เป็นไปได้หรือไม่? ทรัมป์หวังทำข้อตกลงการค้า '90 ดีลใน 90 วัน'

รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการทำข้อตกลงการค้า 90 ดีลใน 90 วัน แต่ความท้าทายคือสหรัฐจะแก้ปัญหาสงครามการค้าของประธานาธิบดีได้เร็วแค่ไหน
KEY
POINTS
- รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการทำข้อตกลงการค้า 90 ดีลใน 90 วัน
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าหลายคนสงสัยว่ารัฐบาลจะจัดเจรจาพร้อมๆ กันหลายประเทศได้ผลแค่ไหน
- ปัญหาสำคัญคือตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่งยังไม่ได้ตั้ง และที่ปรึกษาตัวท็อปของทรัมป์ยังมีมุมมองต่างกัน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในวันจันทร์ (14 เม.ย.) มารอส เซฟโควิค ผู้แทนการค้าสหภาพยุโรป (EU) จะเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่การค้าต่างประเทศกลุ่มแรกๆ ที่บินมากรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาด่วนเรื่อง ภาษีทรัมป์ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย. อียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดรายหนึ่งของสหรัฐ มูลค่าการค้าปี 2024 สูงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์
แต่เมื่อเซฟโควิคมาถึงกลับกลายเป็นว่าสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าทีมเจรจาของทรัมป์กลับอยู่ที่กรุงบัวโนสไอเรสในภารกิจแสดงการสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา แทนที่จะอยู่ในกรุงวอชิงตัน ทั้งๆ ที่มูลค่าการค้ารวมระหว่างอาร์เจนตินากับสหรัฐอยู่ที่ปีละเกือบๆ 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น
การที่เบสเซนต์ไม่อยู่ที่วอชิงตันในวันจันทร์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าหลายคนสงสัยว่ารัฐบาลจะจัดเจรจาพร้อมๆ กันหลายประเทศได้ผลแค่ไหน แนวโน้มการบรรลุ 90 ดีลใน 90 วันจะทำได้หรือไม่
“การจะตัดสินใจได้ต้องเจรจากันจริงจังระดับหนึ่ง ไม่มีทางที่เราจะทำข้อตกลงอย่างครอบคลุมกับประเทศเหล่านี้ได้เลยในกรอบเวลาที่ว่า” เวนดี คัตเลอร์ อดีตหัวหน้าทีมเจรจา ผู้แทนการค้าสหรัฐ ขณะนี้เป็นประธานสถาบันนโยบายสังคมเอเชียกล่าวกับรอยเตอร์
ในประเด็นนี้ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาการค้าทำเนียบขาว กล่าวกับFox Business Network เมื่อวันศุกร์ (11 เม.ย.) ว่าเบสเซนต์,เจมิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) และนายโฮวาร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์ จะรับหน้าที่เจรจาให้ลุล่วง
“เราจะทำ 90 ดีลใน 90 วัน มันมีความเป็นไปได้ นายจะเป็นหัวหน้าทีมเจรจา ไม่มีอะไรสำเร็จถ้าเขาไม่ดูแลอย่างละเอียดถี่ถ้วน” นายนาวาร์โรกล่าวถึงประธานาธิบดีทรัมป์
ทรัมป์ เริ่มนับถอยหลัง 90 วันในสัปดาห์นี้หลังระงับภาษีสูงลิ่วกับหลายๆ ประเทศ ขณะที่ตลาดการเงินปั่นป่วนจนเกรงกันว่าเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อสูง ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆ เจ้าตัวเผยว่า ระงับภาษี 90 วัน เพื่อให้ประเทศต่างๆ มาทำข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐ
