‘สหรัฐ’ จัดหนัก ออกมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจน้ำมัน ‘รัสเซีย’ รุนแรงที่สุด

‘สหรัฐ’ จัดหนัก ออกมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจน้ำมัน ‘รัสเซีย’ รุนแรงที่สุด

“สหรัฐ” ออกมาตรการคว่ำบาตร “รัสเซีย” หนักหน่วงที่สุดเท่าที่มีมา หวังตัดรายได้ ส่งหนุนกองทัพมอสโก กดดันยุติสงครามยูเครน

รัฐบาลโจ ไบเดน กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเมื่อวันศุกร์ (10 ม.ค.) ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมุ่งเป้าหมายไปที่รายได้รัสเซียจากค้าน้ำมันและก๊าซ หวังให้ยูเครน และสหรัฐมีอำนาจต่อรองยุติสงครามรัสเซียกับยูเครน

การดำเนินการดังกล่าว เพื่อตัดรายได้รัสเซียที่จะนำไปสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 12,300 ราย และทำลายเมืองต่างๆ จนเป็นซากปรักหักพัง นับตั้งแต่กองทัพมอสโกรุกรานยูเครนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 

ประธานบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี โพสต์บนแพลตฟอร์ม X วันศุกร์ว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งรัสเซียมีรายได้น้อยลงเท่าไร สันติภาพจะกลับฟื้นคืนขึ้นเร็วเท่านั้น

ดาลีพ ซิงห์ ที่ปรึกษาระดับสูงด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ระบุในแถลงการณ์เกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียล่าสุดว่า มีความสำคัญที่สุดต่อภาคพลังงานรัสเซีย ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่สุดของมอสโก ซึ่งมีผลต่อการทำสงครามกับยูเครน

กระทรวงการคลังสหรัฐ บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรก๊าซพร้อม เนฟต์ (Gazprom Neft) และ ซูร์กุตเนฟเตอร์ก๊าซ (Surgutneftegas)  ซึ่งทำการสำรวจ ผลิต จำหน่าย และยังมีเรือรัสเซียที่ขนส่งน้ำมันจำนวน 183 ลำ รวมถึงเครือข่ายการค้าปิโตรเลียมด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐ ยังยกเลิกกฎหมายที่ยกเว้นการไกล่เกลี่ยชำระเงิน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอีกด้วย 

เจ้าหน้าที่สหรัฐ เผยว่า หากการคว่ำบาตรดังกล่าวได้บังคับใช้แล้ว จะเป็นผลให้รัสเซียสูญเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่อเดือน 

ก๊าซพรอม กล่าวว่า การคว่ำบาตรดังกล่าวไม่ยุติธรรม และขัดต่อกฏหมาย ซึ่งทางบริษัทจะยังคงดำเนินงานต่อไป

มาตรการดังกล่าว อนุญาตให้องค์กรที่ถูกคว่ำบาตร สามารถดำเนินธุรกิจพลังงาน ได้จนถึงวันที่ 12 มีนาคมนี้

ถึงอย่างไรนั้น แหล่งข่าวด้านธุรกิจน้ำมันของรัสเซีย และโรงกลั่นน้ำมันของอินเดีย ชี้ว่า การคว่ำบาตรดังกล่าวจะส่งผลให้การส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ไปยังผู้ซื้อรายใหญ่ในอินเดีย และจีนต้องหยุดชะงักลง

ราคาน้ำมันทั่วโลกพุ่งขึ้นมากกว่า 3% ก่อนกระทรวงการคลังสหรัฐประกาศมาตรการนี้ออกไป โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์แตะละระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากเอกสารคว่ำบาตรได้หลุดแพร่ออกไปในกลุ่มผู้ค้าพลังงานในยุโรปและเอเชีย