ข่าวลือ 7 นาที ทำหุ้นสหรัฐพุ่ง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ก่อนหายวับกับตา

ข่าวลือ 7 นาที ทำหุ้นสหรัฐพุ่ง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ก่อนหายวับกับตา

ข่าวลือทรัมป์จะผ่อนผันภาษี 90 วัน ลือสะพัดในตลาดหุ้นสหรัฐแค่ 7 นาที แต่ทำหุ้นขึ้นอย่างบ้าคลั่ง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ก่อนฝันสลายเมื่อเป็นแค่ข่าวลือทำนักลงทุนเทขายต่อ

ข่าวลือว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะผ่อนปรนการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) ให้ทั่วโลกเป็นเวลา 90 วัน ถูกลือสะพัดไปทั่วตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อวันจันทร์ที่ 7 เม.ย.68 ก่อนที่ทำเนียบขาวจะรีบออกมาปฏิเสธอย่างรวดเร็วว่าเป็นข่าวปลอม ทำให้ข่าวลือนี้เกิดขึ้น และจบลงแค่ช่วงสั้นๆ ประมาณ "7 นาทีเท่านั้น" 

แต่ 7 นาทีที่ว่านี้กลับมีราคาแพงระยับถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 85 ล้านล้านบาท)  หรือเกือบ 5 เท่าของมูลค่าจีดีพีประเทศไทย เพราะเป็น 7 นาทีที่ทำให้นักลงทุนแห่กลับมาช้อนซื้อหุ้นกันอย่างบ้าคลั่งด้วยความหวังว่าทรัมป์จะเลื่อนการเก็บภาษีจริงๆ แต่เมื่อข่าวลือจบลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนตระหนักได้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง ทำให้แรงกลับเข้าซื้ออย่างบ้าคลั่งหยุดชะงักลงทันที 

แม้ว่านักลงทุนจะไม่ได้แห่เทขายระดับปิดลบวันละมากกว่า 1,500 จุดเหมือนเมื่อวันพฤหัสฯ และศุกร์ที่ผ่านมา แต่ก็ทำให้หุ้นสหรัฐขึ้นๆ ลงๆ ตลอดทั้งวันที่เหลือ แรงซื้อกลับหยุดชะงักลง จนดาวโจนส์ปิดตลาดลบไปกว่า 300 จุด ปิดตลาดในแดนลบต่อเนื่อง 3 วันทำการ

บลูมเบิร์ก ระบุว่า เหตุการณ์นี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ข่าวดีเพียงแค่ 7 นาทีก็มีความหมายและมีมูลค่าถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ในตลาดหุ้นสหรัฐ และการที่ตลาดขาดแรงหนุนเชิงบวกเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว หลังจากที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 10% สองวันทำการเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว

เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะเหตุการณ์นี้เผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้นั้นมีลักษณะเป็น "สองทางอย่างสุดขั้ว" ขณะที่ทรัมป์เดินหน้าทำสงครามการค้าในระดับโลก หากเขายังคงเก็บภาษีนำเข้าไว้ตามที่กล่าวไว้ เศรษฐกิจก็อาจหดตัวลงอย่างรวดเร็ว และฉุดให้ดัชนี S&P 500 เข้าสู่ภาวะตลาดหมี แต่หากเขายกเลิกภาษี เศรษฐกิจก็อาจขยายตัวต่อไป และตลาดหุ้นก็จะสามารถกลับมาทำสถิติสูงสุดใหม่นิวไฮได้อีกครั้ง

รอส เกอร์เบอร์ ซีอีโอของบริษัทจัดการการลงทุน เกอร์เบอร์ คาวาซากิ เวลธ์ แอนด์ อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์ กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากทรัมป์ตื่นขึ้นมาในวันพรุ่งนี้แล้วพูดว่า 'รู้อะไรไหม ผมจะไม่ทำแบบนั้น' ตลาดก็จะกลับไปสู่จุดสูงสุดนิวไฮใหม่อีกครั้ง”

