ส่องรันเวย์แบรนด์ดัง A/W 2025 ธีมใหญ่ถ่ายทอดความฝันและความเหงา

ส่องรันเวย์แบรนด์ดัง Autumn/Winter 2025 ธีมใหญ่ปีนี้ถ่ายทอด 'ความฝันและความเหงา' สร้างประสบการณ์ที่คนอยากสัมผัสและโหยหาอดีต สร้างแรงจดจำที่อาจคุ้มค่ากว่าการโฆษณา
ในโลกของแฟชั่นทุกวันนี้ การโชว์เสื้อผ้าไม่ใช่แค่เรื่องของชุดสวย ๆ อีกต่อไป เพราะ “เซ็ต” หรือฉากรันเวย์กลายเป็นส่วนสำคัญในการเล่าเรื่อง สร้างอารมณ์ และดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะในช่วง Autumn/Winter 2025ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และการตีความที่ลึกซึ้งกว่าความสวยงามผิวเผิน
เซ็ตของแต่ละแบรนด์ไม่เพียงแต่สวยตระการตา แต่ยังสะท้อนความรู้สึกของยุคสมัย ความฝัน ความโหยหา และบางครั้งก็แอบกระซิบถึงสิ่งที่คนทั้งโลกกำลังรู้สึกโดยไม่ต้องเอ่ยคำใด
ธีมใหญ่จากหลายโชว์ในซีซันนี้คือ “การหลบหนี” และ “การเดินทาง” ไม่ว่าจะด้วยความคิดถึงอดีต การแสวงหาความอบอุ่นจากธรรมชาติ หรือการพาตัวเองออกจากความจริงอันวุ่นวาย หลายประเทศกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และในเวลาแบบนี้แฟชั่นจึงกลายเป็นประสบการณ์ที่คนอยากสัมผัส และในบางกรณีการลงทุนในรันเวย์อาจให้ผลลัพธ์ทางการตลาดคุ้มค่ากว่าการโฆษณาเสียอีก
เริ่มจาก Burberry ที่ Daniel Lee เนรมิตโถงใหญ่ของ Tate Britain ให้กลายเป็นฉากชนบทอังกฤษสุดคลาสสิก ด้วยม่านผ้าพิมพ์ลายทิวทัศน์แบบภาพวาดและเฟรสโก้ในคฤหาสน์ผู้ดีอังกฤษ พร้อมเสียงเพลงจาก Sinéad O’Connor ที่โอบล้อมผู้ชมให้จมดิ่งไปในบรรยากาศโรแมนติกและร่วมสมัย
โชว์นี้ไม่เพียงตอกย้ำอัตลักษณ์ของแบรนด์ แต่ยังสร้างภาพจำใหม่ให้กับ Burberry และปลุกความสนใจในแบรนด์ที่เคยถูกมองว่าอนุรักษ์นิยมเกินไป ให้กลับมาเป็นที่พูดถึงในหมู่วัยรุ่นอีกครั้ง นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าโชว์นี้มีผลจริงต่อยอดขายของแบรนด์ในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นสัญญาณบวกในช่วงเวลาท้าทายทางเศรษฐกิจ
ฝั่ง Ferragamo ภายใต้ Maximilian Davis เลือกใช้รันเวย์ที่ทั้งเรียบง่ายและทรงพลัง ด้วยการปูพื้นโชว์ด้วยกลีบกุหลาบแดงนับแสน กลายเป็นฉากชวนฝันที่อ้างอิงจากโลกของการเต้นร่วมสมัยแบบเยอรมัน โดยเฉพาะผลงานของนักออกแบบท่าเต้นชื่อดัง Pina Bausch ซึ่งใช้ดอกไม้เป็นองค์ประกอบหลักในหลายชิ้น
งาน Davis หยิบแรงบันดาลใจนี้มาแปลเป็น “ภูมิทัศน์” บนรันเวย์ที่ถ่ายทอดทั้งความอ่อนไหวและพลังอย่างลึกซึ้ง กลีบดอกไม้ไม่เพียงประดับพื้น แต่ยังแทรกอยู่ในลายปักและดีเทลเสื้อผ้า รันเวย์ของเขาจึงไม่หวือหวาแต่เต็มไปด้วยความหมาย เป็นการใช้พื้นที่เพื่อเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงที่สร้างกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม
Louis Vuittonโดย Nicolas Ghesquière ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง โดยคราวนี้เลือกใช้ L’Étoile du Nord ซึ่งเดิมเคยเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทเดินรถไฟเก่าแก่ของฝรั่งเศส มาสร้างฉากสุดลึกซึ้งร่วมกับศิลปิน Es Devlin ด้วยการจำลองบรรยากาศชานชาลารถไฟที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ตั้งแต่ความตื่นเต้นของการออกเดินทาง ความเหงาของการรอคอย ไปจนถึงความอุ่นใจของการกลับบ้าน
ฉากเต็มไปด้วยเก้าอี้โลหะหลากสีในสไตล์สถานีรถไฟจริง พร้อมเงานักเดินทางที่เคลื่อนไหวไปมาบนผนังสูงแบบโรงแรมยุคเก่า เป็นการตีความ “การเดินทาง” ที่ทั้งโรแมนติกและสะเทือนอารมณ์ ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับรากของแบรนด์ที่เคยเป็นผู้ผลิตหีบเดินทาง
ส่วน Chanel แม้จะยังไม่มี Creative Director คนใหม่อย่างเป็นทางการ ทีม Creative Studio ก็ยังคงรักษาความสง่างามของแบรนด์ไว้ได้อย่างน่าประทับใจ
รันเวย์ถูกตกแต่งด้วยริบบิ้นสีดำขนาดยักษ์ที่พาดผ่าน Grand Palais อย่างเรียบง่ายแต่ทรงพลัง กลายเป็นสัญลักษณ์ของความคลาสสิกที่ไม่มีวันตาย และยังแฝงองค์ประกอบซิกเนเจอร์ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโบว์ ไข่มุกหรือดอกไม้ ผสมกับการเล่นสัดส่วนที่พาให้นึกถึงเทพนิยายร่วมสมัย Chanel เลือกจะไม่แข่งกับความหวือหวา แต่ใช้ความนิ่งสื่อสารความหรูหราได้อย่างมีชั้นเชิง
แม้จะไม่มีตัวเลขการลงทุนที่เปิดเผยตรง ๆ แต่โชว์ระดับนี้ของแต่ละแบรนด์มีงบไม่ต่ำกว่า 2-5 ล้านยูโรต่อโชว์ ยังไม่รวมค่าเสื้อผ้า ทีมโปรดักชัน การเดินทาง และแคมเปญประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม การสร้างรันเวย์ที่ทำให้คนรู้สึก “อยากมีส่วนร่วม” กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้บริโภค เพราะในโลกที่ข้อมูลและแบรนด์นับพันวิ่งเข้าสู่สายตาเราทุกวัน ความประทับใจแรกจากโชว์ดี ๆ เพียงครั้งเดียว อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความภักดีต่อแบรนด์ที่ยั่งยืนกว่าโฆษณาเสียอีก