นโยบายการเงิน ทรัมป์ 2.0 เสี่ยงทำแบงก์ล้ม คนแห่ถอนเงิน

นโยบายการเงิน ทรัมป์ 2.0  เสี่ยงทำแบงก์ล้ม คนแห่ถอนเงิน

นโยบายการเงิน นโยบายผ่อนปรนกฎระเบียบธนาคารของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (ทรัมป์ 2.0) กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะนำไปสู่ “การล้มของธนาคาร”

คนอาจจะตื่นตระหนกแห่ไป ถอนเงิน (Bank Run) อย่างที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐมาแล้วหลายครั้ง และวิกฤติสถาบันการเงินครั้งใหญ่นั้นมักจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล แสดงความกังวลกับแนวทางที่ทรัมป์จะผ่อนคลายกฎระเบียบในการกำกับดูแลธนาคาร และอาจจะยุบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก FDIC

วิกฤติแบงก์ล้มครั้งใหญ่ในสหรัฐเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1890 ยุคที่สหรัฐผูกค่าเงินไว้กับทองคำแล้วเกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและคลังสำรองทองลดฮวบ สร้างความตื่นตระหนกทำให้คนแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร

ต่อมาคือวิกฤติในทศวรรษ 1930 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจตกอย่างต่ำอย่างรุนแรง (The Great Depression), ถัดมาช่วงทศวรรษที่ 1980 เกิดการล้มละลายครั้งใหญ่ของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อบ้าน (Savings and Loan Crisis) ตามมาด้วยวิกฤติสถาบันการเงินปี 2008 และเมื่อเร็วๆ นี้คือ แบงก์ขนาดเล็กจำนวนหนึ่งล้มในช่วงวิกฤติในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในปี 2023

ในช่วง The Great Depression สหรัฐได้ก่อตั้งบรรษัทคุ้มครองเงินฝาก (FSLIC) ในปี 1934 เพื่อคุ้มครองเงินฝากของประชาชนที่ฝากไว้กับสถาบันการเงินประเภทSavings and Loan(S&L) หรือเรียกว่า Thrifts โดยต่อมาเมื่อเกิดการล้มละลายครั้งใหญ่ของ S&Ls ในทศวรรษ 80 สถาบัน FSLIC ก็ล้มละลายไปด้วยเพราะขาดทุนหนักและเงินทุนไม่เพียงพอ

สหรัฐต้องปฏิรูปภาคการเงินอีกครั้งและก่อตั้งบรรษัทคุ้มครองเงินฝาก (FDIC) ขึ้นมาทดแทน ซึ่งให้ความคุ้มครองเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทั่วไปด้วยไม่ใช่แต่เฉพาะของสถาบันการเงิน S&L เท่านั้น

 แบงก์ล้มเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตามการวิเคราะห์แบบคลาสสิกในปี 1983 โดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสองคนคือ ดักลาส ไดมอนด์ และฟิลิป ดิบวิก อธิบายว่าธนาคารให้ผู้ฝากเงินถอนเงินสดได้ทันที ในขณะที่ธนาคารนำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ “ไม่มีสภาพคล่อง” เช่น สินเชื่อที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนอย่างรวดเร็ว หรือหากจะขายพอร์ตสินเชื่อทิ้งเพื่อเอาเงินสด ก็ต้องยอมขายในราคาถูกมากๆ เพราะธนาคารต้องการเงินเร่งด่วน

โดยปกติแล้ว การขาดสภาพคล่องสินทรัพย์ของธนาคารส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัญหา เพราะในแต่ละวัน มีเพียงลูกค้าของธนาคารบางส่วนเท่านั้นที่ต้องการเงินสด ในขณะที่บางส่วนกำลังฝากเงิน ดังนั้นการถือเงินสดสำรองไว้ในจำนวนจำกัดจึงถือเป็นเรื่องปกติ

แต่จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม หากผู้ฝากเงินเกิดความกลัวว่าธนาคารใดธนาคารหนึ่งอาจจะล้มละลาย พวกเขาจะรีบถอนเงินออกมา และความกลัวของพวกเขาอาจกลายเป็นเรื่องจริงได้ ธนาคารที่พยายามจะระดมเงินอย่างเร่งรีบจึงล้มละลายได้ แม้ว่าจะยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่ก็ตามและอาจอยู่รอดได้หากธนาคารมีเวลาขายสินทรัพย์อย่างรอบคอบในจังหวะดีกว่านี้

