เปิดเหตุผล‘อันวาร์’ตั้ง‘ทักษิณ’ที่ปรึกษาประธานอาเซียน
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมกำลังตั้งทีมที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียในปีหน้า หนึ่งในนั้นคืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นักวิเคราะห์มองว่า เป็นความพยายามเชิงยุทธศาสตร์ที่จะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเหล่าบุคคลสำคัญในภูมิภาค
เว็บไซต์ซีเอ็นเอของสิงคโปร์รายงานว่า อันวาร์ กล่าวเรื่องการแต่งตั้งทักษิณ ในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.) ณ เปอร์ดานาปุตราคอมเพล็กซ์ ในปุตราจายาขณะต้อนรับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรของไทย ธิดาคนเล็กของทักษิณ ที่มาเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการเป็นเวลาสองวัน
“ผมเห็นชอบแต่งตั้ง (ทักษิณ) เป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการในการเป็นประธานอาเซียน พร้อมกับทีมจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่ตั้งขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ” อันวาร์กล่าวโดยให้เหตุผลว่า ทักษิณวัย 74 ปี มีประสบการณ์มากมายในฐานะรัฐบุรุษ
ตามรายงานของสื่อมาเลเซีย อันวาร์ยืนยันว่า รัฐบาลมาเลเซียเสนอให้แต่งตั้งทักษิณและไทยก็เห็นชอบ
บรรดานักวิเคราะห์ที่ซีเอ็นเอคุยด้วย มองว่า เหตุการณ์ล่าสุดไม่ใช่การแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการที่อันวาร์ “มีเสียงที่น่าเชื่อถือในการชั่งน้ำหนักประเด็นสำคัญ”
โจแอน หลิน นักวิจัยอาวุโสและผู้ร่วมประสานงานศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันISEAS - Yusof Ishak กล่าวกับซีเอ็นเอว่า การมีทักษิณร่วมอยู่ในทีมที่ปรึกษาไม่เป็นทางการนั้น “สมหตุสมผลเนื่องจากความใกล้ชิดระหว่างมาเลเซียกับไทย” โดยเฉพาะการแก้ปัญหาร่วมกันตามแนวชายแดน ที่สำคัญคืออาชญากรรมข้ามชาติอย่างการค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด และอาชญากรรมไซเบอร์
“ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้กระทบแค่มาเลเซียกับไทย แต่นับวันจะไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นปัญหาของอาเซียน การแสวงหาทางออกระดับภูมิภาคจึงสำคัญ และประสบการณ์ของทักษิณจะมีคุณค่า” หลินกล่าว
ขณะที่โอ เอซุน นักวิจัยอาวุโสสถาบันกิจการระหว่างประเทศสิงคโปร์ เชื่อว่า การตั้งทักษิณน่าจะต้องการใช้คอนเนคชันและความชำนาญของเขามาสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย โดยเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน และการทูต
“นี่เป็นทั้งท่าทีที่เป็นมิตรจากเพื่อนบ้าน และเป็นความต้องการใช้ประโยชน์จากคอนเนคชันระดับโลกของทักษิณ ตั้งแต่เรื่องการค้าการลงทุนไปจนถึงสันถวไมตรีทางการทูตสู่อาเซียน” โอกล่าว
ตอกย้ำท่าทีมาเลเซียต่อวิกฤติเมียนมา
หลินเชื่อว่า การตั้งทักษิณมาร่วมเป็นทีมที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ อาจเกี่ยวข้องกับความรู้และความคุ้นเคยของเขากับเมียนมาด้วย
“ความคุ้นเคยของทักษิณกับภูมิทัศน์การเมืองเมียนมา, คอนเนคชันกับเมียนมา และแนวทางที่ปฏิบัติได้ของเขาอาจเพิ่มมูลค่าให้กับความพยายามของมาเลเซียทำฉันทามติห้าข้อของอาเซียนให้คืบหน้า”
ฉันทามติห้าข้อเป็นแผนสันติภาพที่สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศเห็นชอบร่วมกัน ด้วยหวังจะยุติวิกฤติในเมียนมา แต่ถูกรัฐบาลทหารละเลย
ก่อนหน้านี้อันวาร์เคยย้ำว่า รัฐสมาชิกจำเป็นต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการจัดการกิจการภูมิภาค โดยเฉพาะในการเผชิญกับวิกฤตการณ์ในเมียนมา
“เราจำเป็นต้องขยับจากการตีฝีปากไปเป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรม เน้นแสวงหาหนทางทำสิ่งที่ปรารถนาให้เป็นจริง” อันวาร์กล่าวในการประชุมโต๊ะกลมเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 37 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือน มิ.ย.
