'ทรัมป์' ลั่น จะช่วย 'เมียนมา' แต่ปลดคนใน USAID ยังเป็นอุปสรรคใหญ่

ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ลั่น สหรัฐจะช่วยเหลือเมียนมาหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แต่การปลดคนในหน่วยงาน USAID เป็นอุปสรรคส่งมอบความช่วยเหลือ
รัฐบาล ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แจ้งต่อสภาคองเกรสเมื่อวันศุกร์ (28 มี.ค.) ว่า จะลดตำแหน่งที่เหลือเกือบทั้งหมดในสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และปิดหน่วยงาน แม้ทรัมป์ส่งสัญญาณว่าสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือเมียนมาหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
ผู้เชี่ยวชาญด้านความช่วยเหลือมนุษยธรรมออกมาแสดงความกังลต่อประกาศปลดพนักงานรอบใหม่ เนื่องจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของหน่วยงานนี้ช่วยสร้างอิทธิพลให้วอชิงตัน และช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกมานานกว่า 60 ปี และ USAID มีบทบาทสำคัญในการประสานงานความช่วยเหลือด้านแผ่นดินไหวด้วย
ด้านเจ้าหน้าที่ USAID และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการต่างประเทศหลายพันคนที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานให้กับหน่วยงานดังกล่าว ได้รับทราบจากบันทึกภายใน ระบุว่าตำแหน่งที่ไม่ได้กำหนดโดยกฎหมายทั้งหมดจะถูกเลิกจ้างในเดือนก.ค. และก.ย.
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐก็ได้แจ้งต่อรัฐสภาเรื่องเลิกจ้างพนักงาน โดยระบุว่า ภารกิจของ USAID ทั่วโลกจะถูกยกเลิก และงานที่เหลือของหน่วยงานจะรวมเข้ากับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ
การตัดงบประมาณของหน่วยงานทำให้ความพยายามด้านมนุษยธรรมทั่วโลกตกอยู่ในความปั่นป่วน และการประกาศล่าสุดมีขึ้นในวันที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่ประเทศไทยและเมียนมา ซึ่งส่งผลให้อาคารพังถล่มและมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่ USAID ก็มีบทบาทสำคัญในการประสานงานการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติมาโดยตลอด
รับปากช่วยเมียนมา แต่ยังช่วยไม่ได้?
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทรัมป์เผยว่า ตนได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในเมียนมาเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือ
ขณะที่แทมมี บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงใน USAID จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลในการส่งทีมตอบสนองความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ หรือ DART และเสริมว่าเธอไม่สามารถให้กรอบเวลาที่แน่นอนได้
ส่วนอดีตหัวหน้าฝ่ายรับมือภัยพิบัติของ USAID กล่าวกับรอยเตอร์ว่า การตัดงบประมาณและบุคลากรจำนวนมากของรัฐบาลทรัมป์ “ทำให้หน่วยงานไม่สามารถส่งทีมรับมือภัยพิบัติไปยังประเทศไทยและเมียนมาได้” ซึ่งจะเปิดทางให้จีนและประเทศคู่แข่งอื่นๆ ของสหรัฐ เข้าไปทำหน้าที่ดังกล่าว
“สงสัยว่าอีกไม่นาน เราคงได้เห็นทีมจีนปรากฏตัว หรืออาจจะรวมถึงทีมจากตุรกี รัสเซีย และอินเดีย เพื่อแสดงการสนับสนุนผู้คนที่กำลังทุกข์ทรมานอย่างมากในไทยและเมียนมา และจะไม่มีสหรัฐที่นั่น” ซาราห์ ชาลส์ ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บริหารด้านกิจการมนุษยธรรมของ USAID จนถึงเดือนก.พ. 2567 กล่าว
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์สหรัฐตัดสินเมื่อวันศุกร์ว่า อีลอน มัสก์ และกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ที่มีมัสก์นั่งประธาน ยังคงสามารถตัดงบประมาณของ USAID ต่อไปได้
ด้านเกรกอรี มีกส์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครต ผู้เป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า การปิด USAID เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และมีเป้าหมายเพื่อถอนสหรัฐ “ออกจากบทบาทผู้นำระดับโลกด้วยความโหดร้ายและความวุ่นวายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ทั้งนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่แน่นอนเกี่ยวกับการปลดพนักงานใน USAID ซึ่ง ณ วันที่ 21 มี.ค. ข้อมูลจาก Stand Up for Aid ระบุว่า ยังมีเจ้าหน้าที่ในสหรัฐที่ยังคงได้รับการจ้างงานและทำงานอยู่ ราว 869 คน และมีพนักงาน 3,848 คนอยู่ระหว่างพักงาน (แต่ได้เงินเดือน) และการประกาศปลดพนักงานนั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย
การปลดพนักงานรอบใหม่ จะมีอีเมลแจ้งไปที่พนักงานที่ถูกปลด ซึ่งพวกเขาสามารถเลือกได้ว่าจะออกวันที่ 1 ก.ค. หรือ 2 ก.ย.
ขณะนี้ USAID อยู่ระหว่างระงับปฏิบัติงานในต่างประเทศ จากคำสั่งของปธน.ทรัมป์ที่ให้ระงับความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐ ทั้งหมด เป็นเวลา 90 วัน เพื่อตรวจสอบว่าโครงการช่วยเหลือสอดคล้องกับนโยบายของตนหรือไม่
เจเรมี โคนินไดค์ อดีตเจ้าหน้าที่ USAID และประธานองค์กรผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ เรียกการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็น “การสละตำแหน่งผู้นำสหรัฐทั่วโลกที่ดำเนินมาหลายทศวรรษอย่างสิ้นเชิง” และว่าการปลดพนักงานจะทำให้ทีมงานที่เหลือ ถูกตัดขาดจากการระดมกำลังเพื่อรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวของ USAID
อ้างอิง: Reuters