จับตาเอเชียเร่งติดต่อเจรจาสหรัฐบรรเทาภาษีทรัมป์

ยิ่งใกล้วันที่ภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐจะมีผลบังคับใช้ ประเทศต่างๆ ในเอเชียต่างเร่งมือหาทางติดต่อเจรจา และทำทุกอย่างเพื่อลดผลกระทบ
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงาน นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ของเวียดนามกล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อกลางดึกวันจันทร์ (7 เม.ย.68) ว่า เวียดนามกำลังขอเจรจากับฝ่ายสหรัฐเพื่อการค้าที่สมดุล และยั่งยืนสอดคล้องกับผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และขอให้สหรัฐชะลอการเก็บภาษี 46% ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนออกไป 45 วัน เพื่อให้มีเวลาสำหรับการเจรจา พร้อมกันนั้นได้ขอให้สหรัฐส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์ที่สายการบินเวียดนามสั่งซื้อไปเร็วขึ้น
เวียดนามเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค ผลิตสินค้าให้กับบริษัทตะวันตกมากมาย ปีก่อนเวียดนามได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ ตลาดส่งออกใหญ่สุดของเวียดนาม กว่า 1.23 แสนล้านดอลลาร์
นับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศภาษีเมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ดัชนีหุ้นเวียดนามร่วงลงแล้วเกือบ 14% ในการซื้อขายช่วงเช้าวันอังคาร (8 เม.ย.68) ดัชนีลดลง 6.26% มาอยู่ที่ 1,135 จุด
ตัวเลขจากสำนักงานสถิติเวียดนามเมื่อวันอาทิตย์ (6 เม.ย.68) ชี้ด้วยว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกเติบโตในอัตราชะลอตัว ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 6.93% เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่งของปี 2024 ลดลงเล็กน้อยจาก 7.55% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024
แต่แม้ภาษีสหรัฐจะสร้างความท้าทายจิ๋งห์ กล่าวว่า เป้าหมายจีดีพีเวียดนามปีนี้ยังคงอยู่ที่ “อย่างน้อย 8%” ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงการคลัง กำหนดให้ในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ เศรษฐกิจเวียดนามจะต้องโตระหว่าง 8.2%-8.4%
แถลงการณ์นายกฯ ระบุด้วยว่า เวียดนามจะทบทวนในหลายประเด็น อาทิ นโยบายการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี และการรับรองต้นกำเนิดสินค้าที่ถูกต้อง
นับตั้งแต่ยกเลิกการห้ามซื้อ ห้ามขายอาวุธในปี 2016 การส่งออกอาวุธจากสหรัฐมายังเวียดนามส่วนใหญ่จำกัดให้เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง และเครื่องบินฝึกบิน แหล่งข่าวหลายรายกล่าวในปีที่ผ่านมาว่า กำลังมีการเจรจาขายเครื่องบินขนส่งทางทหารซี-130 เฮอร์คิวลิสของบริษัทล็อกฮีดมาร์ตินให้รัฐบาลฮานอย
- สิงคโปร์มองไม่เปิดทางเจรจา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ กล่าวเมื่อวันอังคาร (8 เม.ย.68) ว่า ภาษีทั่วไปที่สหรัฐเก็บจากสิงคโปร์ 10% ดูเหมือนไม่เปิดให้เจรจา พร้อมเตือนว่าเศรษฐกิจภายในประเทศสิงคโปร์อาจเกิดการปั่นป่วนจากข้อพิพาทการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
นายกฯ หว่องแถลงต่อรัฐสภาว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ซึ่งพึ่งพาการค้าเป็นหลักได้รับผลกระทบมากแน่นอน เป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะปรับลดคาดการณ์จีดีพีลง แต่ยังไม่แน่ชัดว่าปีนี้เศรษฐกิจสิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ ปัจจุบันกระทรวงการค้าคาดการณ์จีดีพีปี 2025 ไว้ที่ 1%-3%
