จบ “สงครามยูเครน” ผลประโยชน์ที่แบ่งจนลงตัว? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

การพบกันระหว่างมาครงกับทรัมป์นอกจากจะเป็นนัยทางการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ฝรั่งเศสแล้ว ยังถือเป็นตัวแทนชาติยุโรป ที่ได้มีโอกาสหารือสงครามยูเครนกับทรัมป์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของดีลสันติภาพ
คือความชาญฉลาดของฝรั่งเศส ที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศสไปพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ที่ทำเนียบขาว
ในห้วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่ดูเหมือนจะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เมื่อสหรัฐกับรัสเซียดูเหมือนจะเริ่มเจรจาหาทางลงให้กับสงครามที่ยืดเยื้อมาถึง 3 ปี ที่มีทหารและพลเรือนเสียชีวิตรวมหลายแสนราย ไม่นับรวมการบาดเจ็บและความเสียหายทางเศรษฐกิจและสภาพบ้านเมืองที่ยากจะฟื้นฟูในระยะเวลาอันใกล้
และขณะที่ดูเหมือนว่ายูเครนและยุโรปกำลังถูกกีดกันออกจากวงเจรจาของสหรัฐกับรัสเซีย การเจรจาหาทางลง ค่าปฏิกรณ์สงคราม การแบ่งดินแดนและผลประโยชน์ ระบบระเบียบใหม่ในยูเครนหลังสงคราม ที่ทำกันระหว่างสองมหาอำนาจโดยไม่ปรึกษาผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ซึ่งก็คือยุโรปและยูเครน
ดังนั้นการพบกันระหว่างมาครงกับทรัมป์นอกจากจะเป็นนัยทางการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ฝรั่งเศสแล้ว ยังไปในฐานะตัวแทนชาติยุโรป ที่ขณะนี้มีปัญหาอย่างหนักเรื่องความมั่นคงอันเนื่องมาจากสงครามกับรัสเซียและนโยบายต่างประเทศใหม่ในยุคทรัมป์
ชาติยุโรปแต่เดิมในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สามารถพูดได้ว่ามีความเข้มแข็งเพราะถูกนำโดยเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งทั้งสองประเทศก็มีผู้นำประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและอยู่มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเสถียรภาพทางการเมืองของเยอรมนีลดลงเรื่อยๆ หลังจากการลงจากอำนาจของอังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกฯ เยอรมนีที่ดำรงตำแหน่งนานถึง 16 ปี ภาระที่หนักอึ้งนี้ก็ตกลงบนบ่าของมาครงผู้นำฝรั่งเศสทันที
แล้วเพราะอะไร ยุโรปจึงต้องนำโดยเยอรมนีและฝรั่งเศสเท่านั้น? ทำไมชาติอื่นๆ อาทิ อิตาลี สเปน หรือแม้กระทั่งโปแลนด์ไม่สามารถขึ้นมานำยุโรปได้ คำตอบก็คือ ขนาดเศรษฐกิจ เยอรมนีและฝรั่งเศสคือชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป สองประเทศนี้เป็นประเทศร่ำรวยที่ไม่เพียงมีเงินพอในการแก้ปัญหาในประเทศตนได้ แต่ยังสามารถเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปยังชาติอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ในระยะยาวของชาติตนและกับยุโรปโดยรวม
เยอรมนีซึ่งปัจจุบันเพิ่งมีการเลือกตั้ง และรัฐบาลใหม่นั้นมีแนวโน้มค่อนไปทางขวา ซึ่งสวนทางกับรัฐบาลเดิมที่ครองอำนาจต่อกันมาตั้งแต่ยุคนางแมร์เคิล ที่มีท่าทีค่อนไปทางรอมชอมกับรัสเซีย มีนโยบายที่ค่อนไปทางซ้ายโดยเฉพาะเรื่องของการรับผู้อพยพ แต่จังหวะทางการเมืองของเยอรมนีก็ไม่อำนวยให้อยู่ในฐานะผู้นำของยุโรปเพราะรัฐบาลก็ยังไม่ทันตั้ง ดังนั้นนโยบายก็ยังไม่ชัดเจน แต่การเจรจาสันติภาพและแบ่งผลประโยชน์กำลังเกิดขึ้นแล้ว
สงครามในยูเครนที่ดำเนินมาถึง 3 ปีเต็มในที่สุดก็ดูเหมือนกำลังเข้าสู่บทสุดท้าย เมื่อประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน มีกำหนดพบทรัมป์ที่ทำเนียบขาวในวันพรุ่งนี้ หลังจากเกิดวิวาทะทางการเมืองมากมาย โดยเฉพาะช่วงหลังที่ทรัมป์กล่าวหาเซเลนสกีแรงในระดับเรียกว่าเป็น “เผด็จการ” ผลประโยชน์ที่สหรัฐสมควรได้รับจากการช่วยเหลือยูเครนดูเหมือนจะตกลงดีลกันได้ และในวันพรุ่งนี้ก็น่าจะเห็นความชัดเจน
ซึ่งก็เป็นไปตามสัญญาที่ให้กับประชาชนอเมริกันของทรัมป์ไว้ว่า เมื่อเข้ามาจะหยุดสงคราม(ทันที)!