ญี่ปุ่น ‘เมินทรัมป์’ กดดัน? โตโยต้า-นิสสัน ทุ่มลงทุนเพิ่มในจีน

แม้เผชิญแรงกดดันจากภาษีทรัมป์ ‘โตโยต้า-นิสสัน’ สวนทาง! ประกาศลงทุนในจีนเพิ่มอีก โดยโตโยต้าทุ่ม 66,000 ล้านบาท สร้างโรงงาน EV ในเซี่ยงไฮ้ ส่วนนิสสันประกาศจะลงทุนเพิ่มอีก 45,000 ล้านบาทในจีน
ท่ามกลางแรงกดดันจากภาษีทรัมป์ที่มุ่งหวังให้บรรดาค่ายรถย้ายฐานผลิตออกจากจีน แต่ล่าสุด “โตโยต้า” และ “นิสสัน” สองค่ายรถใหญ่ประกาศลงทุนเพิ่มในจีน นำโดย “โตโยต้า” (Toyota) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ได้ลงนามในข้อตกลงเมื่อวันอังคาร (22 เม.ย.68) เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของบริษัทในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวนี้ โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะลงทุนรวมทั้งสิ้น 14,600 ล้านหยวน หรือราว 66,000 ล้านบาทในโครงการยานยนต์พลังงานใหม่ในเขตจินซาน ซึ่งเน้นวิจัยและพัฒนาการผลิต และการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Lexus ในเครือโตโยต้า รวมถึงแบตเตอรี่อีวี
“เรายังตั้งตาที่จะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันของห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนต่อสายตาชาวโลก และร่วมกันผลักดันเทคโนโลยีของจีนให้ก้าวสู่ตลาดโลก” ทัตสึโร อูเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคจีน และประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ไชน่า) อินเวสต์เมนต์ จำกัด กล่าว
ขณะเดียวกัน ค่ายรถ “นิสสัน” ได้ให้คำมั่นว่า จะลงทุนเพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านหยวน หรือราว 45,000 ล้านบาทในจีน โดยระบุว่า ตลาดรถยนต์ที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้นของจีน ถือเป็นพื้นที่ ที่อุดมสมบูรณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีอีวี ซึ่งเป็นด้านที่บริษัทจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
“เมื่อจีนเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้ เราก็อยากอยู่ และอยากแข่งขันต่อไป” สตีเฟน หม่า หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของนิสสันในจีนกล่าว ระหว่างการแถลงข่าวในงานแสดงรถยนต์เซี่ยงไฮ้ โดยการลงทุนนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2026
ในงานแสดงรถยนต์ครั้งนี้ นิสสันได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ 2 รุ่น หนึ่งในนั้นคือ รถกระบะปลั๊กอินไฮบริดชื่อ Frontier Pro พร้อมประกาศแผนพัฒนาโมเดลรถใหม่ 10 รุ่นในจีน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่วางแผนไว้ 8 รุ่น ภายในช่วงกลางปี 2027
“เราสามารถเติบโต และแข่งขันได้อย่างประสบความสำเร็จที่นี่ จีนจึงกลายเป็นตลาดที่ดีมากสำหรับเราที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ หลายอย่าง” หม่า กล่าว
นอกจากค่ายรถจีนแล้ว ค่ายรถตะวันตกก็ยังไม่ย้ายออกจากจีน เช่น ค่ายโฟล์คสวาเกนที่ประกาศวางแผนที่จะเริ่มส่งออกรถยนต์จากจีน โดยมีเป้าหมายที่จะขายในตลาดเอเชียอื่นๆ อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง พร้อมเสริมว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยังพร้อมที่จะรับมือการแข่งขันในจีนด้วย
ที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ในจีน รวมถึงโฟล์คสวาเกน กำลังเผชิญกับปัญหาว่า จะใช้กำลังการผลิตที่เหลืออยู่ได้อย่างไร เนื่องจากความต้องการรถยนต์ในแต่ละปีได้หยุดชะงักอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านคันตั้งแต่ปี 2019
ในประเทศจีน ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งในประเทศจำนวนมาก โฟล์คสวาเกนวางแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ใหม่สำหรับทั้งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปขนาดเล็ก ที่ช่วยเพิ่มระยะทางการขับขี่เพิ่มเติม
“คุณไม่สามารถทำนายได้เลยว่า ส่วนแบ่งของแต่ละประเภทของอีวีจะเป็นอย่างไรในปี 2030 เราจำเป็นต้องปรับแพลตฟอร์มของเราเพื่อให้สามารถยืดหยุ่นได้” ราล์ฟ แบรนด์สแตทเตอร์ ประธานโฟล์คสวาเกนในจีนกล่าว พร้อมเสริมว่า ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในจีนประกอบด้วยความสามารถในเทคโนโลยีขับขี่ การจัดการต้นทุน และความยืดหยุ่นในระบบขับเคลื่อน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์