สหรัฐเร่งเครื่อง 'แบล็กลิสต์' จีน กระตุ้น Decoupling ซัพพลายเชนโลก
สื่อนอกวิเคราะห์ การขึ้นบัญชีดำ Tencent - CATL บริษัทยักษ์ใหญ่ท็อป 20 ในจีน จะยิ่งเร่งกระบวนการ "แบ่งขั้วเศรษฐกิจ" (Decoupling) ของสองเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เพียงแค่เริ่มต้นสัปดาห์ที่สองของปี 2568 สหรัฐก็เดินหน้าสงครามเทคโนโลยีกับจีนรอบใหม่ทันทีกับการขึ้น "บัญชีดำ" บริษัทที่สหรัฐอ้างว่าได้ร่วมงานหรือมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีนทั้งทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีส่วนสนับสนุนฐานอุตสาหกรรมทางทหารของจีนอย่างมีนัยสำคัญ
บัญชีนี้เป็นของกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่รู้จักกันดีในชื่อ Section 1260H list ไม่มีบทลงโทษอย่างเป็นทางการ แต่ทำหน้าที่เป็นเสมือนแหล่งอ้างอิงให้หน่วยงานรัฐ และบริษัทต่างๆ พิจารณาเพื่อหลีกเลี่ยงการร่วมงานด้วย เพราะเป็นเสมือนก้าวแรกที่อาจขยายไปสู่การขึ้นบัญชีคว่ำบาตรทางการค้าต่อไปของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในรอบล่าสุดนี้ บริษัทจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับ "ท็อป 20" ของจีนในแง่มูลค่าตลาด และมีความสำคัญอย่างมากต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก หนึ่งในนั้นคือ "เทนเซ็นต์" (Tencent) บริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากที่สุดในจีน และ "ซีเอทีแอล" (CATL) บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานเชิงวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ว่า การเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐในการขยายรายชื่อบริษัททางทหารจีน ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเร่งการ "แบ่งขั้วเศรษฐกิจ" (Decoupling) ของสองเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
นับตั้งแต่มีการเผยแพร่รายงานการขึ้นบัญชีดังกล่าวเป็นครั้งแรกในปี 2564 ตามกฎหมายที่ผ่านในช่วงปลายสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ รายชื่อบริษัทดังกล่าวได้ขยายเป็น 134 แห่งแล้วในปัจจุบัน ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในแง่มูลค่าตลาด จำนวน 4 แห่ง จากทั้งหมด 20 อันดับแรกในจีน คิดเป็นมูลค่ารวมกันถึงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์
แม้ว่ารายชื่อดังกล่าวจะไม่มีการคว่ำบาตรอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งแตกต่างจากการขึ้นบัญชีของกระทรวงพาณิชย์ (Entity List) แต่ก็สามารถขัดขวางไม่ให้บริษัทในสหรัฐทำธุรกิจด้วย และยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทที่เกี่ยวข้อง
กล่าวโดยกว้างๆ ก็คือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของบัญชีนี้ แสดงให้เห็นถึงขอบเขตของเส้นแบ่งระหว่างองค์กรทางทหาร และพลเรือนเริ่มจางลง และมีความเสี่ยงที่จะเร่งให้เกิดการแยกเป็นสองทางของห่วงโซ่อุปทาน หากมีการใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นตามมาในภายหลัง
คิชอร์ มาห์บูบานี อดีตเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า นี่คือ แนวทางที่เสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อวอชิงตัน และการเพิ่มรายชื่อครั้งล่าสุดนี้เป็นเรื่องที่ "ไม่ฉลาด"
"ทั้งโลกจะหันไปพึ่งพาบริษัทจีนสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย รวมถึงบริษัทอย่าง Tencent และ CATL...หากสหรัฐพยายามแยกตัวจากบริษัทจีน และการเข้าถึงโลกของบริษัทเหล่านี้ สหรัฐก็ไม่ได้แค่แยกตัวออกจากจีนเท่านั้น แต่ยังแยกตัวจากส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย" มาห์บูบานีซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ Has China Won? กล่าว
แม้ว่ารายชื่อดังกล่าวจะมาในช่วงปลายวาระของโจ ไบเดน แต่ผู้สนับสนุนหลักคนหนึ่งในการขึ้นบัญชี CATL และบริษัทจีนยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ก็คือ "มาร์โก รูบิโอ" ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง "รัฐมนตรีต่างประเทศ" ในวาระที่สองของทรัมป์
เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามว่าทรัมป์จะใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนหรือไม่ เพราะแม้ว่าทรัมป์จะขู่ขึ้นภาษีศุลกากรกับจีนถึง 60% แต่ขณะเดียวกันเขาก็มีมุมมองที่เป็นรูปธรรมจากกรณีที่ต้องการให้ยกเลิกการแบนแพลตฟอร์มโซเชียล "ติ๊กต็อก" และจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของเขากับอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลา
โจเซฟ เกรกอรี มาโฮนีย์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอีสต์ ไชน่า นอร์มอล ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า คงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์นี้มากน้อยเพียงใด คนทั่วไปมองว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่ก็มีเหตุผลสำคัญบางประการที่อาจเปลี่ยนแปลงแนวทางออกไป
