จากค่ายรถญี่ปุ่นเบอร์ใหญ่สู่ยักษ์ใกล้ล้ม ‘นิสสัน’ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ข่าวการพิจารณา 'ควบรวมกิจการ' ระหว่าง 2 ค่ายรถญี่ปุ่นเบอร์ใหญ่ 'ฮอนด้า' และ 'นิสสัน' กำลังจะเขย่าวงการรถยนต์โลก ผ่าทางตันให้ Nissan Motor ที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่จนเสี่ยงต่อการเป็นยักษ์ล้ม
ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดของค่ายรถยนต์ทั่วโลกในวันนี้ที่มี รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนเข้ามาเป็นตัวแปรหลัก “นิสสัน มอเตอร์” (Nissan Motor) ค่ายรถยนต์รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นกำลังถูกจับตามองมากที่สุด เพราะไม่ได้เกิดปัญหาเพียงแค่ยอดขายลดลงเท่านั้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับวิกฤตการณ์ ครั้งที่ 3 ที่บริษัทเคยเผชิญมา และจะชี้ชะตาว่านิสสันจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่หลังจากนี้
บลูมเบิร์ก รายงานก่อนหน้านี้ว่านิสสันกำลังสู้เพื่อรอดอีกครั้ง โดยแบรนด์เรือธงของญี่ปุ่นกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติหลังจากยอดขายในสองตลาดสำคัญอย่าง “สหรัฐ” และ “จีน” ลดลงจนส่งผลให้สูญเสียรายได้มหาศาล นำไปสู่การประกาศเลิกจ้างพนักงาน 9,000 ตำแหน่งทั่วโลก ลดกำลังการผลิตรถยนต์ลงถึง 1 ใน 5 ลดคาดการณ์กำไรรายปีลง และล่าสุดได้ปรับโครงสร้างฝ่ายบริหารครั้งใหญ่ไปในสัปดาห์นี้
ปัญหาใหญ่ในระดับวิกฤติบริษัทครั้งล่าสุดของนิสสันเกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน โดยในครั้งนั้นมีพันธมิตรต่างชาติอย่าง “เรโนลต์” เข้ามาช่วยกู้บริษัทพร้อมส่งขุนพลอย่าง “คาร์ลอส กอส์น” เข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของนิสสันนานอยู่หลายปีก่อนที่ฮีโร่ผู้ช่วยกู้บริษัทรายนี้จะเปลี่ยนไปเป็นอาชญากรที่หลบหนีในคดียักยอก และอีกหลายคดีการเงิน
ทว่าในครั้งนี้อาจไม่มีฮีโร่เข้ามาช่วยกอบกู้บริษัทเหมือนครั้งที่ผ่านมา และนิสสันต้องเร่งปรับโครงสร้างใหญ่เพื่ออยู่รอดให้ได้
เหลือเวลาอยู่รอด 12-14 เดือน
เมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา นิสสันประกาศลดคาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินงานลงถึง 70% ในปีงบประมาณปัจจุบัน จากเดิม 5 แสนล้านเยน ลงมาเหลือเพียง 1 แสนล้านเยน ขณะที่รายรับสุทธิรอบครึ่งปีแรกก็ดิ่งเหวลงหนักถึง 94%
บริษัทได้แถลงระหว่างการรายงานผลประกอบการครั้งที่ผ่านมาว่า จะขายหุ้นของบริษัทพาร์ตเนอร์อย่าง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ป ลงประมาณ 1 ใน 3 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.9 หมื่นล้านเยน หลังจากที่เผาเงินไปถึงเกือบ 4.5 แสนล้านเยน ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของนิสสันเปิดเผยกับไฟแนนเชียลไทมส์ ก่อนหน้านี้ว่า นิสสันเหลือเวลาอยู่รอดได้อีกประมาณ 12-14 เดือนเท่านั้น
บลูมเบิร์ก อธิบายว่านิสสันมีเวลาเหลืออีกประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะเผชิญวิกฤติหนี้หุ้นกู้จำนวนมหาศาลที่จะครบกำหนดไถ่ถอนกว่า 2.4 แสนล้านเยน(ราว 5.4 หมื่นล้านบาท) ในปีหน้า และอีกกว่า 8.5 แสนล้านเยน (ราว 1.9 แสนล้านบาท) ในปี 2569
เดินเกมพลาดในตลาดหลัก
ยอดขายของนิสสันลดลงมาพักใหญ่ในตลาดหลักอย่าง ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด และสำคัญที่สุดของบริษัท เพราะรถยนต์ที่ไม่เข้ากับกระแสโลกจนสต๊อกล้น และกลายเป็นวัฏจักรที่ยิ่งฉุดบริษัทลงอีก ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ การดำเนินกลยุทธ์ผิดพลาดด้วยการไม่เข้าไปเล่นในตลาดรถยนต์ไฮบริดในสหรัฐ แต่เลือกที่จะขายรถยนต์สันดาปเป็นหลัก ทำให้พลาดโอกาสสำคัญไป
นิสสันยังเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าของโลกในช่วงหนึ่งจากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่เจาะตลาดแมสอย่างรุ่น “ลีฟ” (Leaf) ในปี 2553 แต่กลับไม่สามารถครองตลาด และผลิตรุ่นที่จำหน่ายทั่วโลกได้เหมือนอย่างที่ค่ายรถร่วมชาติอย่าง “โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป” ส่งพริอุส ไฮบริด ไปเจาะตลาดทั่วโลกได้ ทำให้ตอนนี้ นิสสันไม่มีทั้งรถไฟฟ้าล้วน และไฮบริดเข้าไปแข่งในสองตลาดใหญ่อย่างสหรัฐ และจีนเลย