นอกจากนี้การฟื้นคืนความเชื่อมั่นของตลาดการเงินเป็นอีกหนึ่งวัตถุประสงค์สำคัญในช่วงเวลา 90 วัน สัปดาห์นี้นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรสหรัฐ ส่งผลดอกเบี้ยพุ่ง ดอลลาร์อ่อน ด้วยเกรงกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยและเงินเฟ้อกลับมาอีก ทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนพุ่งขึ้นสูงสุดทุบสถิติ
คัตเลอร์กล่าวว่า ความผันผวนนี้สร้างแรงกดดันให้ทีมทรัมป์ต้องทำข้อตกลงโดยเร็ว
"ภาระหน้าที่ตกอยู่กับพวกเขาในการแสดงให้เห็นว่าสามารถสรุปข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและคู่ค้ารายอื่นว่าที่นี่มีทางออก” คัตเลอร์กล่าว
ภารกิจใหญ่หลวง
คัตเลอร์กล่าวต่อไปว่า การบรรลุข้อตกลงการค้าที่ทั้งทรัมป์และตลาดเงินพึงพอใจเป็น “ภารกิจใหญ่หลวง”
ด้วยเหตุนี้ ทีมทรัมป์ อาจจะต้องให้ความสำคัญกับประเทศคู่ค้าหลักแล้วขยายเวลาระงับภาษี 90 วันให้กับประเทศอื่นๆ
ย้อนกลับไปสมัยทรัมป์ 1.0 แม้แต่ข้อตกการค้าฉบับเล็กสุดซึ่งก็คือการทบทวนข้อกำหนดภาคยานยนต์และเหล็ก ตามข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐ-เกาหลีใต้ก็ต้องใช้เวลาถึงแปดเดือน หรือข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา แบบครอบคลุมใช้เวลานานกว่าสองปี
แต่กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ย้ำ
“ประธานาธิบดีสามารถปิดดีลได้ เขาสามารถเจรจา และถ้าดีลนั้นดีเขาก็ตัดสินใจเลย ถ้าไม่ เขาก็เก็บภาษี”
อย่างไรก็ตาม การประสานการเจรจา 90 รายการเป็นแค่หนึ่งในอุปสรรคมากมายของรัฐบาล
แหล่งข่าวนักการทูตเผยว่า ตำแหน่งสำคัญในทีมหลายตำแหน่งยังไม่ได้ตั้ง และคนที่จะมาทำหน้าที่นี้ก็มีงานสำคัญอื่นๆ ให้ต้องทำอีกมาก เช่น เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังเมื่อวันศุกร์ (11 เม.ย.) ก็ต้องพบกับเจ้าหน้าที่ยูเครนเรื่องข้อตกลงแร่ธาตุสำคัญ
กรีเออร์เผยกับฟ็อกซ์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ในทีมของเขา 200 คน กำลัง “ทำงานแข่งกับเวลา” เพราะต้องส่งข้อตกลงกลับไปกลับมาให้คู่เจรจาต่างชาติพิจารณา
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจากกระทรวงการคลังเพียงตำแหน่งเดียวที่วุฒิสภาให้การรับรองแล้วคือไมเคิล ฟอลเคนเดอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ทรัมป์ไม่แม้แต่จะเสนอชื่อคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีดูแลงานต่างประเทศด้วยซ้ำ คนที่ทำอยู่ตอนนี้คือข้าราชการประจำ
ยูเอสทีอาร์ก็เช่นกันต้องพึ่งพาข้าราชการประจำ ตำแหน่ง รมช.หลายตำแหน่งที่ต้องให้ ส.ว.รับรองยังไม่ได้แต่งตั้ง
แหล่งข่าวนักการทูตรายที่ 2 เผยว่า อีกหนึ่งปัจจัยยุ่งยากคือจุดยืนที่ไม่แน่นอนในเรื่องการค้าของสหรัฐ ที่ปรึกษาด้านการค้าตัวท็อปของทรัมป์แต่ละคนต่างมีมุมมองของตนเอง
บางประเทศ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และอื่นๆ หารือการค้ากับรัฐบาลสหรัฐมาตั้งแต่ทรัมป์สาบานตนในเดือน ม.ค. ได้ผลเพียงเล็กน้อย
“ไม่มีเอกสารทางการลิสต์ว่าต้องหารืออะไรกันบ้าง มันเป็นกระบวนการที่ผมอยากเรียกว่า ‘การคุยกัน’ มากกว่า ไม่ใช่ ‘การเจรจาต่อรอง’” นักการทูตรายหนึ่งให้ความเห็น