ทีมทรัมป์เจรจาแบบ "ขู่กรรโชก" ประธานาธิบดียูเครน

ทีมทรัมป์เจรจาแบบ "ขู่กรรโชก" ประธานาธิบดียูเครน

บทความนี้ผมนำเอาบทความของ The Economist เรื่อง “Donald Trump makes Ukraine and offer its can't refuse” เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2568 มาสรุปดังนี้ครับ

ทีมทรัมป์ต้องการให้ยูเครนยอมแบ่งกำไรจากกิจการทำเหมือง กิจการท่าเรือและกิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ให้กับสหรัฐ เพื่อแลกกับการที่สหรัฐ ได้ให้และอาจจะให้การสนับสนุนกับยูเครน

ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวของสหรัฐนั้น ประธานาธิบดีเซเลนสกีมองว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม (unfair) แต่ ณ วันที่ 25 ก.พ. ก็ยังมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง และต่อมาจึงประสบความสำเร็จในการทำข้อตกลงในกรอบกว้าง (Framework Agreement)  เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 

วัตถุประสงค์ของผมในการนำเสนอบทความนี้คือ การให้ข้อมูลภูมิหลังเกี่ยวกับกระบวนการเจรจาของสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์

ทีมยูเครนแสดงความเห็นว่า แนวทางการเจรจาของทีมสหรัฐนั้น ในช่วงแรก ทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก และเงื่อนไขที่เสนอต่อยูเครนนั้น ฝ่ายยูเครนมองว่าไม่ใช่การเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงร่วมกัน แต่เป็นการขู่กรรโชก (not negotiation but extortion) ซึ่งภูมิหลังของเรื่องนี้มีดังนี้

เมื่อ ก.ย.ปีที่แล้ว ในช่วงปลายสมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประธานาธิบดีเซเลนสกีได้เสนอให้สิทธิในการทำเหมืองแร่ให้กับสหรัฐ เกี่ยวกับศักยภาพของยูเครนในเรื่องของทรัพยากรทางธรรมชาตินั้น สหประชาชาติรายงานว่า

“Ukraine has deposit of 21 rare earth elements from the list of 30 substances the Europeans Union defines as “critical raw materials”

โดยประเมินว่า มีแร่ที่มีค่าดังกล่าวในยูเครนประมาณ 5% ของปริมาณแร่ดังกล่าวทั้งหมดในโลก แม้ว่าพื้นที่ของยูเครนนั้นมีสัดส่วนเพียง 0.4% ของพื้นผิวโลกทั้งหมด 

โดยสหประชาชาติกล่าวสรุปว่า “These materials are key in the production of devices for the development of “green” energy. These include lithium, cobalt, graphite, titanium and niobium”

ข้อเสนอของประธานาธิบดีเซเลนสกีนั้น ในชั้นแรกคือ การให้สิทธิในการลงทุนเพื่อทำเหมืองแร่กับสหรัฐ เพื่อแลกกับการที่สหรัฐจะให้การค้ำประกันความมั่นคงของยูเครน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

รวมทั้งการยินยอมรับให้ยูเครนเป็นสมาชิกของสนธิสัญญานาโต้ (ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือ มาตรา 5: การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือว่าเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ แปลว่า ทุกประเทศสมาชิกจะต้องมาช่วยปกป้องยูเครน หากถูกรัสเซียรุกรานอีก)

ทีมของทรัมป์นำเอาข้อเสนอดังกล่าวมาดัดแปลงไปเป็นเงื่อนไขว่า ยูเครนจะต้องมอบสิทธิในการเป็นเจ้าของแร่ธาตุดังกล่าวให้กับสหรัฐเพื่อเป็นการ “ใช้คืนหนี้” เงินช่วยเหลือที่สหรัฐมอบให้กับยูเครนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ซึ่งเป็นเงินให้เปล่า (grant) เพื่อช่วยเหลือยูเครนร่วมกับสหภาพยุโรป ไม่ใช่การ “ปล่อยกู้” ให้กับยูเครน)

ทั้งนี้โดย ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังไม่ยอมรับเงื่อนไขว่า สหรัฐจะให้การค้ำประกันความมั่นคงกับยูเครนในอนาคตแต่อย่างใด

ต่อมาก็ยังมีการยื่นเงื่อนไขในเชิงรุกเพิ่มขึ้นว่า รัฐบาลยูเครนจะต้องโอนกำไรของรัฐบาลครึ่งหนึ่ง (50%) ในการทำเหมือง และโครงการพื้นฐานต่างๆ เช่น ท่าเรือไปให้กับกองทุนที่รัฐบาลสหรัฐจะจัดตั้งขึ้น