อันวาร์บอกเป็นนัยด้วยว่า จะผลักดันอาเซียนให้แข็งกร้าวกับเมียนมามากขึ้น
ด้านอับดุล ราห์มัน ยาโกบ นักวิจัยรับเชิญโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันโลวี ย้ำเช่นกันว่า ทักษิณอยู่ใน “สถานะไม่เหมือนใคร” ในการช่วยเหลือมาเลเซียเป็นตัวกลางทำข้อตกลงสันติภาพในเมียนมา ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียมีความรู้เรื่องกลุ่มกบฏในเมียนมาอย่างจำกัด แตกต่างจากทักษิณที่ก่อนหน้านี้เคยติดต่อกับผู้นำหลายกลุ่ม และ “ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลทหารเมียนมา”
เดือน พ.ค.ปีนี้ เว็บไซต์เนชั่นไทยแลนด์รายงานว่า ทักษิณเสนอเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกเจรจาสันติภาพระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา เขาสร้างความสัมพันธ์กับมิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารคนปัจจุบันและนายพลเมียนมาคนอื่นๆ ตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นทศวรรษ 2000
“ทักษิณสามารถแสดงบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ในการติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้รัฐบาลมาเลเซียอยู่ห่างๆ” ยาโกบกล่าวและว่า ผู้นำมาเลเซียไม่ค่อยอยากยุ่งเกี่ยวกับกิจการรัฐสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อย่างเมียนมาสักเท่าใดนัก
ส่วนหลินเชื่อว่า การที่ไทยสนับสนุนบทบาทประธานอาเซียนของมาเลเซียอย่างชัดเจน อาจเพิ่มศักยภาพความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนนี้
ซีเอ็นเอรายงานว่า ทักษิณนั้นได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลสูงสุดมีทั้งคนรักและคนชังมากที่สุดในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา เคยเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2544-2549 แล้วถูกรัฐประหารจนต้องไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ 15 ปี เพิ่งกลับมาไทยในเดือน ส.ค.2566
หลังจากกลับมาเขาถูกศาลพิพากษาจำคุกแปดปีโทษฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานอภัยลดโทษเหลือหนึ่งปีเมื่อเดือน ก.ย.2566 และได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด ในวันที่ 18 ก.พ.หลังถูกควบคุมตัวหกเดือน
ด้วยเหตุนี้โอจึงตั้งข้อสังเกตว่าในระดับส่วนตัว นายกฯ มาเลเซียที่เคยเป็นนักโทษการเมืองจากความผิดทางเพศจึงเข้าใจชะตากรรมของทักษิณ
“ดูเหมือนว่ามีความเห็นอกเห็นใจบางอย่างกับกระบวนการสร้างความชอบธรรมของทักษิณ” โอกล่าว
อดีต รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์จ่อร่วมทีม
ซีเอ็นเอรายงานอ้างมาเลย์เมล สื่อมาเลเซีย ที่ระบุว่าในบรรดารายชื่อทีมที่ปรึกษาประธานอาเซียนอาจมีชื่อของจอร์จ เยว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์รวมอยู่ด้วย
เยวอยู่ในรัฐบาลสิงคโปร์ 23 ปี นั่งในหลายตำแหน่ง อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารและศิลปะ, รัฐมนตรีสาธารณสุข, รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีต่างประเทศก่อนเลิกเล่นการเมืองในปี 2554
ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นประธานอาเซียนครั้งล่าสุดเมื่อเกือบสิบปีก่อนในปี 2558