EU ออกแผนเตือน ปชช. 'ตุนเสบียง' อย่างน้อย 3 วัน รับมือภัยจากสงคราม

EU ออกแผนเตือน ปชช. 'ตุนเสบียง' อย่างน้อย 3 วัน รับมือภัยจากสงคราม

คณะกรรมาธิการยุโรป ออกแผนเตือนประชาชน ควรเตรียมอาหารและของสำคัญให้พอต่อการใช้ชีวิตอย่างน้อย 3 วัน รับมือเหตุฉุกเฉินร้ายแรงจากวิกฤติต่างๆ เช่น สงครามยูเครน

คณะกรรมาธิการยุโรป เตือน ประชาชนในสหภาพยุโรป (อียู) ควรตุนอาหารและของสำคัญให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างน้อย 72 ชั่วโมง หรือราว 3 วัน ในช่วงที่โลกเต็มไปด้วยวิกฤติ

คณะกรรมาธิการเปิดเผยแนวทางแนะนำใหม่เมื่อวันพุธ เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ยุโรปจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่ง “การเตรียมพร้อม” และ “ความยืดหยุ่น”

เอกสารที่เผยแพร่ใหม่จำนวน 18 หน้า เตือนยุโรปว่ากำลังเผชิญกับความเป็นจริงใหม่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน โดยอ้างถึงการทำสงครามเต็มรูปแบบในยูเครนของรัสเซีย ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น การก่อวินาศกรรมทางโครงสร้างพื้นฐาน และสงครามอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ข้อริเริ่มดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นเสียงเตือนเพื่อปลุกประเทศสมาชิกตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ความมั่นคงของอียู

ฝ่ายกลยุทธ์ความพร้อมสหภาพยุโรปของคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า ประชาชนทั่วทั้งภูมิภาคควรนำมาตรการแนวปฏิบัติมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า พวกเขามีความพร้อมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงการมีสิ่งของจำเป็นสำหรับการเอาชีวิตรอดให้ได้อย่างน้อย 3 วัน เพราะในกรณีที่เกิดเหตุการณ์หยุดชะงักอย่างรุนแรง การพร้อมรับมือช่วงเริ่มต้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

เอกสารดังกล่าว ระบุว่า โดยรวมแล้วพลเรือนควรได้รับการสนับสนุนให้ส่งเสริมความสามารถในการพึ่งพาตนเองและความยืดหยุ่นทางจิตใจ

คณะกรรมาธิการยุโรปยังได้เรียกร้องให้มีการนำบทเรียนเรื่อง “การเตรียมพร้อม” มาใช้ในหลักสูตรของโรงเรียน รวมถึงการมอบทักษะให้กับนักเรียนในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จและการบิดเบือนข้อมูล

เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าว

“ความเป็นจริงใหม่ต้องการความพร้อมในระดับใหม่ในยุโรป พลเมืองของเรา ประเทศสมาชิกของเรา และธุรกิจจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการดำเนินการ ทั้งเพื่อป้องกันวิกฤติ และตอบสนองอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดภัยพิบัติ”

คำแนะนำดังกล่าว เผยแพร่เมื่อวันพุธหลังจากหลายประเทศในยุโรปได้ปรับปรุงแผนฉุกเฉินของตน

เมื่อเดือน ม.ย. ปีที่แล้ว เยอรมนีได้ปรับปรุงกรอบการดำเนินงานสำหรับการป้องกันโดยรวม โดยให้คำแนะนำว่าต้องทำอย่างไรเมื่อความขัดแย้งปะทุขึ้นในยุโรป ซึ่งแนนซี ฟาเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนี กล่าวว่า แผนการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อให้ประเทศเตรียมพร้อมการเผชิญหน้ากับการรุกรานของรัสเซียได้ดีขึ้น

 

อ้างอิง: CNN