'เยอรมนี' ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ยุบสภา-จัดเลือกตั้งใหม่ 23 ก.พ. นี้
เยอรมนีเตรียมยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ต้นปีหน้า หลังนายกรัฐมนตรี 'โอลาฟ ชอลซ์' พ่ายแพ้ในการลงมติไม่ไว้วางใจ ตามหลัง 'ฝรั่งเศส' ที่โหวตขับนายกฯ มาติดๆ
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. รัฐสภาเยอรมนีซึ่งเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี "โอลาฟ ชอลซ์" มีมติ "ไม่ไว้วางใจ" ด้วยคะแนนเสียง 394 ต่อ 207 เสียง และงดออกเสียง 116 เสียง ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีเยอรมนีต้องประกาศลาออกและนำไปสู่การยุบสภาเลือกตั้งใหม่ต่อไป
หลังจากนี้เป็นที่คาดว่า ประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ จะต้องประกาศยุบสภาภายใน 21 วัน และจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันหลังการยุบสภา ซึ่งขณะนี้มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็นวันที่ 23 ก.พ. 2568
ทั้งนี้ รัฐบาลพรรคร่วม 3 ฝ่ายของเยอรมนี ซึ่งประกอบด้วยพรรค SPD, พรรคกรีน และพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) ได้ล่มสลายเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่นายกฯ ปลดรัฐมนตรีคลังเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับการจัดการหนี้ จนสมาชิกพรรค FDP ทยอยลาออก ทำให้ขาดรัฐบาลเสียงส่วนใหญ่ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรง
ก่อนหน้านี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง "ฝรั่งเศส" ก็เพิ่งมีการลงมติไม่ไว้วางใจต่อนายกรัฐมนตรีมิเชลล์ บาร์นิเยร์ จากกรณีร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่จะมีการลดรายจ่ายอย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลทางการคลังของประเทศ จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ได้แต่งตั้งผู้นำรัฐบาลคนใหม่ขึ้นมาแทนที่แล้ว
เศรษฐกิจทรุด-อุตสาหกรรมรถยนต์พัง
ประเด็นเรื่อง "เศรษฐกิจ" จะมีบทบาทสำคัญอย่งยิ่งในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากผลงานที่ซบเซาภายใต้การนำของนายชอลซ์
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารกลางของเยอรมนีได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีลง 0.2% โดยระบุว่า “เศรษฐกิจของเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะชะงักงันในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 ลากยาวจนถึงช่วงแรกของปีหน้า และจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2025”
ประเด็นใหญ่เรื่องเศรษฐกิจยังถูกเน้นย้ำไปที่การฟื้นฟู "อุตสาหกรรมยานยนต์" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ ธนาคารกลางกล่าวว่าปัญหาภายในอุตสาหกรรมรภยนต์เยอรมันถือเป็น "ปัญหาเชิงโครงสร้าง" ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจในภาพรวม โดยปัจจุบันบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น "โฟล์คสวาเกน" (Volkswagen) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก กำลังเผชิญกับการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากและการปิดโรงงาน
นอกจากนี้ เยอรมนียังมีปัญหาความขัดแย้งกันในเรื่อง "ผู้อพยพ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคการเมืองต่างๆ พยายามดึงคะแนนเสียงออกจากพรรค AfD ซึ่งเป็นพรรคประชานิยมฝ่ายขวาที่กำลังมีคะแนนนิยมมากขึ้น จากการโจมตีรัฐบาลเรื่องนโยบายผู้อพยพ โดยที่ผ่านมา การล่มสลายของระบอบอัสซาดในประเทศ "ซีเรีย" มีบทบาทต่อการเมืองในประเทศนี้ด้วย เนื่องจากเยอรมนีรับผู้อพยพชาวซีเรียมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป ในช่วงสงครามกลางเมืองของซีเรียที่ผ่านมา