เปิดรายชื่อบริษัทใหญ่ยอมจำนน 'ทรัมป์' แห่บริจาคเงินหวังฟื้นสัมพันธ์
บิ๊กเทค ‘อเมซอน-เมตา’ กับ ค่ายรถยักษ์ใหญ่ ‘ฟอร์ด จีเอ็ม และโตโยต้า’ แห่บริจาคเงินรายละ 1 ล้านดอลลาร์ ให้กองทุนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ส่งสัญญาณยอมจำนน หวังฟื้นสัมพันธ์กับประธานาธิบดีคนใหม่ให้ธุรกิจราบรื่น
การมาของว่าที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจเป็นผลดีกับตลาดหุ้น และภาคธุรกิจของสหรัฐในยุค Make America Great Again (MAGA) โดยเฉพาะในภาคพลังงาน และการเงินซึ่งเป็นฐานนายทุนใหญ่ของพรรครีพับลิกัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกกลุ่มเสมอไปที่จะได้ประโยชน์ และหนึ่งในภาคธุรกิจที่อาจถูกเล็งเป้าหมายต่อไปคือ กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือ “บิ๊กเทค” รวมทั้ง “ค่ายรถยนต์” ที่อาจได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น
‘ทรัมป์’ ไม่ยอมง่ายๆ
ทิศทางนี้เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อต้นเดือนธ.ค. โดยทรัมป์ส่งสัญญาณใหม่ว่า เขาจะไม่ผ่อนปรนให้กับกลุ่มบิ๊กเทคเมื่อกลับเข้าทำเนียบขาวอีกครั้ง และทรัมป์ได้เสนอชื่อ “เกล สเลเตอร์” ผู้ช่วยของว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐ เจดี แวนซ์ ให้เป็นผู้อำนวยการที่ดูแลฝ่ายต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ
“บิ๊กเทคทำตามอำเภอใจมาหลายปีแล้ว โดยปิดกั้นการแข่งขันในภาคส่วนที่มีนวัตกรรมล้ำสมัยที่สุดของเรา และอย่างที่เราทุกคนทราบกันดีว่า บริษัทใช้พลังทางการตลาดเพื่อกดสิทธิของชาวอเมริกันจำนวนมาก รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็กด้วย” ทรัมป์ระบุผ่านทางแพลตฟอร์มทรูธโซเชียล และกล่าวเสริมว่า ทีมต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการต่อไปภายใต้การนำของเกล สเลเตอร์
สเลเตอร์เคยเป็นที่ปรึกษานโยบายเทคโนโลยีให้กับสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก และเคยทำงานนานถึงสิบปีที่คณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐ (FTC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด ส่วนประสบการณ์ในบริษัทเอกชนก่อนหน้านี้ สเลเตอร์เคยทำงานที่ฟ็อกซ์ คอร์ป และโรกุ และเคยอยู่ในสมาคมที่ชื่อว่า อินเทอร์เน็ต แอสโซซิเอชัน ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ยิสต์อันทรงอิทธิพลในภาคเทคโนโลยีที่มีสมาชิกเป็นบิ๊กเทคเกือบทั้งหมดในสหรัฐด้วย
นอกจากการเพ่งเล็งกลุ่มบิ๊กเทคเกี่ยวกับกรณีการผูกขาดตลาดแล้ว ทรัมป์ยังได้แต่งตั้ง “เบรนดัน คาร์” เป็นประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐด้วย ซึ่งในช่วงไม่กี่วันก่อนการแต่งตั้ง คาร์ได้ส่งจดหมายถึงบรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบิ๊กเทคหลายบริษัทตั้งแต่กูเกิล ไมโครซอฟท์ เมตา และแอปเปิ้ลเพื่อแจ้งว่าเมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งแล้ว อาจจะมีการดำเนินการหลายอย่างตามมาเพื่อคืนสิทธิภายใต้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) ให้กับชาวอเมริกัน
หนึ่งในการดำเนินการที่ว่านี้อาจรวมถึง “การตรวจสอบกิจกรรมการดำเนินการบริษัทของคุณ ตลอดจนองค์กร และกลุ่มบุคคลที่สามที่ได้ดำเนินการเพื่อจำกัดสิทธิเหล่านั้น” คาร์โพสต์ข้อความบางส่วนในจดหมายที่ส่งถึงซีอีโอลงในแพลตฟอร์มเอ็กซ์
ขณะเดียวกันยังมีการแต่งตั้งประธาน FTC คนใหม่คือ “แอนดรูว์ เฟอร์กูสัน” ซึ่งมีแนวทางที่เข้มงวดกับบิ๊กเทคด้วยเช่นกัน และได้โพสต์ข้อความลงบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า จะเข้ามาหยุดสงครามของบิ๊กเทคที่ทำลายการแข่งขันและการแสดงความเห็นอย่างเสรีของชาวอเมริกัน
ยาฮูไฟแนนซ์ระบุว่า การแต่งตั้งและการแสดงความคิดเห็นล่าสุดของทรัมป์นับเป็นสัญญาณใหม่ว่า รัฐบาลสหรัฐในยุคทรัมป์จะยังคงเดินหน้าการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับกลุ่มบิ๊กเทคต่อไป ต่อเนื่องจากสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีการกดดันบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายรายซึ่งรวมถึง “อัลฟาเบท” ที่เป็นบริษัทแม่ของกูเกิล จนอาจกระทบต่อความพยายามครองตลาดของบิ๊กเทคเหล่านี้