ที่สำคัญคือ ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างตัวเลขว่า ยูเครน “เป็นหนี้” รัฐบาลสหรัฐทั้งหมด 500,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริงอย่างมาก 

เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (grant) ด้านความมั่นคงประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์ ที่สำคัญคือ จีดีพีของยูเครนนั้นมีมูลค่าเพียง 250,000 ล้านดอลลาร์ 

ดังนั้น การต้อง “คืนหนี้” มูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์ จึงเป็นเรื่องที่ทางยูเครนคงจะไม่สามารถยอมรับได้ เพราะจะทำให้ยูเครนต้องใช้คืนนี้ให้กับรัฐบาลสหรัฐนับ 100 ปี

นอกจากนั้น รายงานของ The Economist ยังระบุว่า ข้อเสนอของสหรัฐนั้นถูกนำเสนอครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ก.พ. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ คือนาย Scott Bessent โดย The Economist รายงานว่านาย Bessent ให้เวลาประธานาธิบดีเซเลนสกีตัดสินใจเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งประธานาธิบดีเซเลนสกีขอเวลาเพิ่มเติมเพื่อไตร่ตรองข้อเสนอของสหรัฐ

ต่อมาฝ่ายสหรัฐได้นำข้อเสนอเกือบเหมือนเดิมมาให้ยูเครนพิจารณาอีกเมื่อวันที่ 19 ก.พ. โดยผู้แทนพิเศษของสหรัฐคือ นาย Keith Kellog ซึ่งก็ยังไม่ได้มีการค้ำประกันความมั่นคงจากสหรัฐให้กับยูเครน

แต่มีเงื่อนไขที่จะปกป้องคุ้มครองสินแร่ที่จะขุดออกมา และยังเป็นการยืนยันว่ายูเครนต้องใช้คืนหนี้สินให้กับสหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยูเครนไม่สามารถยอมรับได้

จากนั้นปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ฝ่ายสหรัฐกลับมาด้วยข้อเสนอที่ย่ำแย่กว่าเดิม โดยครั้งนี้เป็นข้อเสนอมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ คือ นาย Howard Lutnick โดยข่มขู่ยูเครนให้ยอมรับการที่จะต้องโอนทรัพย์สินให้กับสหรัฐ 

ฝ่ายยูเครนเกรงว่า คำขู่ดังกล่าวนั้นแปลว่า ยูเครนจะต้องยอมรับข้อเสนอทั้งหมดของสหรัฐโดยเร็วอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะมิฉะนั้นแล้ว สหรัฐอาจจะทำข้อตกลงกับประธานาธิบดีปูติน โดยยูเครนไม่มีส่วนร่วม

ฝ่ายยูเครนยังกลัวอีกด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐอาจจะยุติการให้ยูเครนใช้ Star Link ของ Elon Musk (ทำให้ไม่มีระบบสื่อสารเพื่อใช้ในการรบกับรัสเซีย) นอกจากนั้นก็ยังเกรงว่าสหรัฐจะหยุดยั้งการให้ความช่วยเหลือยูเครนทั้งหมดอย่างฉับพลัน

มาถึงตรงนี้ ทางยูเครนก็จึงสับสนว่า คู่เจรจาคือรัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีพาณิชย์ หรือใครกันแน่ และสังเกตได้ว่า ยูเครนจะไม่ได้อะไรเพื่อสร้างอนาคตเลย และไม่เห็นฝ่ายความมั่นคงและทหารของสหรัฐมีบทบาทแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ปลดผู้นำทางการทหารของสหรัฐ ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าเป็นการ “ล้างบาง” กระทรวงกลาโหมสหรัฐอีกด้วย

ด้วยภูมิหลังและข้อมูลข้างต้น จึงเป็นที่มาของการประกาศของประธานาธิบดีเซเลนสกีเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ว่า พร้อมที่จะลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแลกกับการที่ยูเครนจะได้รับความช่วยเหลือทางทหารและการค้ำประกันความมั่นคงในอนาคตโดยสหรัฐ

แต่ต่อมาก็ยังดีที่ในที่สุดยูเครนกับสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงในกรอบกว้าง และประธานาธิบดีเซลินสกี้ได้เข้าพบประธานาธิบดีทรัมป์ในวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา.