รู้จัก 'รอยเลื่อนสะกาย' ในเมียนมา ที่มาแผ่นดินไหว 8.2 แมกนิจูด

รู้จัก 'รอยเลื่อนสะกาย' ในเมียนมา หนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังที่สำคัญที่สุดในอาเซียน และเป็นต้นเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 8.2 สะเทือนแรงถึง 'ประเทศไทย' ในวันนี้
ในแถบเอเชียไม่ได้มีแค่ญี่ปุ่นหรืออินโดนีเซียเท่านั้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เพราะประเทศตั้งอยู่ในแนว วงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire ที่เป็นกลุ่มภูเขาไฟใต้น้ำที่ยังคงคุกรุ่นอยู่
ประเทศเพื่อนบ้านติดกับไทยอย่าง "เมียนมา" ก็ตั้งอยู่บน "รอยเลื่อนสะกาย" (Sagaing Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่สำคัญอันดับต้นๆ ในอาเซียนเช่นกัน และเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขนาด 8.2 ในวันนี้
เว็บไซต์ Mitrearth โดยสันติ ภัยหลบลี้ ได้อธิบายถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่าในบรรดารอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่คนไทยรู้จักกัน "รอยเลื่อนสะกาย" ถือเป็นหนึ่งใน รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ที่สำคัญอันดับต้นๆ ในอาเซียนบ้านเรา ด้วยความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศพม่า และพาดผ่านแทบทุกเมืองที่สำคัญ
ทำให้รอยเลื่อนสะกายถือว่าเป็นรอยเลื่อนยักษ์ที่อยู่ใกล้คนมากเกินไปและไม่น่าไว้ใจในอนาคต
ในทางธรณีแปรสัณฐาน นักธรณีวิทยาเชื่อว่ารอยเลื่อนสะกายเป็นขอบหรือรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อยโบราณ 2 แผ่น คือ แผ่นซุนดา และ แผ่นพม่า ซึ่งปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate)
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยมีการบันทึกไว้ในอดีต ยืนยันว่า รอยเลื่อนนี้เคยปล่อยแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป ประมาณ "70 ครั้ง" ในช่วง 562 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 1972-2534)
แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สะกายเคยฝากเอาไว้มีขนาดใหญ่ถึง 8.0 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 ที่เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ทางตอนเหนือของรอยเลื่อนสะกาย และจากการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวในเชิงสถิติของ Pailoplee ประเมินว่ารอยเลื่อนสะกายนั้นมีศักยภาพพอที่จะเป็นแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ได้สูงถึง 8.6 โดยเฉพาะบริเวณเมืองมิตจีนา (Myitkyina) ทางตอนเหนือของรอยเลื่อนสะกาย
และจากการรวบรวมผลกระทบด้านแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกายบ่งชี้ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย "ประเทศไทย" มีโอกาสได้รับแรงสั่นสะเทือนในระดับ 4-5 ตามมาตราเมอร์คัลลี่แปลง
ในอดีต แถบภาคเหนือลามไปถึงกรุงเทพฯ เคยได้รับแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนสะกายนี้ในระดับ 3 (จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.0 เมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 และ 7.0 เมื่อ 3-4 ธันวาคม พ.ศ. 2473)
ดังนั้นจึงไม่ใช่เฉพาะประเทศเมียนมาเท่านั้นที่ควรจะใส่ใจรอยเลื่อนสะกาย แต่คนไทยอย่างพวกเราก็ควรที่จะจับตาและเฝ้าระวังรอยเลื่อนสะกายอย่างไม่ให้คลาดสายตาเช่นกัน เพราะในอนาคต เราอาจจะได้สัมผัสประสบการณ์ประมาณนี้ก็เป็นได้
มาถึงวันนี้ที่แผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8.2
ล่าสุดในวันนี้ (28 มีนาคม 2568) เมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. ได้เกิดเหตุ แผ่นดินไหวเมียนมา ขนาดใหญ่ ขนาด 8.2 โดยอยู่ใต้ดินลึกลงไปเพียงประมาณ 10 กิโลเมตร จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา และยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกลูกใหญ่ขนาด 6.4 และอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายลูกตามมาจนถึงช่วงเวลาปะรมาณ 15.00 น.
แผ่นดินไหวรุนแรง ในครั้งนี้ทำให้รับรู้แรงสั่นสะเทือนไกลถึง "ประเทศไทย" และประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา เช่น จีน (ยูนนาน) อินเดีย และบังกลาเทศ มีรายงานการเกิด "ตึกถล่ม" ซึ่งเป็นตึกที่กำลังก่อสร้างในเขตพื้นที่จตุจักร กรุงเทพฯ มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งและมีผู้ติดค้างในตึก 43 คน
ส่วนในประเทศศูนย์กลางแผ่นดินไหวอย่างเมียนมา มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอแพร่หลายบนแพลตฟอร์มโซเชียล X (ทวิตเตอร์) เผยให้เห็นความโกลาหลในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวของเมียนมา ที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด
ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า กองทัพเมียนมาได้ประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน" แล้วในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ โดยได้ออกแถลงการณ์ผ่านแอปพลิเคชันส่งข้อความ Telegram ว่า “รัฐบาลจะสอบสวนสถานการณ์โดยเร็วและดำเนินการกู้ภัย พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” ทางกรุงเทพธุรกิจจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา: Mitrearth, กรุงเทพธุรกิจ