'กองทุนสำรองคริปโทฯ' ของทรัมป์ โอกาสเป็นไปได้แค่ไหน?

'กองทุนสำรองคริปโทฯ' ของทรัมป์ โอกาสเป็นไปได้แค่ไหน?

กองทุนสำรองคริปโททางยุทธศาสตร์ของ ‘ทรัมป์’ จะเป็นไปได้แค่ไหน? เปิด 4 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของ ‘บิตคอยน์‘ และตลาดคริปโทโลก

ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” เปิดเผยข้อเสนอว่าจะตั้ง "กองทุนสำรองบิตคอยน์ทางยุทธศาสตร์" หรือ (Bitcoin Strategic Reserve Rund) ขึ้นมาในสหรัฐ คล้ายกับรูปแบบของกองทุนยุทศาสตร์น้ำมันสำรองในช่วงเดือน ธ.ค. 68 ที่ผ่านมา ทำให้ราคาบิตคอยน์ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่กว่า 1 แสนดอลลาร์

\'กองทุนสำรองคริปโทฯ\' ของทรัมป์ โอกาสเป็นไปได้แค่ไหน?

หลังจากนั้นในวันที่ 23 ม.ค. “โดนัลด์ ทรัมป์” ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลที่จะตั้ง "คณะทำงานด้านตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของประธานาธิบดี" ที่จะนำโดย David Sacks ในฐานะประธาน เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ  โดยทีมงานนี้จะประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลสำคัญ เช่น กระทรวงการคลัง, กระทรวงยุติธรรม, SEC (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) และ CFTC (สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์)

ล่าสุดวานนี้ (3 มี.ค.68)  ทรัมป์ได้ประกาศข้อมูลเกี่ยวกับ “ทุนสำรองสินทรัพย์ดิจิทัล” ว่าคณะทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของประธานาธิบดี (President’s Working Group on Digital Assets) ได้รับคำสั่งให้รวม XRP, Solana และ ADA ของ Cardano เข้าเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรอง โดย “หัวใจของทุนสำรอง” คือ บิตคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอเรียม (Ether) 

\'กองทุนสำรองคริปโทฯ\' ของทรัมป์ โอกาสเป็นไปได้แค่ไหน?

กองทุนสำรองคริปโท คืออะไร ?

แนวคิดของการสำรอง Bitcoin เชิงยุทธศาสตร์เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างในเดือนก.ค. 2567 ในระหว่างการประชุม Bitcoin ที่เมืองแนชวิลล์ เมื่อ “ซินเธีย ลัมมิส” วุฒิสมาชิกสหรัฐได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของกองทุนสำรอง โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ Bitcoin เป็น "เทคโนโลยีการออม" ของรัฐบาล และเป็นเครื่องมือในการ "เสริมความแข็งแกร่งให้กับงบดุลของสหรัฐอเมริกา" นับตั้งแต่นั้นมา แนวคิดนี้ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ได้รับการสนับสนุนจากทรัมป์ 

ในมุมมองของรัฐบาลทรัมป์ การสร้างสำรอง Bitcoin เชิงยุทธศาสตร์นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาเป็น "เมืองหลวงของคริปโทของโลก" และยังสอดคล้องกับแผนของทรัมป์ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรม การขุด Bitcoin ภายในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

นอกจากนี้ ตลาดคริปโทเชื่อว่าการจัดตั้งคลังสำรองคริปโทแห่งชาติจะช่วยแก้ปัญหา "หนี้สาธารณะ" ของประเทศได้ด้วย โดยมองว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลของรัฐบาลจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล 

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบที่แน่นอนของคลังสำรองคริปโท แต่จากคำสั่งของเขาได้ระบุว่าแหล่งที่มาของสกุลเงินดิจิทัลสำหรับคลังสำรองนี้อาจมาจากสินทรัพย์คริปโทที่ถูกยึดโดยรัฐบาลกลางผ่านการบังคับใช้กฎหมาย

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานเมื่อเดือนม.ค. 2568 ว่า ปัจจุบันรัฐบาลกลางสหรัฐมีบิตคอยน์ที่ถูกยึดไว้มูลค่าประมาณ 19,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.45 แสนล้านบาท) ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างคลังสำรองเชิงกลยุทธ์นี้ได้ 

ประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบ คือการที่ทรัมป์จะมีนโยบายซื้อคริปโทเพิ่มในปริมาณมากเพื่อเพิ่มเติมในคลังสำรองหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการกระตุ้นตลาดคริปโท อย่างไรก็ตาม นิวยอร์กไทมส์ระบุว่าการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอาจจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาก่อน

2 โอกาสเกิด ‘กองทุนคริปโท’  

เว็บไซต์คอยน์แชร์รายงานว่า ปัจจุบันมี 2 ความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งกองทุนสำรองบิตคอยน์ ทั้งสองแนวทางมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่มีวิธีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน 

