ย้อนรอย 'ถอดถอนปธน.เกาหลีใต้' โดน 3 รอดแค่ 1 และไม่ใช่ 'ยุน ซ็อกยอล'

ย้อนรอย 'ถอดถอนปธน.เกาหลีใต้' โดน 3 รอดแค่ 1 และไม่ใช่ 'ยุน ซ็อกยอล'

ย้อนรอยการเมืองเกาหลีใต้สุดโหด ที่มีการโหวตถอดถอนประธานาธิบดีมาแล้ว 3 คน รอดแค่ 1 คน และไม่ใช่ 'ยุน ซ็อกยอล" พร้อมเทียบ 'ตลาดหุ้น' เปิดตลาดวันแรกหลังการอิมพีชเมนท์ผู้นำประเทศ

จบ 11 วันแห่งความตึงเครียดทางการเมืองเกาหลีใต้ หลังการประกาศกฎอัยการศึกสะท้านโลกคืนวันที่ 3 ธ.ค. เมื่อ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ "ยุน ซ็อกยอล" ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง (อิมพีชเมนท์) เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (14 ธ.ค.) 

รอบนี้ฝ่ายค้านได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาลเพิ่มจนได้เสียงมา 204 ต่อ 85 เสียง จากเดิมที่มี 192 เสียง จนขับไล่ผู้นำรายนี้ได้สำเร็จในการลงมติถอดถอนครั้งที่สอง ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้จะส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยต่อไป

ทว่ายุนไม่ใช่ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่ถูกลงมติถอดถอน ในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ที่ผ่านมา มีการยื่นญัตติ ถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มาแล้ว 3 คน ถอดถอนสำเร็จไป 2 คน คือ

  • ประธานาธิบดี "ยุน ซ็อกยอล" ในปี 2024 
  • ประธานาธิบดี "พัค กึนฮเย" ในปี 2016
  • ประธานาธิบดี "โนห์ มูฮยอน" รอดพ้นการลงมติมาได้ในปี 2004 

 

'พัค กึนฮเย' ประธานาธิบดีหญิง หนึ่งเดียว แต่ไปไม่รอด

ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น "ปิตาธิปไตย" ชายเป็นใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งอย่างเกาหลีใต้นั้น ในอดีตก็เคยมี "ผู้หญิง" ที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองมาได้เหมือนกันกับประธานาธิบดี 'พัค กึนฮเย' (Park Geun-hye) ผู้นำคนที่ 11 และเป็น ประธานาธิบดีหญิง คนเดียวในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ โดยเธอเป็นลูกสาวของ พัค จ็องฮี (Park Chung Hee) อดีตประธานาธิบดีกำปั้นเหล็กแห่งเกาหลีใต้ 

ปัญหาหลักๆ ที่นำไปสู่การยื่นถอดถอนผู้นำหญิงรายนี้ มาจากเรื่องอื้อฉาวการปล่อยให้ "ชเว ซุนซิล" เพื่อนที่เป็นคนทรงซึ่งสนิทสนมกับครอบครัวของพัค เข้ามายุ่งในทางการเมืองเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และกดดันให้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (แชโบล) บริจาคเงินให้มูลนิธิของตนเอง เพื่อแลกกับการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐบาล

พัคถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2016 หรือในเดือนเดียวกันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน และศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันทน์ 8 ต่อ 0 ยืนตามมติรัฐสภาให้ถอดถอนพัคเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2017 ทำให้พัคเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง 

ทว่ากรณีของพัคไม่ได้จบแค่ในสภา เพราะเรื่องอื้อฉาวที่พัวพันหลายฝ่ายทำให้มีการไต่สวนดำเนินคดีอย่างจริงจังในชั้นศาล และในวันที่ 6 เม.ย. 2018 พัคถูกศาลตัดสินจำคุก 24 ปี จากความผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันและใช้อำนาจในทางมิชอบ ก่อนจะได้รับการอภัยโทษในปี 2021

ส่วนชเว ซุนซิล ถูกจำคุก 20 ปี และคดีนี้ยังพัวพันไปถึงบริษัท "ซัมซุง" แชโบลรายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ในประเทศจนส่งผลให้ อี-แจยอง (Lee Jae Yong) ทายาทของบริษัทซัมซุงในขณะนั้นถูกตัดสินจำคุกในเวลาต่อมาด้วย 

'โนห์ มูฮยอน' รอดถอดถอน แต่จบชีวิตเศร้า

อดีตประธานาธิบดี "โนห์ มูฮยอน" (Roh Moo-hyun) ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2004 ด้วยคะแนนเสียงถึง 193 ต่อ 2 แต่ถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองเป็นหลักจากการที่โนห์และผู้สนับสนุนออกจากพรรค  Millennium Democratic Party ในปีก่อนเพื่อไปตั้งพรรคใหม่ Uri Party และแม้ว่าคะแนนนิยมของโนห์จะไม่ได้สูงมากในช่วงนั้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับมติถอดถอน และมีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านการถอดถอนโนห์บ่อยครั้งในยุคนั้น 

ชัยชนะของโนห์และพันธมิตรในการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติในเดือน เม.ย. 2004 โดยชนะเสียงส่วนใหญ่ซึ่งบ่งชี้ถึงแรงสนับสนุนของประชาชน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินตามมาในเดือนพ.ค. คว่ำผลการลงมติถอดถอนของสภา และคืนอำนาจให้โนห์เป็นประธานาธิบดีโดยสมบูรณ์ต่อไป

อย่างไรก็ตามหลังเกษียณอายุ โนห์และครอบครัวถูกอัยการสอบสวนข้อหารับสินบนจากบริษัท Taekwang Industrial นำไปสู่จุดจบที่น่าเศร้าเมื่อโนห์ตัดสินใจฆ่าตัวตายที่บ้านพักของตนเองเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2009

เทียบ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ หลัง ถอนถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (อิมพีชเมนท์) 2 ผู้นำคนก่อน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หลังการลงมติถอนถอนอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 2 คนก่อนหน้านี้ คือ "พัค กึนฮเย" ในปี 2016 และ"โนห์ มูฮยอน" ในปี 2004 ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ต่างก็ผันผวนอย่างหนัก ทว่าก็สามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากนั้นตามข้อมูลของโกลด์แมน แซคส์ 

ในคดีถอดถอนประธานาธิบดีโนห์ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้พลิกคำตัดสิน ดัชนี Kospi ร่วงลงมากกว่า 20% หลังจากการฟื้นตัวในช่วงแรก ส่วนในยุคประธานาธิบดีพัค ตลาดยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากการถอดถอน โดยดัชนีพุ่งขึ้นมากกว่า 20% ในช่วง 6 เดือนถัดมา

รายงานของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า การตอบสนองที่แตกต่างกันเกิดจากสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาค และความคาดหวังด้านนโยบายที่แตกต่างกัน

สำหรับไทม์ไลน์ในคดีถอดถอนในปี 2017 ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา 91 วันในการสรุปการปลดประธานาธิบดีพัคในขณะนั้น ส่วนในปี 2004 ศาลใช้เวลา 63 วัน และในครั้งนี้ปี 2024  ชเว ยองจุน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะที่มหาวิทยาลัยยอนเซ คาดการณ์ว่า อาจใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการพิจารณากรณีของยุน ซ็อกยอล

 

ที่มา: Bloomberg, BBC