จีนเร่งพัฒนา ท่าเรือ-สนามบิน พื้นที่ตะวันตกแม้เผชิญปัญหาชาติพันธุ์รุนแรง
จีนประกาศ 15 มาตรการเร่งพัฒนาภาคตะวันตก มุ่งยกระดับศูนย์การบินนานาชาติ 5 เมืองใหญ่ พร้อมสร้างและขยายท่าเรือ เชื่อมโยงการขนส่งทั้งทางราง-อากาศ-น้ำ หวังลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค แม้เผชิญปัญหาชาติพันธุ์อย่างรุนแรง
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานวันนี้ (6 ม.ค.) ว่า จีนประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่าจะเปิดตัวมาตรการ 15 ข้อเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาในจังหวัดทางตะวันตก โดยจะมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เช่น ท่าเรือและศูนย์การบิน
สื่อของทางการจีนรายงานถ้อยแถลงของ กรมศุลกากรระบุว่า มาตรการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการบูรณาการการเชื่อมต่อทางราง อากาศ แม่น้ำ และทะเลในภาคตะวันตกของจีน
มาตรการดังกล่าวจะรวมถึงการยกระดับศูนย์การบินนานาชาติในเมืองต่างๆ รวมถึงเฉิงตู ฉงชิ่ง คุนหมิง ซีอาน และอุรุมชี พร้อมทั้งพัฒนาเขตปลอดภาษีแบบครบวงจร และบูรณาการสิ่งเหล่านี้เข้ากับท่าเรือและการเชื่อมต่อการขนส่งอื่นๆ
จะมีการสร้างและขยายท่าเรือหลายแห่ง
บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามมาอย่างมากที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันตก ซึ่งล้าหลังพื้นที่ชายฝั่งอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ในพื้นที่เช่น ซินเจียง และมาตรการรักษาความมั่นคงที่เข้มงวด ซึ่งปักกิ่งระบุว่าจำเป็นต่อการรักษาความสามัคคีของชาติและความมั่นคงตามแนวชายแดนได้รับเสียงวิจารณ์จากประเทศตะวันตกบางประเทศ
ทั้งนี้ ภูมิภาคฝั่งตะวันตกของจีนครอบคลุมพื้นที่ประมาณสองในสามของทั้งประเทศ รวมถึงภูมิภาคต่างๆ เช่น เสฉวน ฉงชิ่ง ยูนนาน ซินเจียง และทิเบต
ขยายโครงสร้างพื้นฐานฝั่งตะวันตกรับ BRI
คง อี้ ศาสตราจารย์จากโรงเรียนการบริหารเทียนจิน กล่าวกับโกลบอลไทม์ส เมื่อวันอาทิตย์ว่า การพัฒนาภูมิภาคตะวันตกกำลังเข้าสู่เฟสสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative) มากขึ้น ขณะที่เมืองและภูมิภาคต่างๆ เช่น เฉิงตู ฉงชิ่งในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และซินเจียง ได้กลายเป็นเสาหลักสำคัญในการสนับสนุนการเปิดประเทศผ่านโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ สำนักข่าวซินหัว ระบุว่า ภูมิภาคทางตะวันตกของจีนมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการเชื่อมต่อกับคู่ค้าการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 12 เขตทางภาคตะวันตกของจีนครอบคลุมพื้นที่สองในสามของประเทศและเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรมากกว่าหนึ่งในสี่ของประเทศ นอกจากนี้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีประชากรเบาบางและโครงสร้างพื้นฐานที่จำกัด ทำให้ภูมิภาคตะวันตกล้าหลังทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับมณฑลทางตะวันออก
มากไปกว่านั้น เส้นทางการค้าทางบก-ทะเลระหว่างประเทศใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายโลจิสติกส์สำคัญที่เชื่อมภูมิภาคตะวันตกของจีนกับตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน มีปริมาณการขนส่งทางรถไฟ-ทะเลแบบผสมผสานทะลุ 10,000 เที่ยวในปี 2024
เส้นทางดังกล่าวได้ยกระดับภูมิภาคตะวันตกสู่จุดได้เปรียบด้านการเปิดประเทศ เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันเชื่อมต่อกับท่าเรือ 523 แห่งใน 124 ประเทศและภูมิภาค
จากข้อมูลของกรมศุลกากร ระหว่างปี 2020 ถึง 2023 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวมของภูมิภาคตะวันตกเพิ่มขึ้นจาก 2.96 ล้านล้านหยวน (4.0434 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็น 3.74 ล้านล้านหยวน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 8.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน 1.2 จุด
เอาตัวรอดจากทรัมป์ 2.0
ทั้งนี้ นักวิชาการส่วนหนึ่งมองความพยายามในการเสริมสร้างความแข็งเเกร่งของ BRI ของทางการจีนว่าเป็นความพยายามในการเอาตัวรอดจากการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐซึ่งนำโดยว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะโครงการดังกล่าวเป็นไม่กี่เครื่องมือที่สี จิ้นผิง เหลืออยู่ในการสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง
อ้างอิง:Reuters Global Times กรุงเทพธุรกิจ