สหรัฐได้อธิบายถึงการขึ้นบัญชีดังกล่าวว่าเป็นแนวทางในการเน้นย้ำ และโต้แย้งสิ่งที่เรียกว่า "ยุทธศาสตร์การหลอมรวมทางการทหารและพลเรือน" ของจีน ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายในการปรับปรุงกองทัพด้วยการทำให้กองทัพสามารถรับเทคโนโลยีขั้นสูง และความเชี่ยวชาญที่พัฒนาโดยบริษัท มหาวิทยาลัย และโครงการวิจัยของจีนที่ดูเหมือนเป็นหน่วยงานพลเรือนได้
แผนการที่ถูกเรียกว่าเป็น "ยุทธศาสตร์และศักยภาพระดับชาติแบบบูรณาการ" ในจีน ได้รับการส่งเสริมมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และมักถูกเน้นย้ำในสื่อของรัฐอยู่บ่อยครั้ง
นอกจาก เทนเซ็นต์ และซีเอทีแอล กระทรวงกลาโหมสหรัฐยังได้เพิ่มรายชื่อบริษัทชั้นนำในจีน เช่น เซนส์ไทม์ กรุ๊ป อิงค์ (SenseTime) และ ฉางซิน เมมโมรี เทคโนโลยีส์ อิงค์ (Changxin) เมื่อวันจันทร์ โดยระบุถึงว่าเป็นบริษัทที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของรัฐบาลปักกิ่ง นอกจากนี้ยังระบุชื่อบริษัทน้ำมันรายใหญ่อย่างไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ป (Cnooc) และคอสโค ชิปปิ้ง โฮลดิงส์ (Cosco) ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้เคยตกเป็นเป้าหมายของวอชิงตันมาก่อน
ดีแลน โหลว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ กล่าวว่า การเน้นย้ำดังกล่าวได้เปลี่ยนจากผู้รับเหมาทางทหารแบบ “ดั้งเดิม” ไปสู่บริษัทผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการประยุกต์ใช้ทางการทหาร
การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสองประเทศ ฝั่งสหรัฐออกมาตรการควบคุมการส่งออกเพื่อจำกัดความสามารถของจีนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง และการใช้เอไอเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร ในขณะที่ฝั่งจีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการควบคุมการส่งออกของตนเอง รวมถึงห้ามส่งออกวัสดุหลายชนิดที่ใช้ผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง และทางการทหารไปยังสหรัฐเมื่อเดือนที่แล้ว
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลของไบเดนได้ใช้คำอุปมาอุปไมยว่า “สนามเล็ก รั้วสูง” (Small Yard, High Fence) เพื่ออธิบายการเคลื่อนไหวเพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีน โดยมีแนวคิดหลักคือ เทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนควรจำกัดอยู่ในสนามเล็กๆ ซึ่งได้รับการปกป้องด้วยรั้วสูง สำหรับการควบคุมการค้า และการลงทุน ซึ่งจะใช้กับเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีการใช้งานทางการทหารเท่านั้น ในขณะที่การค้า และการลงทุนเชิงพาณิชย์ที่กว้างขึ้นกับจีนจะไม่ได้รับผลกระทบ
เป็นที่น่าจับตาว่าการเคลื่อนไหวล่าสุดมุ่งเป้าไปที่ เทนเซ็นต์ กับ ซีเอทีแอล ซึ่งตามทฤษฎีแล้วดูเหมือนจะไม่มีการติดต่อธุรกิจเป็นประจำกับกองทัพจีน เทนเซ็นต์เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในจีน ถือเป็นผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ต และภาคเอกชนของจีน โดยสร้างแอปพลิเคชัน WeChat ที่รวมทั้งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย บริการชำระเงิน และบริการออนไลน์ต่างๆ จนได้ชื่อว่าเป็น Everything App ในช่วงรัฐบาลทรัมป์ชุดแรกสหรัฐพยายามแบนแอปพลิเคชันนี้มาแล้วโดยอ้างถึงความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ
ส่วน CATL ไม่เพียงแต่เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ให้กับเทสลาเท่านั้น แต่ยังเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกหลายราย และเมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา รูบิโอได้ขอให้กระทรวงกลาโหมขึ้นบัญชีดำบริษัทนี้ โดยอ้างว่าบริษัทมีศักยภาพที่จะเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญให้กับกองทัพจีน
ปัจจุบัน รถยนต์อีวีประมาณหนึ่งในสามขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่จาก CATL หากผู้ผลิตรถยนต์ถูกบังคับให้ต้องหาทางเลือกอื่นแทนก็อาจส่งผลกระทบครั้งใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานอีวี และอาจก่อให้เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก
ด้านทางการจีนได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะท้าทายสหรัฐในข้อพิพาททางการค้าในอนาคต นอกเหนือจากการห้ามส่งออกแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น เจอร์เมเนียม และแกลเลียม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปักกิ่งยังได้ประกาศแผนการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้นต่อการขนส่งเทคโนโลยีที่ใช้ในวัสดุแบตเตอรี่ นอกจากนี้ จีนยังได้เพิ่มรายชื่อบริษัทของสหรัฐเข้าไปในรายชื่อ "หน่วยงานที่ไม่น่าไว้วางใจ" มากขึ้น และยังพยายามใช้มาตรการควบคุมการส่งออกกับบริษัทนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรกอีกด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์