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์ส่งสารที่ "คลุมเครือ" คนในคณะรัฐมนตรีบางคนเปิดเผยว่าการเจรจายังคงดำเนินต่อไปกับประมาณ 50 ประเทศ หรืออาจไปถึง 70 ประเทศ แต่ "ปีเตอร์ นาวาร์โร" ที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบขาว และเป็นหนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญด้านเศรษฐกิจของทรัมป์กลับบอกว่า ไม่มีอะไรที่สามารถต่อรองได้

แม้แต่ตัวประธานาธิบดีทรัมป์เองก็ทำให้เรื่องคลุมเครือด้วย โดยเขาได้กล่าวเมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ตามเวลาในสหรัฐว่า “อาจมีการเรียกเก็บภาษีอย่างถาวร และอาจมีการเจรจากันได้ เนื่องจากมีสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการมากกว่าภาษี” 

เสียงที่วุ่นวายกลับไปกลับมาเช่นนี้ทำให้บรรดานักค้าสับสน และไปไม่ถูก อเล็ก ยัง หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนบริษัท แมปซิกนัลส์ กล่าวว่าโดยปกติแล้ว จะมีคนจ้างให้เขามองหาโอกาสทำเงินจากเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ แต่สำหรับครั้งนี้กลับต่างออกไปเล็กน้อย เพราะสาเหตุของปัญหาไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆ มา  

“หากนโยบายประเภทนี้มีผลบังคับใช้จริง และคงอยู่ต่อเนื่องไปหลายปี การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของตลาดหุ้นสหรัฐก็จะเปลี่ยนไปด้วย” ยังกล่าว

สิ่งนี้ทำให้การปรับพอร์ตโฟลิโอทำได้ยาก เพราะดูเหมือนว่าการติดอยู่ในภาวะเทขายเพราะความตื่นตระหนกนั้น มีความเป็นไปได้พอๆ กับการพลาดโมเมนตัมขาขึ้นหากมีข่าวดีเรื่องภาษีศุลกากร และผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ "นักลงทุนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม"

เบรนท์ ชุตเต ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของบริษัท นอร์ธเวสเทิร์น มูชวล เวลธ์ แมเนจเมนท์ กล่าวว่าในอดีตที่ผ่านมา การซื้อหุ้นในช่วงขาลงจะได้ผลดี แต่แนวทางนี้อาจใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทรัมป์เท่านั้น การตัดสินใจของปธน.ทรัมป์เข้ามาแทนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในฐานะปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการซื้อขาย เขาไม่ได้คาดหวังว่าทรัมป์จะชี้แจงความชัดเจนอะไรได้มากนักในเร็วๆ นี้ และแน่นอนว่าไม่ใช่รูปแบบที่เป็นเหตุเป็นผลเหมือนกับเฟดด้วย

"ช่วงเวลาแห่งความพึงพอใจง่ายๆ ในทันทีอาจถูกยืดออกไป" เขากล่าว "เหตุผลก็คือ เฟดที่เคยเป็นเสาหลักค้ำจุนตลาด แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะรับบทนั้นอีกต่อไปแล้ว ผมไม่คิดว่าจะมีปัจจัย Fed put ซึ่งผู้คนเคยชินกับมัน และตอนนี้ก็ไม่มี 'Trump put' ด้วยเช่นกัน"

อย่างไรก็ตาม บทบาทของทรัมป์ในฐานะผู้กุมชะตาตลาดหุ้นแต่เพียงผู้เดียวในขณะนี้ก็ทำให้นักค้าบางรายมีความหวังว่า ข่าวดีที่อาจมีขึ้น จะช่วยลดความผันผวนได้

“นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ แต่เป็นความผันผวนที่มนุษย์สร้างขึ้น...ดังนั้นนักลงทุนหรืออย่างน้อยก็บรรดาผู้เชี่ยวชาญจึงรู้สึกพอจะมีกำลังใจขึ้นเล็กน้อย บางทีอาจถึงเวลาที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ และไม่ต้องตื่นตระหนก” ร็อบ คอนโซ ซีอีโอของบริษัทเวลธ์ อัลลิอันซ์ กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์