และเนื่องจากการล่มสลายของธนาคารหนึ่งแห่งอาจทำให้เกิดความกลัวว่าธนาคารอื่นๆ จะล้มด้วย ดังนั้นการแห่ถอนเงินจึงอาจแพร่กระจายไปในวงกว้างกระทบหลายๆ ธนาคาร

ครุกแมนกล่าวว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากทำให้การแห่ถอนเงินของธนาคารในรูปแบบเก่ากลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่การคุ้มครองผู้ฝากเงินต้องมีเงื่อนไข มิฉะนั้น ธนาคารอาจได้เปรียบส่วนผู้เสียภาษีอาจเสียเปรียบ

เพื่อดึงดูดเงินฝากนายแบงก์อาจจะเสนออัตราดอกเบี้ยที่น่าดึงดูดใจ จากนั้นก็เอาเงินไปลงทุนในกิจการที่อาจมีผลตอบแทนสูงแต่เสี่ยงล้มละลายง่าย ผู้ฝากเงินจะไม่กังวล เพราะพวกเขาได้รับการคุ้มครอง เจ้าของธนาคารจะร่ำรวยหากพวกเขาโชคดี แต่หากโชคไม่ดีก็เดินจากไปปล่อยให้รัฐบาลใช้เงินภาษีเข้าไปอุ้มผู้ฝากแทน

ดังนั้นการประกันเงินฝากจะต้องมาพร้อมกับข้องบังคับต่างๆ เช่น ข้อกำหนดด้านเงินทุนที่บังคับให้เจ้าของธนาคารต้องเอาเงินทุนของตัวเองมาเสี่ยงด้วย และข้อจำกัดเกี่ยวกับประเภทของการลงทุนที่ได้รับอนุญาตให้ทำได้

 วิกฤติแบงก์ล้มแบบใหม่

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 หลังจากที่ไม่มีวิกฤตการณ์แบบนี้มาหลายชั่วอายุคนในสหรัฐอเมริกา วิกฤติรอบนี้แตกต่างจากคนแห่ถอนเงินอย่างในอดีต นักเศรษฐศาสตร์เองก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

ครุกแมนชี้ว่าในช่วงปี 2008 ระบบการเงินส่วนใหญ่ถูกเข้าครอบงำโดย “ธนาคารเงา” ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับธนาคารทั่วไป แต่ขาดทั้งการรับประกันเงินฝากและการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น บริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ใช้การกู้ยืมข้ามคืนเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสร้างเงื่อนไขให้เกิดความตระหนกที่เทียบเท่ากับการแห่ถอนเงินออกจากธนาคารในอดีตตามที่ไดมอนด์-ดิบวิกได้อธิบายไว้ แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเงินฝากธนาคารเลยก็ตาม

และเมื่อเกิดการแห่เรียกเงินกู้คืน ผลลัพธ์ก็คล้ายกับ “ความตื่นตระหนก” ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 มาก แม้ในปี 2008 สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ซ้ำอีกได้สำเร็จด้วยการใช้มาตรการทางการเงินและการคลัง แต่เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ และวิกฤติดังกล่าวทำให้มีการออกกฎใหม่จัดระเบียบตลาดการเงินให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ครุกแมนกังวลว่าปัญหาคนแห่ถอนเงินอาจจะกลับมาอีก หากว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้ ดำเนินนโยบายด้านตลาดการเงินผิดผลาดด้วยการผ่อนปรนมาตรการกำกับดูแลธนาคารและยุบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก FDIC

เขาเตือนว่า วิกฤติสถาบันการเงินนั้นลุกลามได้ง่าย เพราะเมื่อคนเกิดความไม่มั่นใจแล้ว ก็จะแห่กันถอนเงินออกจากธนาคาร เพราะฉะนั้นการผ่อนคลายการควบคุมธนาคารจึงเป็นเรื่องเสี่ยงสูง นอกจากนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีประสบการณ์มากในการกำกับดูแลภาคธนาคาร หากยุบทิ้งอาจจะทำให้ประสบการณ์นั้นหายไปด้วย แม้ว่ากระทรวงการคลังสหรัฐจะยังคงมาตรการคุ้มครองเงินฝากไว้ก็ตาม

ครุกแมนระบุว่า ตลาดวอลสตรีท เองก็ต้องการทำอะไรเสี่ยงๆ อีกรอบ ด้วยการสนับสนุนให้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบ เขาไม่เชื่อว่าทรัมป์จะเคยได้ยินวิกฤติคนตื่นตระหนกในปี 1893 จึงคาดได้ว่าวิกฤติแบงก์ล้มกำลังจะกลับมาอีก