ธุรกิจญี่ปุ่น 'ล้มละลาย' สูงสุดรอบ 11 ปี ส่วนสหรัฐเจ๊งพุ่ง 14 ปี ส่วนใหญ่ 'ล้มแล้วล้มอีก'

ธุรกิจญี่ปุ่น 'ล้มละลาย' สูงสุดรอบ 11 ปี ส่วนสหรัฐเจ๊งพุ่ง 14 ปี ส่วนใหญ่ 'ล้มแล้วล้มอีก'

ปี 2567 กลายเป็นปีที่ ‘ธุรกิจญี่ปุ่น’ ประสบปัญหาหนักหน่วง เมื่อจำนวนบริษัทล้มละลายพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี อีกทั้งในสหรัฐก็หนักไม่แพ้กัน ‘บริษัทอเมริกัน’ หลายแห่งเมื่อหลุดจากล้มละลายได้แล้ว ก็กลับมาล้มละลายอีกครั้ง

จำนวน ธุรกิจญี่ปุ่น ล้มละลาย พุ่งแตะ “ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี” ในปี 2567 เนื่องจากบริษัทขนาดเล็กไม่รับมือกับต้นทุนวัตถุดิบ และแรงงานที่สูงขึ้นไม่ไหว โดยสำนักวิจัยโตเกียวโชโกะระบุ ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารว่า คดีล้มละลายเพิ่มขึ้น 15.1% ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 10,006 ราย

นี่เป็นครั้งแรกที่ตัวเลขพุ่งทะลุ 10,000 รายนับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งประเทศกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของแผ่นดินไหว และสึนามิในปี 2554 อีกทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนเพิ่มภาระต้นทุนการกู้ยืมให้กับธุรกิจขนาดเล็ก

 

ไม่เพียงเท่านั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนที่อ่อนค่าลง และราคาพลังงานที่สูงขึ้น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการล้มละลายของธุรกิจเหล่านี้

สำหรับการล้มละลายที่เกิดจากปัญหาแรงงาน รวมถึงการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น เพิ่มขึ้นประมาณ 80% เป็น 289 ราย ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติที่เปรียบเทียบได้ในปี 2556

ส่วนอุตสาหกรรมค้าส่งญี่ปุ่น มีการล้มละลายเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 26.5% เป็น 1,214 ราย และการล้มละลายในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มขึ้น 13.6% เป็น 1,924 ราย

ที่ผ่านมา กฎระเบียบการทำงานล่วงเวลาใหม่ที่บังคับใช้ในปีที่แล้ว ได้จำกัดจำนวนชั่วโมงการทำงานที่มีจำกัดในกลุ่มแรงงานที่มีจำนวนลดลงอยู่แล้ว 

“บริษัทที่มีอำนาจต่อรองต่ำ และไม่สามารถถ่ายโอนต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและต้นทุนแรงงานไปสู่ผู้บริโภคได้ กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก” ศาสตราจารย์ลิชิโร่ อุเอซูกิ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Hitotsubashi ในกรุงโตเกียวกล่าว

ไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่น แม้แต่จำนวนบริษัทล้มละลายใน “สหรัฐ” ก็พุ่งทะยานด้วย ตามข้อมูลจาก BankruptcyData ระบุว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีบริษัทมากกว่า 60 แห่งยื่นขอล้มละลายเป็นครั้งที่สองหรือสาม ซึ่งเป็น “จำนวนสูงสุด” นับตั้งแต่ปี 2563 เมื่อการปิดเมืองในช่วงการระบาดใหญ่โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐหยุดชะงักเป็นวงกว้าง

Party City เชนร้านค้าปลีกในสหรัฐได้ออกจากการล้มละลายในเดือนตุลาคม 2566 โดยปลดหนี้สิน 1 พันล้านดอลลาร์ แต่เพียง 14 เดือนต่อมา บริษัทก็ล้มละลายอีกครั้ง

ส่วน JOANN บริษัทค้าปลีกผ้าและงานฝีมือของสหรัฐก็เช่นกัน เคยหลุดจากภาวะล้มละลายและกลับไปสู่การล้มละลายอีกครั้ง

ปรากฏการณ์ของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ เป็นสัญญาณเตือน “ความเครียด” ที่กำลังก่อตัวขึ้นภายใต้เศรษฐกิจสหรัฐ โดยวิกฤตการณ์สินเชื่อเคยถูกคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น 

ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับสูง บางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงโควิด-19 และยังไม่ได้ฟื้นตัวดี ภาวะล้มละลายยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหารทั่วไป และร้านค้าปลีก เช่น Party City ซึ่งโดยรวมแล้ว การยื่นขอล้มละลายของบริษัทในสหรัฐ แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีในปี 2567 นับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตามข้อมูลจาก S&P Global Ratings
 

 

อ้างอิง: bloombergnikkei

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์