แนวทางแรก คือ การออก "พระราชบัญญัติบิตคอยน์" (Bitcoin Act) ถือเป็นแนวทางที่มีผลกระทบในวงกว้างมากที่สุด และในขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางที่มีความท้าทายทางการเมืองสูงที่สุดด้วย  แนวทางนี้ต้องการให้มีการออกกฎหมายอย่างเป็นทางการเพื่อรองรับการจัดตั้งคลังสำรอง ซึ่งจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากรัฐสภา 

การสำรอง Bitcoin เชิงยุทธศาสตร์ ตามที่ระบุไว้ใน "Bitcoin Act of 2024" กำหนดให้สหรัฐอเมริกาต้องซื้อ Bitcoin จำนวน 1 ล้านเหรียญในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5% ของอุปทาน Bitcoin ทั้งหมดในโลก

ตามข้อมูลของ  Bitcoin Laws ระบุว่าขณะนี้ได้มีการเสนอร่างกฎหมายกองทุนสำรองคริปโทเชิงยุทธศาสตร์ใน 24 รัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในเดือนที่ผ่านมา ร่างกฎหมายสำรองคริปโทเผชิญกับความ “ล้มเหลว” ใน 4 รัฐ โดย  สมาชิกรัฐสภาในรัฐมอนทานา นอร์ทดาโกตา เซาท์ดาโกตา และไวโอมิง ต่างลงคะแนนเสียงคัดค้านการจัดตั้งกองทุนสำรองคริปโทระดับรัฐ โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงและความผันผวนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล  

ส่วนแนวทางที่ 2 คือ "การออกเป็นคำสั่งฝ่ายบริหาร" (Executive Order) ซึ่งถูกมองว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าในการสร้างกองทุนสำรอง Bitcoin ตราบใดที่คำสั่งนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย ประธานาธิบดีมีอำนาจในการออกคำสั่งฝ่ายบริหารได้ตามที่เห็นสมควร โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ดังนั้นหากทรัมป์ต้องการออกคำสั่งดังกล่าว ก็สามารถทำได้ตามอำนาจ

ในขณะที่อุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัลแสดงความยินดีกับข่าวการจัดตั้งคลังสำรองคริปโทแห่งชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านกลับแสดงความกังวลต่อข้อเสนอดังกล่าว

พวกเขาได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะ "ความผันผวนสูง" ของสกุลเงินดิจิทัล โดยโต้แย้งว่าการที่รัฐบาลเข้าไปลงทุนซื้อสกุลเงินดิจิทัลนั้นเปรียบเสมือนการพนันขนาดใหญ่ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่ถือครองสกุลเงินดิจิทัลอยู่แล้วเป็นหลัก และหากเกิดภาวะตลาดร่วงในอุตสาหกรรมนี้ ก็อาจทำให้เงินภาษีของประชาชนหลายพันล้านดอลลาร์สูญเปล่า 

มาร์ก แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Moody's Analytics ไม่เห็นถึงเหตุผลที่ชัดเจนในการจัดตั้งคลังสำรองดังกล่าว แม้จะเข้าใจว่าทำไมนักลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลจึงชื่นชอบแนวคิดนี้ แต่นอกเหนือจากนักลงทุนกลุ่มนี้ แซนดีไม่เห็นคุณค่าของการดำเนินการเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้เสียภาษีต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายล่วงหน้า

'ทรัมป์' มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับกองทุนนี้ 

นับตั้งแต่ “โดนัล ทรัมป์” ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ย. 2567 ราคา Bitcoin ทะยานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พุ่งกว่า 109,000 ดอลลาร์ในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง 20 ม.ค. 2568 

ก่อนหน้าพิธีสาบานตน โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเปิดตัวเหรียญมีม “$Trump” หรือ “เหรียญทรัมป์” ทำให้มูลค่าการซื้อขายพุ่งไปเกือบ 5,500 ล้านดอลลาร์ และหนึ่งวันถัดมา เมลาเนีย ทรัมป์ ภรรยาของเขาก็ได้เปิดตัวเหรียญมีมในชื่อ “MELANIA” เช่นกัน

\'กองทุนสำรองคริปโทฯ\' ของทรัมป์ โอกาสเป็นไปได้แค่ไหน?

ในอดีตที่ผ่านมา ทรัมป์ไม่ชอบคริปโท ถึงขนาดโพสต์บนแพลตฟอร์ม X  ว่า “ผมไม่ชอบ Bitcoin และเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ เพราะมันไม่ใช่เงิน ซึ่งมูลค่าของพวกมันมีพื้นฐานมาจากอากาศ และผันผวนอย่างมาก” แต่หลังจากที่ทรัมป์ยอมรับอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ทรัมป์ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนในตลาดหลายคน รวมทั้งฝาแฝดมหาเศรษฐีไทเลอร์และคาเมรอน จากตระกูล วิงเคิลวอส

