นักวิจัยเผยจีนจัดไทย 1 ใน 26 ประเทศเสี่ยงอุยกูร์รับแนวคิดรุนแรง

ผู้เชี่ยวชาญจากวอชิงตันเผยหลักฐานชวนห่วงต่อชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับ เนื่องจากไทยเป็น 1 ใน 26 ประเทศอ่อนไหวที่จีนมองว่า อาจได้รับแนวคิดรุนแรงกลับซินเจียง
สโมสรผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ (เอฟซีซีที) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “การเยือนภูมิภาคซินเจียงของรัฐบาลไทยหลังเนรเทศชาวอุยกูร์ 40 คน” ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย แอเดรียน เซนส์ นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการจีนศึกษา จาก Victims of Communism Memorial Foundation ในกรุงวอชิงตันและอับดุลฮาคิม ไอดริส ผู้อำนวยการศูนย์อุยกูร์ศึกษาในกรุงวอชิงตัน ที่ร่วมอภิปรายผ่านซูม, สุณัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโส ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเทศไทย และ ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน โดยรัชชัน อับบาส ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อชาวอุยกูร์กล่าวเปิดเวทีด้วยวีดิโอสั้น
คณะผู้ร่วมอภิปรายทุกคนเห็นพ้องกันว่า การที่รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์กลับจีนทั้งๆ ที่มีเสียงคัดค้านมาโดยตลอด ถือเป็นการร่วมมือกดขี่ข้ามชาติกับรัฐบาลจีน ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา เช่น สหภาพยุโรปอาจใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเป็นเครื่องมือกดดันไทย
อับดุลฮาคีม ไอดริส กล่าวว่า การส่งกลับจีนเป็นส่วนหนึ่งของการระดมลงโทษชาวอุยกูร์โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชาวอุยกูร์ชุดก่อนจำนวน 109 คนที่รัฐบาลไทยเคยส่งกลับไปในปี 2015 จนถึงบัดนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม การส่งกลับไปจีนจึงเป็นการทำผิดหลักการที่ไม่ให้ส่งคนกลับไปสู่อันตราย
ในประเด็นนี้ แอเดรียน เซนส์ ได้แสดงหลักฐานแฟ้มตำรวจซินเจียง (www.xinjiangpolicefiles.com) ที่ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งใน 26 ประเทศเสี่ยง เช่นเดียวกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย รัสเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชาวอุยกูร์ที่เดินทางหรือติดต่อกับไทยจะต้องถูกจับนำตัวเข้าค่ายปรับทัศนคติ เช่น ชายคนหนึ่งเดินทางมาเที่ยวไทยในเดือน มิ.ย.2016 ถูกจับกุมตัวในปี 2018 อ้างว่าเดินทางมาประเทศอ่อนไหว เดือน พ.ค.2017 ชายอีกคนหนึ่งถูกจับกุมหลังรับโทรศัพท์จากประเทศไทย
เซนส์กล่าวด้วยว่า ชาวอุยกูร์ที่เดินทางไปประเทศอ่อนไหวถูกมองว่า เป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ พวกเขาเชื่อพวกเขารับอิทธิพลจากกลุ่มสุดโต่งทางศาสนาได้ง่าย แล้วจะนำแนวคิดสุดโต่งกลับซินเจียง ซึ่งรัฐบาลมองภัยคุกคามนี้มาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการไปเยี่ยมชาวอุยกูร์ของคณะตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดยนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุณัยแนะว่า การเดินทางไปเยี่ยมชาวอุยกูร์รอบต่อไปที่มีข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศจะเป็นตัวแทน ไทยควรเป็นฝ่ายเลือกจุดที่จะไปไม่ใช่ให้ฝ่ายจีนเป็นคนเลือก และเยี่ยมชาวอุยกูร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควรไปเยี่ยมเรื่อยๆ หรือให้สถานเอกอัครราชทูตไทยในจีนไปเยี่ยมทุกสองสัปดาห์
ชลิดาเสนอว่า การเยี่ยมเยือนครั้งต่อไปควรเปิดให้องค์กรภาคประชาสังคมและผู้ที่สนใจได้ไปเยี่ยมด้วยเพื่อความโปร่งใส และควรไปเยี่ยมชาวอุยกูร์ 109 คนที่ถูกส่งตัวไปเมื่อสิบปีก่อนด้วย ตนอยากให้สภาอุยกูร์โลกฟ้องร้องรัฐบาลจีนและไทยที่ก่ออาชญากรรมต่อชาวอุยกูร์
“การฟ้องร้องรัฐบาลไทยเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก” ชลิดากล่าวและว่า ปัจจุบันยังเหลือชาวอุยกูร์อีก 5 คนในเรือนจำคลองเปรม เป็นผู้ต้องขังจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการแหกห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.มุกดาหาร สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ไม่เคยได้รับอนุญาตให้พบชาวอุยกูร์ทั้งหมด ซึ่ง 5 คนที่เหลือก็น่าจะเผชิญชะตาชีวิตแบบเดียวกันคือรับโทษจำคุกแล้วถูกส่งกลับจีน ไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการขอลี้ภัย โดยสุณัยกล่าวเสริมว่า พวกเขาอาจถูกส่งกลับเร็วขึ้นหากได้รับการลดโทษ
อย่างไรก็ตาม สำหรับห้าคนที่เหลือชลิดาแนะว่า หากชาติตะวันตกจะช่วยเหลือก็ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้ งานเสวนาของเอฟซีซีทีจัดขึ้นเมื่อคืนวันพุธ (26 มี.ค.) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยสนับสนุนการเข้าร่วมงานของสื่อมวลชนไทย