ต้องหั่นการผลิตครั้งใหญ่
ก่อนหน้านี้ มาโกโตะ อุชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของนิสสันได้เสนอแผน 3 ปีในการฟื้นฟูบริษัท หนึ่งในนั้นประกอบด้วยคำมั่นที่จะขายรถยนต์เพิ่มให้ได้อีก 1 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2570 แต่ไม่ถึงปีหลังจากนั้นดูเหมือนว่าเป้าหมายดังกล่าวจะยังไม่สามารถบรรลุได้ โดยอุชิดะได้กล่าวในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมาว่า “การบรรลุเป้าหมายยอดขายถือเป็นความท้าทาย”
นิสสันปรับลดการคาดการณ์การผลิต และยอดขายสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.2568 หลังจากปรับลดการคาดการณ์ในตลาดหลักแต่ละแห่ง รวมถึงอเมริกาเหนือ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ปัจจุบันนิสสันคาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 3.2 ล้านคัน และขายได้ 3.4 ล้านคัน
ก่อนหน้านั้นในเดือนมิ.ย. บริษัทได้ประกาศจะระงับการผลิตในโรงงานที่ฉางโจว ประเทศจีน เนื่องจากยอดขายที่อ่อนแอมาแล้ว
ด้านราคาหุ้นของนิสสันปรับตัวลดลงไปแล้วราว 47% นับตั้งแต่อุชิดะขึ้นเป็นซีอีโอในวันที่ 1 ธ.ค.2562 และเมื่อเทียบราคาหุ้นในยุคของซีอีโอแต่ละคนที่ผ่านมาแล้ว ถือเป็นราคาที่แย่ที่สุดในรอบกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมาจากการคำนวณของบลูมเบิร์ก
อาจต้องมองหาพันธมิตรอีกครั้ง
บลูมเบิร์กมองว่า ณ จุดนี้ นิสสันอาจต้องพึ่งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์รายใดรายหนึ่งจากสองราย คือ เรโนลต์ หรือฮอนด้า มอเตอร์ เพราะการขายหุ้นบางส่วนในมิตซูบิชิอาจไม่พอที่จะช่วยบรรเทาภาระของนิสสันได้ แต่การแลกหุ้นกับเรโนลต์หรือฮอนด้าอาจช่วยได้อย่างน้อยก็ชั่วคราว
ในปี 2566 นิสสัน และเรโนลต์ได้ปรับแนวทางพันธมิตรที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษใหม่ โดยเรโนลต์ลดสัดส่วนการถือหุ้นในนิสสัน และวางแผนที่จะนำเสนอรถรุ่นใหม่ๆ ร่วมกับมิตซูบิชิซึ่งเป็นพันธมิตรอีกราย
ในเดือนมี.ค.2567 นิสสัน และฮอนด้าได้บรรลุความตกลงเบื้องต้นกันเพื่อทำงานร่วมกับมิตซูบิชิในการพัฒนาซอฟต์แวร์เองภายในองค์กร รวมถึงแบตเตอรี่ และส่วนประกอบอีวีอื่นๆ ทว่าการจับมือเป็นพันธมิตรของ 3 ค่ายรถญี่ปุ่นในครั้งนี้ ก็จะทำให้ต้องเผชิญหน้ากับค่ายใหญ่อย่างฝั่งโตโยต้า และพันธมิตรอย่างซูบารุ คอร์ป, ซูซูกิ คอร์ป และมาสด้า มอเตอร์ คอร์ป เช่นกัน
ล่าสุดมีความชัดเจนออกมาแล้วในวันนี้ (18 ธ.ค.67) โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Nissan และ Honda กำลังพิจารณาการ "ควบรวมกิจการระหว่างกัน" เพื่อรับมือกับความท้าทายการแข่งขันทั่วโลก และอาจกลายเป็นค่ายรถยักษ์ใหญ่ที่สามารถแข่งขันกับโตโยต้า มอเตอร์ ในญี่ปุ่นได้
ด้านสำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสองรายกำลังพิจารณาที่จะผนึกกำลังกันภายใต้รูปแบบการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง และจะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในเร็วๆ นี้ ส่วนการถือหุ้นของแต่ละรายในบริษัทใหม่ รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ จะเปิดเผยการพิจารณาในภายหลัง
นอกจากนี้ ทั้งสองบริษัทยังวางแผนที่จะนำบริษัท Mitsubishi ซึ่งมีนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 24% เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวด้วย โดยยอดขายรวมของผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสามรายจะสูงกว่า 8 ล้านคัน และจะทำให้กลายเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก
ภายหลังมีรายงานข่าวนี้ ราคาหุ้นของนิสสันปรับตัวขึ้นมากถึง 24% ในการซื้อขายเมื่อช่วงเช้านี้ สวนทางกับราคาหุ้นของฮอนด้าที่ปรับตัวลดลง 3.4% ระหว่างการซื้อขาย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์