ภาษีทรัมป์สะเทือนค่ายรถเอเชีย ‘โตโยต้า’ โดนหนักที่สุด

ภาษีทรัมป์สะเทือนค่ายรถเอเชีย ‘โตโยต้า’ โดนหนักที่สุด

ภาษีจากสหรัฐที่จะเรียกเก็บ 25% ต่อรถนำเข้า กระทบหนักต่อผู้ผลิตรถจากเอเชีย โดยเฉพาะ ‘โตโยต้า’ และ ‘นิสสัน’ ที่มียอดขายสูงในตลาดอเมริกาเหนือ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐต่อรถยนต์ที่นำเข้า “สร้างแรงสั่นสะเทือน” ให้กับผู้ผลิตรถในเอเชีย โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า จะเรียกเก็บภาษี 25% สำหรับรถยนต์ที่ “ไม่ได้ผลิตในสหรัฐ” จนส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

หุ้นของรถโตโยต้าร่วงลง 9.4% ในช่วงสามวันหลังจากการประกาศ ขณะที่หุ้นรถนิสสันลดลง 9.3% ส่วนรถฮุนไดของเกาหลีใต้ สูญเสียมูลค่าไป 11.2%

ตามความเห็นของวิเวก เวียดยา หัวหน้าฝ่ายลูกค้าด้านการขนส่งของบริษัทวิจัย Frost & Sullivan ระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบากเป็นพิเศษ โดย “โตโยต้า” มีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากมียอดขายจำนวนมากในสหรัฐ

ตามข้อมูลจาก Carpro ตลาดรถยนต์ในสหรัฐ ผู้ผลิตรถจากเอเชียครอง 6 ใน 8 อันดับแรกของผู้ผลิตรถที่มียอดขายสูงสุดในสหรัฐประจำปี 2024 ซึ่งโตโยต้าครองอันดับหนึ่งด้วยยอดขาย 1.98 ล้านคันตลอดทั้งปี แซงหน้าผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศอย่างฟอร์ด และเชฟโรเลต

ขณะที่ฮอนด้าและนิสสันของญี่ปุ่น อยู่ในอันดับที่ 4 และ 5 ตามลำดับ ส่วนแบรนด์เกาหลีใต้อย่างฮุนไดและเกีย ครองอันดับถัดมา ซูบารุอยู่ในอันดับที่แปด

รายงานทางการเงินล่าสุดของบริษัทเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า รายได้ส่วนใหญ่ของพวกเขามาจาก “อเมริกาเหนือ” ซึ่งหมายความว่า ผลกระทบจากภาษีศุลกากรอาจเป็นเรื่องยากที่จะชดเชยได้

ทั้งนี้ สหรัฐนำเข้าสินค้ายานยนต์มูลค่ารวม 474,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 โดยในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลมูลค่า 220,000 ล้านดอลลาร์ 

รายงานของ S&P Global Mobility เมื่อวันที่ 27 มีนาคมเปิดเผยว่า เกาหลีใต้เป็นผู้ส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐมากเป็นอันดับ 2 ในปี 2024 โดยส่งออกรถยนต์ 1.4 ล้านคัน รองจากเม็กซิโกที่ส่งออก 2.5 ล้านคัน ขณะที่ญี่ปุ่นส่งออกรถยนต์ 1.3 ล้านคัน

“โดยสรุป สหรัฐเป็นตลาดที่ไม่มีทางทดแทนได้สำหรับผู้ผลิตรถยนต์จากเอเชีย ผู้นำตลาดจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการประกาศ [ภาษีศุลกากร] นี้” วิเวกกล่าว

แม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร แต่การย้ายโรงงาน ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน และจะต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ 

ด้านริชาร์ด คาเย ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มบริหารสินทรัพย์ Comgest ให้ความเห็นว่า แม้ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างโตโยต้าและนิสสัน จะมีโรงงานขนาดใหญ่ในสหรัฐอยู่แล้ว แต่พวกเขาก็ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้มากพอ ที่จะชดเชยผลกระทบจากภาษีศุลกากรได้

"แนวคิดที่ว่าพวกเขาสามารถตัดซัพพลายจากเม็กซิโก และในบางระดับจากแคนาดา ออกจากห่วงโซ่อุปทานของตนได้นั้นเป็นเรื่องเหลวไหล พวกเขาจะต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นในสหรัฐ เนื่องจากภาษีศุลกากร" ชาร์ด คาเยกล่าว

สำหรับซูซูกิ มีกำไรสะสมตั้งแต่ต้นปีกว่า 1% ณ วันจันทร์ เมื่อเทียบกับการขาดทุน 16.45% ของโตโยต้า และการร่วงลงเกือบ 21% ของนิสสัน ขณะที่ฮุนไดและเกียมีการขาดทุนเกือบ 7% และ 8% ตามลำดับ

“เนื่องจากซูซูกิไม่ได้จำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐ ผลกระทบจากภาษีศุลกากรที่มีต่อบริษัทจึงเป็นศูนย์” ริชาร์ดกล่าว “ซูซูกิเป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาดอินเดีย และถือเป็นบริษัทที่โดดเด่นมากในอุตสาหกรรมนี้"


อ้างอิง: cnbc