Hermès Birkin ปะทะ Wirkin เมื่อ Gen Z เลือกใช้ ‘ของเลียนแบบ’ ถูกกว่า หาซื้อง่าย
Hermès Birkin ปะทะ Wirkin ของ Walmart ปรากฏการณ์กระเป๋าหนังในราคา 2,691 บาทที่เป็นไวรัล สะเทือนวงการแบรนด์หรูเมื่อวัฒนธรรมของเลียนแบบกลายเป็นเรื่องปกติ Gen Z เลือกใช้ของคุ้มค่าและหาซื้อง่าย
อย่างที่ทราบกันดีว่า “Birkin” กระเป๋าหนังแบรนด์เนมหรูจาก Hermès ที่มีราคาสูงลิ่วเป็นที่ปราถนาของใครหลายคน แต่ตอนนี้ "Wirkin" กระเป๋าของ Walmart ที่มีดีไซน์คล้ายกับ Birkin นั้นกำลังกำลังเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียที่สหรัฐอเมริกา จนทำให้สินค้าขายดีจนเกลี้ยงชั้นในเวลาอันรวดเร็ว เพราะราคาเพียงแค่ 78 ดอลลาร์ หรือราว 2,691 บาทแถมยั้งเข้าถึงง่าย สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งใน Walmart และ Tiktok
นิตยสารฟอบส์ รายงานปรากฏการณ์ "Wirkin" ไม่ใช่เพียงแค่ “การเลียนแบบสินค้า” แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อแบรนด์หรูอย่าง Hermès หรืออาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการแฟชั่นและการบริโภค กลายเป็นสินค้าทางเลือกสุดหรูที่เข้าถึงได้ ท้าทายบรรทัดฐานเดิมที่มีมายาวนาน พิสูจน์ให้เห็นว่าสไตล์ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับราคาที่แพง และคนให้ความสำคัญกับ “ความคุ้มค่า” มากขึ้น
ผู้ผลิตกระเป๋า Walmart Birkin อย่าง Kamugo อ้างว่าวัสดุภายนอกของกระเป๋า Wirkin ทำจากหนังวัวแท้ แต่ภายในใช้หนังสังเคราะห์
ในขณะที่แบรนด์หรูอย่าง แอร์เมส ยังคงยึดมั่นในความเป็นเอกลักษณ์และงานฝีมือที่ประณีต แต่แนวคิดเรื่องความหรูหรากำลังถูกนิยามใหม่โดยกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกและการเข้าถึงได้มากกว่าแบรนด์เนม จึงไม่แปลกใจที่กระเป๋า "Wirkin" ได้กลายเป็นไอเท็มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่
"กระเป๋า Birkin ของ Walmart เรียกว่า Wirkin และเหมาะสำหรับคนคลาส Wirkin"
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า Hermès ยังคงครองตำแหน่งบริษัทสินค้าหรูหราชั้นนำของโลกอันดับที่ 1 ตามรายงานของ Deloitte สินค้าหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทคือสินค้าเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์อานม้า โดยเฉพาะกระเป๋า Birkin ที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก คิดเป็นสัดส่วนถึง 42.8% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2567
นโยบายการขายและราคาของกระเป๋า Birkin ที่ต้องซื้อสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมก่อนจึงจะได้สิทธิ์ซื้อกระเป๋า จนมีลูกค้ายื่นฟ้อง Hermès ในเดือนมี.ค. กรณีผิดกฏหมายต่อต้านการผูกขาดทำให้มีหลายคนมองว่ากระเป๋าคล้าย Birkin ที่วางจำหน่ายใน Walmart เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า
สตีเวน มอย หัวหน้าฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทที่ปรึกษา G & Co. มองว่าผู้บริโภคบางคนรอคอยกระเป๋า Birkin มานานหลายปี Moy กล่าวเสริมว่าผู้บริโภคที่ร่ำรวยซึ่งภักดีต่อแบรนด์หรูอย่าง Hermès จะไม่หยุดซื้อเพราะสินค้าเลียนแบบเหล่านี้
วัฒนธรรม 'สินค้าลอกเลียนแบบ’
วัฒนธรรม “การเลียนแบบ” ผลิตภัณฑ์กำลังแพร่หลายไปทั่ววงการแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์หรูอย่าง Hermès ที่เป็นเป้าหมายหลักของการลอกเลียนแบบ แต่ Hermès ไม่แบรนด์เดียวที่เจอกับเรื่องนี้เพราะแบรนด์ดังอื่นๆ เช่น แก้วน้ำ Stanley, แบรนด์เสื้อผ้า Skims และ Lululemon ก็เจอปัญหาที่คล้ายกัน มีผลิตภัณฑ์เลียนแบบราคาถูกออกมาแข่งขันในตลาดอย่างต่อเนื่อง
สินค้าที่ถูกออกแบบมาให้มีความคล้ายคลึงกับสินค้าแบรนด์เนมกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สินค้าเหล่านี้มักเรียกว่า 'สินค้าเลียนแบบ' ซึ่งแตกต่างจาก 'ของปลอม' ตรงที่สินค้าเลียนแบบไม่ได้มีการติดโลโก้ปลอมหรืออ้างว่าเป็นสินค้าแบรนด์เนมแท้ แต่จะเน้นไปที่การออกแบบที่คล้ายคลึงกันในราคาที่จับต้องได้ง่ายกว่า ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาสนใจสินค้าประเภทนี้มากขึ้น
“ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการให้บริการกลุ่มลูกค้าประเภทใด”
สตีเวน มอย ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์การเลียนแบบผลิตภัณฑ์ โดยระบุว่าการหลอกลวงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้" ซึ่งคำกล่าวนี้ชวนให้นึกถึงกรณีของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เช่น Toyota และ Honda ที่เคยเผชิญหน้ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงที่เปิดตัวรถหรูรุ่น Lexus และ Acura เนื่องจากถูกมองว่าเป็นการเลียนแบบดีไซน์ของรถยุโรปชั้นนำ สิ่งนี้สะท้อนว่าการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง ทำให้การเลียนแบบกลายเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการหลายรายนำมาใช้ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดและสร้างความแตกต่าง
วิวัฒนาการของความ ‘หรูหรา’
ก่อนหน้านี้ นักช้อป Gen Z ชาว “จีน” เริ่มนิยมใช้สินค้าแบรนด์เนม ที่เป็น "ของปลอม" หรือสินค้าลักชัวรีปลอมเกรด "Superfake" มีความเนียนเหมือน "ของแท้" จนแยกออกได้ยาก เนื่องจากใช้วัสดุคุณภาพดีแต่ราคาขายต่ำกว่าหลายเท่าตัว
อย่างไรก็ดี หากกระแสของปลอมเกรด "Superfake" ในหมู่ชาวจีนขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ย่อมกระทบเหล่าแบรนด์เนม สินค้าลักชัวรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจีนถือเป็นตลาดสำคัญที่สินค้าหรูหวังพึ่งพิง
รายงานของ Is Luxury Democratization Impactful ระบุว่าแนวคิดเรื่องความหรูหรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สินค้าที่เคยถูกมองว่าเป็นของสำหรับชนชั้นสูงตอนนี้สามารถเข้าถึงได้โดยกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น นี่ไม่ได้หมายความว่าความหรูหราจะเสื่อมค่าลง แต่เป็นการวิวัฒนาการของความหรูหราที่ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน