‘WHA’ ทุ่ม 33,000 ล้านบาท! ขยายนิคมอุตสาหกรรม รองรับกระแสย้ายฐานออกจากจีน
‘ไทย’ และ ‘อาเซียน’ กำลังกลายเป็น ‘เป้าหมายหลัก’ ในการลงทุนของบริษัทข้ามชาติที่ต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบสงครามการค้า โดย ‘WHA’ ผู้นำนิคมอุตสาหกรรมของไทย เตรียมขยายการลงทุนครั้งใหญ่ในอาเซียนนี้
ท่ามกลาง “กำแพงภาษีทรัมป์” ต่อประเทศที่เกินดุลสหรัฐกำลังใกล้เข้ามา “จรีพร จารุกรสกุล” ผู้สร้างอาณาจักรนิคมอุตสาหกรรม WHA GROUP กล่าวกับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียว่า WHA เตรียมลงทุน 33,000 ล้านบาท เพื่อขยายนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในอาเซียนภายในปี 2571 รองรับการย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนมายังภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ WHA ได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมกว่า 13 แห่ง บนพื้นที่กว่า 77,600 ไร่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย และในจังหวัดเหงะอานของเวียดนาม บริษัทมีแผนที่จะสร้างอีก 4 แห่งทั้งในไทยและเวียดนาม รวมถึงพิจารณาขยายธุรกิจไปยังอินโดนีเซียและกัมพูชา
เดิมที WHA เป็นผู้ให้บริการด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ต่อมาได้เข้าสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบผ่านการเข้าซื้อกิจการ Hemaraj Land and Development ในปี 2558 โดยนิคมอุตสาหกรรมของ WHA มาพร้อมกับเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ครอบคลุม ตั้งแต่เส้นทางถนนขนส่ง ระบบไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
อีกหนึ่งจุดแข็งของ WHA คือ ประสบการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยค่ายรถ Ford Motor, General Motors และอื่น ๆ ได้ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม WHA ในช่วงทศวรรษ 1990 จนทำให้ไทยได้รับฉายาว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ในปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมของ WHA เป็นที่ตั้งของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 400 แห่ง รวมถึง Mazda Motor, Suzuki Motor และ Bosch
จรีพรกล่าวว่า การลงทุนจากบริษัทจีนในช่วงที่ผ่านมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้บริษัทจำนวนมากตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากสัดส่วนผู้ซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม WHA ที่เป็นบริษัทจีนสูงถึง 65% ในช่วงระหว่างปี 2563-2567 นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจากจีนยังมีแนวโน้มที่จะซื้อที่ดินแปลงใหญ่เพื่อรองรับการขยายธุรกิจอีกด้วย
บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ได้สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลแห่งแรกนอกประเทศจีนขึ้นในนิคมอุตสาหกรรม WHA อีกทั้งบริษัทชั้นนำอื่น ๆ อย่าง Great Wall Motor, MG (ภายใต้ SAIC Motor) และ Changan Automobile ก็ได้เลือกนิคมอุตสาหกรรม WHA เป็นฐานการผลิตเช่นกัน
จรีพรมองว่า การย้ายฐานผลิตออกจากจีนคาดว่าจะ “เร่งตัวขึ้น” หลังจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง โดยทรัมป์ได้ขู่ว่า จะเพิ่มภาษีสินค้าจากจีนหลังจากที่เขากลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในเดือนมกราคม
ในขณะนี้ WHA กำลังเจรจากับแบรนด์รถยนต์มากมาย และบริษัทยังจับตาความต้องการจากผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์และดาต้าเซ็นเตอร์อีกด้วย
สำหรับรายได้รวมของ WHA เพิ่มขึ้นประมาณ 4% เป็น 15,500 ล้านบาทในปี 2566 ส่งผลให้มีอัตรากำไรสุทธิประมาณ 30% บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มรายได้มากกว่าสองเท่าเป็น 35,000 ล้านบาทภายในปี 2576
นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมรายอื่นของไทยก็กำลังชักชวนบริษัทที่ย้ายออกจากจีนเช่นกัน อย่าง “อมตะ คอร์ปอเรชั่น” กำลังขยายนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดกว๋างนิญของเวียดนาม โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทการค้า Marubeni ของญี่ปุ่น อีกทั้ง “เครือสหพัฒน์” ก็กำลังลงทุนในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของตนมากขึ้น โดยบริษัท Haier Group ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีน กำลังสร้างโรงงานใหม่ในประเทศไทย ด้วยมูลค่า 13,500 ล้านบาท
ด้าน “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เตือนว่า ไทยและเวียดนามมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐอีกครั้ง และนี่อาจกลายเป็น “เป้าหมาย” ของการขึ้นภาษีเพิ่มเติม ภาษีดังกล่าวอาจทำให้สินค้าที่ผลิตในภูมิภาคนี้ส่งออกได้ลำบาก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสินค้าล้นตลาดในอาเซียน
“เราต้องเตรียมรับมือกับสงครามการค้าใหม่” ดร.สมเกียรติกล่าว
อ้างอิง: nikkei