กรีนแลนด์สำคัญแค่ไหน ทำไมลูกชายทรัมป์ต้องไปเอง
โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายคนโตของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางเป็นการส่วนตัวถึงกรุงนุกของกรีนแลนด์เมื่อวันอังคาร หนึ่งวันหลังบิดาย้ำว่าสนใจอยากครอบครองเกาะนี้ ที่เป็นดินแดนกึ่งปกครองตนเองของเดนมาร์ก
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ นั่งเครื่องบินส่วนตัว “ทรัมป์ฟอร์ซวัน” ของพ่อ ไปยังกรุงนุกของกรีนแลนด์ เมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ใช้เวลาอยู่ที่นั่นราว 4-5 ชั่วโมง ไม่มีกำหนดพบกับคนในรัฐบาลกรีนแลนด์ เกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 57,000 คนเท่านั้น
“กรีนแลนด์กำลังร้อน จริงๆ แล้ว หนาวมากๆ” ทรัมป์ จูเนียร์โพสต์ข้อความลงบนแพลตฟอร์ม X พร้อมแนบคลิปถ่ายจากห้องนักบิน ขณะที่เครื่องบินเตรียมลงจอดท่ามกลางภูเขาหิมะปกคลุม
“เราดีใจจริงๆ ที่ได้มาที่นี่ เรามาในฐานะนักท่องเที่ยวเพื่อดูดินแดนอันเหลือเชื่อนี้” เจ้าตัวเผยกับสถานีโทรทัศน์เคเอ็นอาร์ของกรีนแลนด์เมื่อมาถึง และว่า เดิมทีตนมีแผนจะมาที่นี่เมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา และว่า ตนได้คุยกับบิดาแล้ว “พ่อฝากเซย์ฮัลโหลกับทุกคนในกรีนแลนด์”
ตามข้อมูลที่โพสต์บน X พบว่า นายเซอร์จิโอ กอร์ ว่าที่ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าหน้าที่ประธานาธิบดี และนายเจมส์ แบลร์ ผู้ช่วยหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย การเมือง และกิจการสาธารณะของทรัมป์ ร่วมทริปกรีนแลนด์กับทรัมป์จูเนียร์ด้วย
รอยเตอร์สส่งอีเมลไปถามเรื่องทริปกรีนแลนด์ ได้คำตอบจากทรัมป์ จูเนียร์
“ในฐานะคนที่เคยไปเที่ยวที่แปลกๆ มาแล้วทั่วโลก ในฐานะผู้ชายเอาท์ดอร์ ผมตื่นเต้นที่ได้แวะกรีนแลนด์หาความสุขเล็กๆ ในสัปดาห์นี้”
ข่าวกรีนแลนด์กลายเป็นประเด็นร้อน เนื่องจากว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้มีกำหนดสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค. ส่งสัญญาณว่าจะดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยไม่ผูกพันกับความสุภาพทางการทูต ขู่จะยึดคลองปานามา
เดือนก่อนทรัมป์กล่าวว่า การที่สหรัฐควบคุมกรีนแลนด์ “เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง” และล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (6 ม.ค.) ทรัมป์โพสต์บนทรูธโซเชียล“ทำให้กรีนแลนด์ยิ่งใหญ่อีกครั้ง!”
