ตรวจสถานการณ์ไข้หวัดนก H5N1 ในสหรัฐส่อระบาดใหญ่หรือไม่?

ตรวจสถานการณ์ไข้หวัดนก H5N1 ในสหรัฐส่อระบาดใหญ่หรือไม่?

ไข้หวัดนกสายพันธุ์H5N1 แพร่ระบาดต่อเนื่องในสหรัฐในอัตราที่น่าเป็นห่วง ทั้งยังปรับตัวไปอยู่กับสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างวัวและแมวได้

เว็บไซต์ Huffpost รายงานอ้างข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ แค่เดือน ม.ค. เดือนเดียวพบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกกว่า 23 ล้านตัว

นับถึงเดือน ก.พ. ประชาชนในสหรัฐติดเชื้อH5N1 อย่างน้อย 69 คน และเสียชีวิตหนึ่งคนนับตั้งแต่ปี 2024

“เรากังวลมากกว่าปกติ เพราะไข้หวัดนกตัวนี้พัฒนาขีดความสามารถทางพันธุกรรมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ได้แล้ว เช่น แมวน้ำ มิงค์ สุนัขจิ้งจอก แมว และที่สำคัญที่สุดคือแพร่ระบาดไปถึงโคนมได้อย่างไม่คาดคิด” วิลเลียม แชฟเนอร์ อาจารย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน  คณะนโยบายสาธารณสุข ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์กล่าวถึงการที่ไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่เริ่มแพร่ไปยังฝูงโคนมในปีที่ผ่านมา

  • ยังไม่ระบาดจากคนสู่คน

ข่าวดีคือสายพันธุ์ H5N1 ที่เกิดขึ้นราวทศวรรษ 1990 ยังไม่วิวัฒนาการไปเป็นสายพันธุ์ที่อาจก่อให้เกิดการระบาดในคนได้

ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) นับถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อ H5N1 จากคนสู่คนอย่างต่อเนื่องการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับคนงานในฟาร์ม แชฟเนอร์กล่าวว่า สำหรับคนที่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับโคนมหรือสัตว์ปีกอย่างไก่ ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไข้หวัดนก “เป็นศูนย์”

โธมัส รุสโซ หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล กล่าวว่า “ไม่มีเหตุผลให้ต้องตื่นตระหนก” ถึงการระบาดในคน เพราะไวรัสยังไม่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน เขาตั้งข้อสังเกตว่าการติดไข้หวัดนกเป็นเรื่องเฉพาะคน ที่มักสัมผัสกับสัตว์ปีกหรือโคนม

“H5N1 ไม่สามารถติดมนุษย์ได้ทันที คุณต้องสัมผัสเชื้อเป็นเวลานาน เผลอๆ ในปริมาณที่สูงมาก และที่สำคัญมากคือ คนที่ติดแล้วก็ไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้”

รุสโซกล่าว แต่ไม่ได้หมายความว่า การระบาดของไข้หวัดนกจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ “มันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยแต่เราไม่อยากตัดความเป็นไปได้” รุสโซย้ำ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวด้วยว่า การที่ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้แพร่ไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดได้เป็นเรื่องน่ากังวลเนื่องจากไวรัสกำลังแพร่ระบาดไปยังสัตว์หลายชนิดพร้อมกันและต่อเนื่อง

“ไวรัสนี้จึงแสดงให้เห็นถึงสัญญาณบ่งชี้บางประการถึงภัยคุกคามต่อสุขภาพสาธารณะที่อาจเกิดขึ้นได้” สุเรส กุจีปุดี สัตวแพทย์และประธานภาควิชาโรคติดเชื้อและจุลชีววิทยา วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กให้ความเห็น

“แต่ละครั้งที่มันแพร่ไปยังสัตว์ชนิดใหม่ นั่นอาจเร่งการเปลี่ยนแปลงให้ไวรัสปรับตัว ยิ่งเกิดขึ้นบ่อย ไวรัสก็ยิ่งมีโอกาสเรียนรู้ทักษะที่จะแพร่ไปยังสัตว์ชนิดนั้นมากขึ้น” กุจีปุดีกล่าวและว่าการติดต่อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ได้ “หนึ่งหรือสองครั้ง” และ “อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ”

ในกรณีร้ายแรงที่สุดกรณีหนึ่งคือสัตว์อย่างสุกรติดเชื้อทั้งไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ แล้วเรียนรู้วิธีการแพร่ไวรัสได้ดีขึ้นที่เรียกกันว่า “การติดเชื้อผสม” แชฟเนอร์กล่าว