รายงานจากกลุ่ม Public Citizen  พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเงินจากบริษัทต่างๆ ที่ไหลเข้าสู่การเลือกตั้งมาจากอุตสาหกรรมคริปโท  เงินจำนวนดังกล่าวมาจากผู้ร่วมบริจาคหลายราย เช่น บริษัท Coinbase และ Ripple โดยผู้บริจาคอย่างน้อย 18 รายมอบบิตคอยน์มากกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์ให้กับคณะกรรมการฯ ทรัมป์ 47 และอีก 7 รายมอบอีเธอร์ประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์

จากการประกาศครั้งล่าสุดของทรัมป์ ในการเพิ่ม 3 เหรียญทางเลือกอัลท์คอยน์ (Altcoin) เข้าไปในทุนสำรองทำให้ ADA พุ่งขึ้นมากกว่า 50% XRP พุ่งขึ้น 30% และ Solana พุ่งขึ้นมากกว่า 20% 

ก่อนหน้านี้มีรูปถ่ายของ  แบรด การ์ลิงเฮาส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Ripple  บริษัทพัฒนาเหรียญ XRP ขณะรับประทานอาหารค่ำร่วมกับประธานาธิบดีทรัมป์ที่ Mar-a-Lago ซึ่งการ์ลิงเฮาส์กล่าวในเดือนธ.ค. 2567 ว่า Ripple มีแผนที่จะบริจาค XRP มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนสาบานตนของทรัมป์

ถ้า ‘กองทุนคริปโท’ สำเร็จ อนาคต ‘บิตคอยน์’ จะเป็นอย่างไร?

เมื่อพิจารณาจากบทบาทอันทรงอิทธิพลของสหรัฐ ในเศรษฐกิจโลก การสร้างสำรองคริปโทเชิงยุทธศาสตร์น่าจะช่วยกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ เริ่มซื้อบิตคอยน์เป็นจำนวนมาก 

ปัจจุบันมีบางประเทศได้วางแผนสำหรับสำรองบิตคอยน์แล้ว ซึ่งมีการคาดเดาว่า "จีน" และ "รัสเซีย" อาจเข้ามามีบทบาท หากสิ่งนี้กลายเป็น "การแข่งขันอาวุธบิตคอยน์” ระหว่างมหาอำนาจคู่แข่ง ซึ่งอาจทำให้ราคาบิตคอยน์พุ่งสูงขึ้นและจะกระตุ้นให้รัฐบาลทั่วโลกซื้อบิตคอยน์มากขึ้น พร้อมกับเป็นตัวเร่งการนำบิตคอยน์มาใช้อย่างแพร่หลายในฐานะสกุลเงินดิจิทัลชั้นนำของโลก

แนวโน้มนี้ยังทำให้กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) และธนาคารกลางจำนวนมากได้พิจารณาเพิ่มการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเพื่อรับประโยชน์จากตลาดที่กำลังเติบโต  เช่น กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของนอร์เวย์ได้ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล โดยเป็นเจ้าของบิตคอยน์ทั้งหมด 2,446  เหรียญบิตคอยน์ ในครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 938 เหรียญบิตคอยน์ จากช่วงสิ้นปี 2566

\'กองทุนสำรองคริปโทฯ\' ของทรัมป์ โอกาสเป็นไปได้แค่ไหน?

กระแสการนำบิตคอยน์มาเป็นทุนสำรองเกิดขึ้นจริงแล้วในบางประเทศ และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในหลายประเทศ 

  • สหรัฐ

ตามรายงานล่าสุดของแพลตฟอร์ม River พบว่าปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐถือครองบิตคอยน์มากกว่า 200,000 เหรียญบิตคอยน์ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่ยึดมาจากคดีอาชญากรรม โดยสหรัฐเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่ถือครอง Bitcoin 

คณะกรรมาธิการธุรกิจและการพาณิชย์ของวุฒิสภา “เท็กซัส” ได้ผ่านร่างกฎหมายวุฒิสภา ในการการจัดตั้ง Bitcoin Reserve เชิงกลยุทธ์ ร่างกฎหมายนี้ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 9-0

  • สหราชอาณาจักร

เว็บไซต์โกลบอลไฟแนนซ์รายงานว่าสหราชอาณาจักรถือครอง Bitcoin  จำนวนมากเช่นกัน โดยสหราชอาณาจักรมี Bitcoin ประมาณ 61,200 เหรียญบิตคอยน์ 

  • เอลซัลวาดอร์

ในปี 2564 เอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกที่นำบิตคอยน์มาใช้เป็นเงินที่ถูกกฎหมาย โดยประธานาธิบดี "นายิบ บูเคเล" มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

  • สหภาพยุโรป

ซาราห์ คนาโฟ สมาชิกสภายุโรป ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปยกเลิกโครงการเงินยูโรดิจิทัล และจัดตั้งคลังสำรอง Bitcoin เชิงกลยุทธ์แทน โดยเธอได้เตือนถึง "การล่อลวงแบบเบ็ดเสร็จ" จากธนาคารกลางยุโรป