำหนด เพื่อไม่ให้กระทบถึงอีโคซิสเต็มและความไว้ใจต่ออุตสาหกรรมฟินเทคในภาพรวม