ดอลลาร์ทำนิวโลว์ ดิ่ง 7% ตั้งแต่ยุคทรัมป์ ต่างชาติลดถือครอง ซบ ‘เยน-ฟรังก์-ทองคำ‘

ดอลลาร์ดิ่งทำนิวโลว์! ร่วงหนักสุดในรอบ 3 ปี และอ่อนค่ากว่า 7% ตั้งแต่ทรัมป์รับตำแหน่ง ส่งสัญญาณต่างชาติลดถือครองดอลลาร์ นักลงทุนหนีซบ ‘เยนญี่ปุ่น-ฟรังก์สวิส’ เทเงินทุนไหลเข้าพันธบัตรตลาดอื่นและทองคำ
KEY
POINTS
- US Dollar index ลดลง 1.83% สู่ระดับ 101.02 จุด แรงสุดในรอบเกือบ 4 ปี และอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 7% ตั้งแต่ยุคทรัมป์
- บ่งชี้นักลงทุนกำลังตอบโต้ต่อนโยบายการค้าของประธานาธิบดี 'ทรัมป์' ด้วยการลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ของสหรัฐ
- นักลงทุนจำนวนมากได้พากันเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ถือว่ามีความปลอดภั ทั้งเงินเยนญี่ปุ่น ฟรังก์สวิส พันธบัตรรัฐบาลและทองคำ
ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “ค่าเงินดอลลาร์”(US Dollar index) เป็นมาตรวัดมูลค่าของเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญอื่นๆทั่วโลก “อ่อนค่า” ลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ดอลลาร์มีมูลค่าลดลงมากที่สุดในรอบวันนับตั้งแต่มากที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2022 โดยระหว่างการซื้อขาย ดัชนีได้ร่วงลงไปถึง 1.83% สู่ระดับ 101.02 จุด ถือเป็นระดับปิดตลาดที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.
ดอลลาร์อ่อน สัญญาณต่างชาติลดถือครองสินทรัพย์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงท่ามกลางนโยบายการค้าที่แข็งกร้าวของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด เนื่องจากในตอนแรก ตลาดคาดการณ์ว่ามาตรการเก็บภาษีนำเข้าของทรัมป์จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
ในทางตรงกันข้าม นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง เงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 7% และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 2% ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีได้เปิดเผยรายละเอียดนโยบายการค้าฉบับเต็มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สวนทางกับความคาดหมายของนักวิเคราะห์
เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงนั้น เกิดขึ้นพร้อมกับการที่นักลงทุนต่างชาติเทขายทั้งหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ ซึ่งปรากฏการณ์นี้อาจบ่งชี้ได้ว่านักลงทุนกลุ่มนี้กำลังตอบโต้ต่อนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ด้วยการลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ของสหรัฐและการเทขายสินทรัพย์เหล่านี้เองก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง
หันซบเยนญี่ปุ่น-ฟรังก์สวิส
สถานการณ์นี้ทำให้นักลงทุนจำนวนมากได้พากันเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ถือว่ามีความปลอดภัย โดยบางส่วนได้หันไปสนใจ “เงินเยน” ของญี่ปุ่น พันธบัตร และสินทรัพย์อื่นๆ
อิบราฮิม ราห์บารี หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยของ Absolute Strategy Research กล่าวว่าด้วยเหตุผลหลายประการ เงินเยนของญี่ปุ่นจึงเป็นทางเลือกที่ดี และอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในการหลีกเลี่ยงความตึงเครียดทางการค้าและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ
ข้อมูลจาก LSEG เผยว่า เงินเยนแข็งค่าขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน
นอกจากนี้ ราห์บารียังกล่าวเสริมว่า ฟรังก์สวิสเป็นอีกหนึ่ง "ตัวเลือกที่ชัดเจน" สำหรับการป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน โดยฟรังก์สวิสก็แข็งค่าขึ้นมากกว่า 3% สู่ระดับ 0.846 เทียบกับดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 6 เดือน
การเคลื่อนไหวของเงินเยนและฟรังก์สวิสที่แข็งค่าขึ้นนี้เกิดขึ้นในขณะที่สกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่กลับมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
พันธบัตรรัฐบาล-ทองคำ
นอกจากเงินสดแล้ว นักลงทุนยังแห่กันเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ลดลงถึง 6% นับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน สู่ระดับต่ำสุดที่ 3.873% เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 1.05% ในวันเดียวกัน ซึ่งลดลงถึง 28.52% จากระดับปิดตลาดเมื่อวันที่ 2 เมษายน และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2024
โฮเซ่ ตอร์เรส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Interactive Brokers กล่าวว่า ตลาดได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการที่นักลงทุนพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยผู้เล่นในตลาดได้เทขายหุ้นเพื่อหันไปถือพันธบัตรรัฐบาล ทองคำแท่ง สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดอลลาร์ น้ำมันดิบ ออปชันซื้อที่มีความผันผวน อนุพันธ์พุตดัชนีหุ้น และสัญญาคาดการณ์ต่างๆ
ขณะเดียวกัน ราคาทองคำพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทันทีหลังจากการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากร และทำนิวไฮใหม่อีกครั้งในวันนี้ที่ระดับ 3,216 ดอลลาร์ต่อออนซ์