ที่จริงแล้ว การยื่นฟ้องกูเกิลในกรณีการผูกขาดตลาดนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคทรัมป์ 1.0 สมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระแรก และคดีที่ยาวนานต่อเนื่องหลายปีมานี้เพิ่งมีการตัดสินไปเมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมาว่า กูเกิลมีการผูกขาดตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้นอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางกระทรวงยุติธรรมสหรัฐยังได้ยื่นเรื่องแยกออกเป็นอีกคดีโดยร้องขอให้ศาลพิจารณาสั่งให้บริษัทอัลฟาเบทแตกธุรกิจนี้ออกไป โดยเป็นที่คาดว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมในปีหน้านี้
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยส่งสัญญาณถึงภาคเทคโนโลยีที่ยังไม่ค่อยชัดเจนมากนัก โดยมีทิศทางสลับกันไปมาระหว่างการผ่อนคลายและการเข้มงวดขึ้น โดยในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเขาเคยแสดงความเห็นว่า รัฐบาลสามารถจัดการปัญหาการผูกขาดตลาดของกูเกิลได้โดยไม่จำเป็นต้องบังคับให้บริษัทขายธุรกิจบางส่วนออกไป ทว่าล่าสุดทรัมป์ได้ปรับท่าทีกลับมาแข็งกร้าวกับภาคบิ๊กเทคมากขึ้นแทน
‘บิ๊กเทค’ ขอฟื้นสัมพันธ์
ทางฝั่งบิ๊กเทคเองก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาเช่นกันโดยมีรายงานข่าวว่า “อเมซอน ดอต คอม” และ “เมตา แพลตฟอร์ม” ซึ่งรายหลังเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม บริจาคเงินรายละ 1 ล้านดอลลาร์ ให้กับกองทุนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณหวังฟื้นสัมพันธ์กับประธานาธิบดีคนใหม่
ทางฝั่งอเมซอนของซีอีโอเจฟฟ์ เบซอส ยังเตรียมการสตรีมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ ซึ่งเป็นการบริจาคในอีกรูปแบบหนึ่งผ่านทางแพลตฟอร์ม Prime Video อีกด้วย
ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งสมัยแรก เขาเคยวิพากษ์วิจารณ์อเมซอน และหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ที่เบซอสเป็นเจ้าของอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่าหลบเลี่ยงภาษีและเผยแพร่ข่าวปลอม ส่วนเบซอสเองก็เคยวิจารณ์วาทกรรมของทรัมป์ในปี 2019 และอเมซอนก็เคยฟ้องร้องรัฐบาลในสมัยทรัมป์ โดยอ้างว่าอคติของทรัมป์ส่งผลต่อโอกาสในการทำธุรกิจของบริษัท
ทว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เบซอสได้สร้างความประหลาดใจให้กับวงการเมื่อแสดงท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้นเกี่ยวกับทรัมป์ว่า เขามี “มุมมองในแง่ดี” ต่อการที่ทรัมป์จะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง และยังแสดงความเห็นสนับสนุนแผนการลดกฎระเบียบต่างๆ ของทรัมป์ และยังมีรายงานข่าวว่าเบซอสจะไปพบกับทรัมป์ที่มาร์อาลาโกในฟลอริดา สัปดาห์หน้าด้วย
‘3 ค่ายรถยักษ์’ ยอมจำนน
ด้านค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง “ฟอร์ด มอเตอร์ และเจนเนอรัล มอเตอร์ส” ได้แสดงเจตจำนงที่จะบริจาคเงินเป็นจำนวนบริษัทละ 1 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งการส่งยานพาหนะเข้าร่วมในงานเทศกาลดังกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานว่าทรัมป์มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายด้านยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่ได้รับการผลักดันโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ในดีทรอยต์ โดยเฉพาะฟอร์ดที่กำลังเผชิญความท้าทายในการเพิ่มยอดขาย และการจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงกระทบต่อแผนการลงทุน และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่บริษัทเหล่านี้ได้วางไว้
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เจิม ฟาร์ลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฟอร์ด กล่าวว่าบริษัทคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านภาษีศุลกากร กฎข้อบังคับด้านการปล่อยมลพิษ และสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ที่ซื้อ รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมชี้ให้เห็นว่าในเดือนพ.ย. ยอดขายรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าของฟอร์ดในสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 14% ของยอดขายทั้งหมด
ส่วน “โตโยต้า มอเตอร์ อเมริกาเหนือ” ก็ได้บริจากเงิน 1 ล้านดอลลาร์เช่นกัน โดยมาตรการภาษีนำเข้าจากเม็กซิโก และแคนาดาของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์หลายรายในอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะโตโยต้าที่มีฐานการผลิตรถกระบะทาโคมาในเม็กซิโก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์