‘จีน’ กว้านตุนอาหารโลก ปรับเครือข่ายใหม่ รับมือสงครามการค้า
‘จีน’ กว้านตุนอาหารโลกสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปรับเครือข่ายใหม่ลดพึ่งพาตะวันตก
ตั้งรับสงครามการค้ายุค ‘ทรัมป์2.0’ ประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์หรือถูกกุมอำนาจผ่านใบอนุญาตินำเข้า
ภาวะเศรษฐกิจโลกแบ่งขั้วและความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ที่อาจรุนแรงขึ้น ทำให้ “จีน” ที่เคยมีบทเรียนจากสงครามการค้ารอบที่แล้ว กำลังมองหาแหล่งอาหารใหม่ๆ ทั่วโลก เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศตะวันตก และรักษาความมั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกันก็ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกได้ประโบชน์ตามไปด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “บราซิล” ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตพืชผลการเกษตรรายใหญ่ สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวโพดและถั่วเหลืองจากสหรัฐมาได้ ในขณะที่ “รัสเซีย” ก็ได้เพิ่มปริมาณการส่งออกธัญพืช น้ำมันพืช และเนื้อสัตว์ไปยังจีนอย่างมีนัยสำคัญ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่าการที่จีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้มีอำนาจในการต่อรองทางการค้าสูงและภาษีศุลกากรกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการตอบโต้ทางการค้า หากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐทวีความรุนแรงขึ้น จีนก็จะสามารถรับมือได้ดีขึ้น เนื่องจากได้เตรียมความพร้อมในการกระจายความเสี่ยงท่ามกล่งการค้าที่ผันผวน
‘เวียดนาม’ ส่งออกกุ้งมังกรเบอร์ 1
แม้ “เวียดนาม” จะส่งออกกุ้งมังกรหรือกุ้งล็อบสเตอร์ไปจีนตั้งแต่ปี 2543 แต่จุดพีกจริงๆ เพิ่งเริ่มขึ้นในปี 2563 หลังจากที่จีนมีข้อพิพาทกับ “ออสเตรเลีย” และมีคำสั่งระงับการนำเข้ากุ้งมังกรจากที่นี่ ทำให้เวียดนามกลายเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่แทน รองรับความต้องการบริโภคของชนชั้นกลางในจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ในปัจจุบัน โดยมียอดส่งออกในปี 2567 เพิ่มขึ้น 1,355% จากปีก่อน
เกษตรกรรายหนึ่งในหมู่บ้านซงโกว่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกุ้งมังกรกว่า 90% จากที่นี่ล้วนถูกส่งออกไปยังจีนกล่าวว่า คนในหมู่บ้านพึ่งพาจีนเกือบทั้งหมด และนับตั้งแต่ที่ตนเองทำฟาร์มกุ้งมังกรในปี 2539 ก็สามารถสร้างตัวจากเกษตรกรยากจน จนมีบ้าน 2 หลัง มอเตอร์ไซค์ 1 คัน และเลี้ยงดูลูก 5 คนได้
นอกจากกุ้งมังกรแล้ว จีนยังได้เปิดโอกาสทางการค้าให้สินค้าเกษตรอื่นๆ ของเวียดนาม โดยมีการปรับมาตรฐานและอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าข้ามพรมแดน ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างเวียดนามและจีนเพิ่มขึ้นถึง 19.3% แตะระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7 ล้านล้านบาท)
‘แอฟริกา’ แหล่งนำเข้าพืชตระกูลถั่ว
“ทวีปแอฟริกา” กำลังได้รับความสนใจจากจีนในฐานะแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมล็ดงา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลไม้ และเนื้อสัตว์ นอกเหนือไปจากการเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านโลหะและแร่ การเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรจากแอฟริกาใต้ ซิมบับเว แทนซาเนีย และมาดากัสการ์ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการกระจายความหลากหลายของการนำเข้า
สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐในปี 2561 ส่งผลกระทบต่อการค้า “ถั่ว” โดยจีนได้กำหนดภาษีนำเข้าถั่วจากสหรัฐเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาถั่วในตลาดจีนสูงขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการจีนจึงต้องหันไปหาแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ เช่นแอฟริกา ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตถั่วหลากหลายชนิด และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความต้องการบริโภคถั่วในจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนนำเข้าแมคคาเดเมียจากเคนยาในปี 2567 เพิ่มขึ้น 132% จากปีก่อนหน้าจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ
เดวิด กิตองกา เกษตรกรผู้ปลูกแมคคาเดเมียในเมืองเอมบู เรียกถั่วชนิดนี้ว่าเป็น “ทองคำสีเขียว” หลังจากที่ตลาดในประเทศเจอกับวิกฤตการณ์ที่ย่ำแย่ในช่วงโควิด-19 จนเกษตรกรหลายรายแทบจะโค่นต้นแมคคาเดเมียทิ้ง แต่ความต้องการถั่วในจีนที่เพิ่มมากขึ้นช่วยพลิกสถานการณ์ให้ราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 7 เท่า ทำให้กิตองกาตัดสินใจสร้างโรงงานแปรรูปมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์และเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่า
เพิ่มนำเข้าเนื้อวัวจาก ‘โบลิเวีย’
ในปี 2562 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนเดินทางไปยังโบลิเวียเพื่อประเมินด้านคุณภาพและความสะอาดของโรงงานแปรรูปเนื้อวัว โดยโบลิเวียลงทุนเงินจำนวนมากในการจัดเตรียมล่ามและจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดด้านสุขอนามัยของจีนมาช่วยเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จีนกำหนด ความพยายามทั้งหมดนี้บรรลุเป้าเมื่อจีนเปิดตลาดให้กับปศุสัตว์โบลิเวียในปีเดียวกัน ทำให้ปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าเนื้อวัวจากโบลิเวียเพิ่มขึ้นถึง 55%
จีนมีระบบการลงทะเบียนควบคุมที่เข้มงวดสำหรับการนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ และดูแลรายชื่อบริษัทที่ได้รับการอนุมัติให้ส่งออกได้ โดยให้เหตุผลเรื่องการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารรวมถึงป้องกันการแพร่ระบาดของโรค แต่หลายฝ่ายมองว่าระบบนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการค้า เพื่อให้จีนมีอำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้า และเอื้อประโยชน์กับประเทศที่เป็นมิตรด้วยมากกว่า
แม้จีนจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซาและปริมาณเนื้อสัตว์ในประเทศที่ล้นตลาด แต่ก็ยังมีการขยายการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง การออกใบอนุญาตส่งออกใหม่ๆ เช่น โรงงานไก่ในประเทศไทย หรือการกลับมานำเข้าเนื้อแกะจากอุรุกวัย และเนื้อหมูจากรัสเซีย สะท้อนให้เห็นว่าการอนุมัติเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีนัยสำคัญทางการเมืองที่ซ่อนอยู่
ความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว
แม้ว่าการเข้าถึงตลาดจีนจะเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้ส่งออก แต่การพึ่งพาตลาดขนาดใหญ่นี้มากเกินไปก็อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง ในขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายและการฟื้นตัวที่ช้าลง อุปสงค์ภายในประเทศก็ลดลง ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันก็อาจส่งผลกระทบต่อการค้าได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ส่งออกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการสูญเสียตลาด
กรณีของเวียดนามเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าเวียดนามและจีนจะปรับปรุงความสัมพันธ์กันแล้วนับตั้งแต่เคยเกิดสงครามในอดีต แต่ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่สามารถสร้างความตึงเครียดและอาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่าง 2 ประเทศได้