“กรีนแลนด์เป็นสถานที่เหลือเชื่อ และผู้คนจะได้ประโยชน์มหาศาลถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งของชาติเรา” ทรัมป์ระบุ
ต่อมาในวันจันทร์ ทรัมป์ไม่ตัดประเด็นปฏิบัติการทางทหารหรือทางเศรษฐกิจ เมื่อลั่นวาจาว่าอยากให้สหรัฐกลับไปควบคุมคลองปานามาและได้กรีนแลนด์โดยในการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวถามทรัมป์ว่า เขาจะหลีกเลี่ยงการใช้ทหารหรือบีบบังคับทางเศรษฐกิจกับปานามาและกรีนแลนด์หรือไม่
“ไม่ ผมไม่สามารถรับรองคุณได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ แต่ที่ผมบอกได้คือ เราจำเป็นต้องมีเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”
หลังความเห็นทรัมป์นายกรัฐมนตรีเมตต์ เฟรเดอริกสันของเดนมาร์ก เผยกับสถานีโทรทัศน์ TV2 ของเดนมาร์ก เธอไม่คิดว่า การต่อสู้กับพันธมิตรใกล้ชิดซึ่งมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งเป็นเรื่องดี
“สหรัฐเป็นพันธมิตรใกล้ชิดและสำคัญที่สุด ดังนั้นฉันจึงไม่สามารถจินตนาการได้ว่าเราจะไปถึงจุดนั้น” นายกฯ เดนมาร์กกล่าว
เมื่อปี 2019 ทรัมป์เคยเลื่อนกำหนดการเยือนเดนมาร์ก หลังนายกฯ เฟรเดอริกสันเมินไอเดียซื้อกรีนแลนด์ของเขา ดินแดนนี้เคยเป็นอาณานิคมของเดนมาร์กจนถึงปี 1953 ปัจจุบันเป็นเขตกึ่งปกครองตนเอง
ด้านนายกรัฐมนตรีมิวต์ เอเกเดของกรีนแลนด์ ย้ำในสุนทรพจน์ปีใหม่ที่ผลักดันเอกราชกรีนแลนด์ว่า เกาะนี้ไม่ได้มีไว้ขาย
เมื่อวันอังคาร นายกฯ เอเกเดโพสต์เฟซบุ๊ค “อนาคตและการต่อสู้เพื่อเอกราชคืองานของเราในขณะที่คนอื่นๆ รวมถึงชาวเดนมาร์กและชาวอเมริกันมีสิทธิ์ที่จะมีความคิดเห็นของตนเอง เราไม่ควรตกอยู่ในความตื่นตระหนกจนปล่อยให้แรงกดดันภายนอกมาเบี่ยงเบนเราจากเส้นทางของเรา”
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างกรีนแลนด์กับเดนมาร์กซึ่งเป็นพันธมิตรนาโตเลวร้ายลง จากข้อกล่าวหาเรื่องที่ชาวกรีนแลนด์ในอดีตได้รับการปฏิบัติไม่ดีจากรัฐบาลเดนมาร์ก
เมื่อวันจันทร์เอเกเดเลื่อนเข้าเฝ้ากษัตริย์เฟรเดอริกแห่งเดนมาร์กมาเป็นวันพุธ (8 ม.ค.) ในกรุงโคเปนเฮเกนโดยไม่แจ้งเหตุผล
“เราจำเป็นต้องร่วมมือกับชาวอเมริกันอย่างใกล้ชิดมากๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ดิฉันอยากเรียกร้องให้ทุกคนเคารพชาวกรีนแลนด์ในฐานะประชาชน นี่คือประเทศของพวกเขา มีแต่กรีนแลนด์เท่านั้นที่จะตัดสินอนาคตของกรีนแลนด์”เฟรเดอริกสันกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ TV2 เมื่อวันอังคาร
กรีนแลนด์เป็นเส้นทางลัดสั้นที่สุดระหว่างยุโรปกับอเมริกาเหนือ และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อกองทัพสหรัฐและระบบเตือนภัยขีปนาวุธ
ที่นี่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แต่การพัฒนาน้อย เศรษฐกิจจึงต้องพึ่งพาการประมงและการอุดหนุนจากเดนมาร์ก
อาจา เคมนิตซ์ สมาชิกรัฐสภาเดนมาร์กจากกรีนแลนด์ กล่าวว่า การครอบครองของสหรัฐควรถูกปฏิเสธ
“ดิฉันไม่อยากเป็นกุ้งในเงื้อมมือร้อนๆ แห่งการขยายอาณาจักรของทรัมป์ ที่รวมถึงประเทศเราด้วย” เจ้าตัวระบุ