2024 ปีที่ ‘ลักชัวรี่’ เจ็บหนัก เมื่อคนไม่ซื้อสินค้าหรูฟุ่มเฟือย

2024 ปีที่มหาเศรษฐี ‘ลักชัวรี่’ เจ็บหนัก เจ้าของแบรนด์หรูฝรั่งเศสอย่าง LVMH, L'Oréal และ Gucci ตกบัลลังก์ความมั่งคั่ง มูลค่าหายวับ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเจอปัญหาทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าหลักอย่าง “จีน” ที่ชอปปิงของฟุ่มเฟือยน้อยลง
ปี 2567 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับ “มหาเศรษฐีลักชัวรี” ฝรั่งเศสชั้นอย่าง เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของ LVMH, ฟรองซัวส์ เบตตองกูร์ เมเยอร์ ทายาทตระกูล Bettencourt ซึ่งเป็นเจ้าของ L'Oréal บริษัทผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ และฟรองซัวส์ ปิโนลต์ เจ้าของ Kering ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลแบรนด์หรูชื่อดังอย่าง Gucci ทั้ง 3 ต้องสูญเสียความมั่งคั่งรวมกันกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ไป
ปีนี้รายได้และกำไรของกลุ่มสินค้าแบรนด์หรูดิ่งลงจากความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยที่ลดลงทั่วโลก อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้บริษัทในเครือขาดทุนอย่างหนัก โดยเฉพาะ Kering ที่มูลค่าหุ้นร่วงลงถึง 41%
‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ สูญเสียความมั่งคั่งมากที่สุดในทำเนียบเศรษฐี
“เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” ก่อตั้ง LVMH ซึ่งเคยขึ้นสู่อันดับ 1 ในการจัดอันดับมหาเศรษฐีของ Bloomberg ปัจจุบันร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 5 และสูญเสียความมั่งคั่งมากกว่าใคร ๆ ใน 500 บุคคลที่รวยที่สุดในโลก
ตอนนี้ความมั่งคั่งของอาร์โนลต์ อยู่ที่ 1.78 แสนล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ต้นปีความมั่งคั่งหายไปกว่า 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์
ทายาทหญิง L'Oréal เสียตำแหน่ง
"ฟรองซัวส์ เบตตองกูร์ เมเยอร์" ทายาทของ L'Oréal เคยครองตำแหน่งผู้หญิงที่รวยที่สุดในโลกและเป็นผู้หญิงคนแรกที่มีทรัพย์สินทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่สถานการณ์กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ในปัจจุบันร่วงลงมาอยู่อันดับที่ 20 โดยมีมูลค่าสุทธิลดลงประมาณ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และในปีนี้ความมั่งหายไปกว่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้สูญเสียทั้งตำแหน่งและมูลค่าทรัพย์สินที่เคยเป็นประวัติการณ์ไปแล้ว
ความมั่งคั่งเจ้าของ 'กุชชี' ดิ่งทั้งตระกูล
ฟรองซัวส์ ปิโนลต์ ผู้ก่อตั้ง Kering ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงถึง 64% เหลือเพียง 22,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2564 นับว่าเป็นการลดลงมีอยู่ที่อันดับที่ 90 ซึ่งรวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับมหาเศรษฐีคนอื่น ๆ ในดัชนีของ Bloomberg สาเหตุหลักของการสูญเสียครั้งนี้มาจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับแบรนด์ Gucci ซึ่งเป็นแบรนด์หลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท
ความผันผวนของแบรนด์ Gucci ซึ่งเป็นกำลังหลักของ Kering ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าสุทธิของตระกูลปิโนลต์ แม้ว่าฟรองซัวส์-อองรี ปิโนต์ ลูกชายวัย 62 ปี จะพยายามผลักดันให้บริษัทเติบโตในด้านอื่น ๆ ก็ตาม
‘แบรนด์หรูฝรั่งเศส’ เจอปัญหารอบด้าน
“แบรนด์หรู” เผชิญปัญหาทั้งภายในและภายนอก อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้บริโภคชาว “จีน” ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของแบรนด์สินค้าหรูหราชั้นนำ ได้ชะลอการจับจ่ายใช้สอยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านสินค้าเครื่องหนัง เสื้อผ้าแบรนด์เนม และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ ส่วน Gucci ก็เผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวด้านการบริหารและกลยุทธ์ธุรกิจ
นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองภายในฝรั่งเศสก็มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล่มสลายของรัฐบาลของมิเชล บาร์นิเยร์ ในเดือนนี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ฝรั่งเศสเพิ่มสูงขึ้น
อาริอาน ฮายาเตะ ผู้จัดการกองทุนจาก บริษัทจัดการสินทรัพย์เอ็ดมอนด์ เดอ รอธส์ไชลด์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันว่า ผู้บริโภคชาวจีนซึ่งเคยคาดหวังว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2024 นั้นกลับไม่เป็นไปตามคาดการณ์ที่วางไว้ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคชาวจีนเริ่มอิ่มตัว หลังจากที่ผ่านการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อหยุดความเครียดก็เริ่มลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสินค้าหรูหราทั่วโลก
หลังจากช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองที่สินค้าฟุ่มเฟือยและเครื่องสำอางมียอดขายพุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายเงินออมสะสมเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมชั้นสูง บัดนี้สถานการณ์กลับตาลปัตร มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญกับการสูญเสียทรัพย์สินอย่างหนัก
จากข้อมูลของ HSBC Holdings Plc พบว่ายอดขายในจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกันยอดขายในสหรัฐอเมริกาก็คาดว่าจะเติบโตได้ดีขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมโดยรวม
อ้างอิง Bloomberg