“ดูเหมือนว่าอัตราทั่วไป 10% ไม่ได้เปิดให้ต่อรอง เหมือนเป็นอัตราคงที่ต่ำสุด ไม่ได้คำนึงถึงดุลการค้าของแต่ละประเทศหรือข้อตกลงการค้าที่มีอยู่” หว่อง กล่าว
สำหรับสิงคโปร์แม้ไม่ได้โดนภาษีหนักเหมือนหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามที่ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 แต่แม้โดนเรียกในอัตราทั่วไป 10% ก็ถือว่ามีปัญหาเนื่องจากสิงคโปร์มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐ
“เราผิดหวังอย่างยิ่งกับความเคลื่อนไหวของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากมิตรภาพอันลึกซึ้ง และยาวนานระหว่างสองประเทศ เพื่อนไม่ทำกับเพื่อนแบบนี้” หว่องกล่าวและว่า สิงคโปร์จะไม่เก็บภาษีตอบโต้ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามการค้าโลกเต็มรูปแบบเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะใกล้จะอ่อนแอลง และความต้องการสินค้า และบริการของสิงคโปร์ก็ลดลง และหากบริษัทต่างๆ ย้ายจากสิงคโปร์ไปยังสหรัฐ ย่อมทำให้เกิดการเลิกจ้าง และตกงาน
“รัฐบาลจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อฝ่าข้ามความยุ่งยากนี้ และสร้างหลักประกันว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” นายกฯ สิงคโปร์ กล่าว
ตามข้อมูลของผู้แทนการค้าสหรัฐ ปี 2024 สหรัฐได้เปรียบดุลการค้าสิงคโปร์ 2.8 พันล้านดอลลาร์ แต่สัปดาห์ก่อน กัน คิมยง รัฐมนตรีการค้าสิงคโปร์ กล่าวว่า ในปี 2024 สหรัฐได้เปรียบดุลการค้ากับสิงคโปร์มากถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์
- ไต้หวันพร้อมคุยกับสหรัฐทุกเวลา
นายหลิน เจียลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน กล่าวในวันอังคาร (8 เม.ย.68) ว่า
ไต้หวันพร้อมคุยกับสหรัฐได้ทุกเวลาเรื่องการลงทุนในสหรัฐ การซื้อสินค้าจากสหรัฐ และอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และอื่นๆ
“ทันทีที่มีการยืนยันเวลา และวิธีการเจรจา เราสามารถหารือกับสหรัฐได้ตลอดเวลา” รมว.ต่างประเทศกล่าวสอดคล้องกับเควิน แฮสเสตต์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว กล่าวว่า ไต้หวันได้ติดต่อขอหารือเรื่องภาษีมาแล้ว
ด้านนายกรัฐมนตรีโช จุงไท่ แถลงในสภาว่า จริงแล้วไต้หวันเป็นคู่ค้ารายหนึ่งของสหรัฐที่พยายามเจรจา รัฐบาลจะเลือกเวลาที่เหมาะสมนำเสนอแผนการของประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อต่อสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม โชไม่ได้เผยรายละเอียดการเจรจากับสหรัฐ ผู้สนับสนุนไต้หวันรายใหญ่สุดแม้ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นทางการกันก็ตาม
“เรามีแผนการครอบคลุม มีบุคลากรเหมาะสม สามารถดำเนินการเจรจาที่เป็นไปในเชิงบวกได้” นายกฯ ไต้หวันย้ำ
ไต้หวันกล่าวมาตลอดว่า ที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมากเพราะความต้องการเทคโนโลยีพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทไต้หวันหลายแห่งเป็นซัพพลายเออร์หลักของบริษัทสหรัฐ อาทิ แอปเปิ้ล, อินวิเดีย
ในวันอังคาร หอการค้าอเมริกันในไต้หวันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งเรื่องภาษี พร้อมเรียกร้องรัฐบาลวอชิงตันยกเว้นไต้หวันไม่ให้โดนปฏิบัติการทางการค้าที่อาจ “ทำลายเสถียรภาพ และความไว้เนื้อเชื่อใจที่เป็นรากฐานความสัมพันธ์สหรัฐ-ไต้หวัน”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์